Thursday, 3 July 2025
ทรัมป์

จีนหวังสหรัฐฯ รักษาสัญญา รับนักเรียนจีนเรียนต่อ ตามที่ทรัมป์กล่าว

(20 มิ.ย. 68) กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า จีนคัดค้านการเมืองนำหน้าความร่วมมือด้านการศึกษา พร้อมแสดงความหวังว่าสหรัฐฯ จะปฏิบัติตามคำพูดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุว่ายินดีต้อนรับนักศึกษาจีนไปเรียนต่อในสหรัฐฯ

กัว เจียคุน (Guo Jiakun) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่าจีนติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด และเห็นว่าความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสองประเทศเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ควรถูกแทรกแซงด้วยปัจจัยทางการเมือง

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ย้ำว่าจีนคาดหวังให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของนักศึกษาและนักวิชาการจีนในสหรัฐฯ อย่างแท้จริงและต่อเนื่อง

‘ทรัมป์’ ยันโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน 3 แห่งสำเร็จ ส่งผลสถานการณ์ในตะวันออกกลางรุนแรงกว่าเดิม

(22 มิ.ย. 68) สถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศความสำเร็จโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน 3 แห่งสำเร็จ

ประธานาธิบดีมาซูด เปเซชเคียนของอิหร่าน เตือนว่า เตหะรานจะตอบโต้อย่างรุนแรงยิ่งกว่าเดิม หากอิสราเอล ยังคงเดินหน้าโจมตีทางอากาศต่อไปและยืนยันว่าจะไม่ยุติโครงการนิวเคลียร์ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น หลังจากที่กองทัพอิสราเอลประกาศว่าสังหารผู้บัญชาการกองทัพอิหร่านเพิ่มอีก 3 นาย รวมถึง “ซาอีด อิซาดี” (Saeed Izadi) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติ (IRGC) ผู้ประสานงานกับกลุ่มฮามาส ในระหว่างการโจมตีถล่มรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นอกจากนี้อิสราเอลยังโจมตีโรงงานนิวเคลียร์โรงงานนิวเคลียร์ในเมืองอิสฟาฮานของอิหร่านเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) รายงานว่า สร้างความเสียหายให้กับโรงงานผลิตเครื่องหมุนเหวี่ยงยูเรเนียม

ด้าน นายกิเดโอน ซาร์” รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ระบุว่า ปฏิบัติการดังกล่าวชะลอขีดความสามารถของอิหร่าน ในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านลง ได้ถึง 2 ปี พร้อมระบุว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อขจัดภัยคุกคามจากอิหร่าน และยืนยันว่าจะไม่ยุติการโจมตี

อิสราเอลเปิดฉากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มอิหร่าน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน โดยอ้างว่ารัฐบาลเตหะราน ใกล้จะสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ จนนำมาสู่การโจมตีตอบโต้ระหว่างกันอย่างรุนแรง คร่าชีวิตผู้คนในอิหร่านแล้วอย่างน้อย 657 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีพลเรือนรวมอยู่ด้วย 263 คน ตามรายงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐฯ และมีรายงานผู้เสียชีวิต 25 คนในอิสราเอล

ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ แถลงว่า สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จอย่างมากในการโจมตีถล่มโรงงานนิวเคลียร์ 3 แห่งในอิหร่าน รวมถึง ที่เมืองฟอร์โดว์ด้วย หลังจากโพสต์ข้อความบนทรูธ โซเชียลและปิดท้ายว่า ถึงเวลาแห่งสันติภาพแล้ว

ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังมีรายงานว่ากองทัพเคลื่อนย้าย ฝูงบินบี-ทู (B-2) เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ ขนาดหนักแบบอำพรางตัว (Stealth Bomber) 6 ลำไปยังฐานทัพอากาศบนเกาะกวม ก่อนถึงเส้นตายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เตือนรัฐบาลเตหะรานว่ามีเวลา 2 สัปดาห์ ที่จะหลีกเลี่ยงการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ และรัฐบาลวอชิงตันกำลังพิจารณาเข้าร่วมปฏิบัติการโจมตีของอิสราเอล

เครื่องบิน B-2 สามารถติดตั้งระเบิด GBU-57 น้ำหนัก 30,000 ปอนด์ ซึ่งเป็นระเบิดเจาะใต้ดินที่ออกแบบมาเพื่อทำลายเป้าหมายลึกใต้ดิน เช่น ฐานนิวเคลียร์ในเมืองฟอร์โดว์ของอิหร่าน ทั้งนี้ ชาติตะวันตกแสดงความกังวลเกี่ยวกับการขยายโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยเฉพาะการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในระดับสูง อย่างไรก็ตาม อิหร่านระบุว่าโครงการนิวเคลียร์มีจุดประสงค์เพื่อสันติ

โฆษกทรัมป์ฉะสื่อ อย่าใส่ร้ายสหรัฐฯ ลั่นไม่เคยรุกรานประเทศไหน สร้างแต่สันติภาพเท่านั้น

(23 มิ.ย. 68) คาโรไลน์ ลีวิตต์ (Karoline Leavitt) โฆษกทำเนียบขาว ตำหนิสื่อมวลชน หลัง CNN รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าร่วมสงครามเคียงข้างอิสราเอลเพื่อ “รุกรานอิหร่าน” โดยยืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่เคยรุกรานประเทศใด และการกระทำทั้งหมดเป็นไปเพื่อสันติภาพ

ลีวิตต์เตือนสื่อว่า “อย่าใช้คำว่ารุกรานกับประธานาธิบดีทรัมป์ หรือแม้แต่ประเทศของเรา” พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯ เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ มีเกียรติ และมีกองทัพที่ไม่มีใครเทียบได้ในโลก

โฆษกสาวของทำเนียบขาววัย 27 ปี ระบุว่า แม้สหรัฐฯ มีปฏิบัติการทางทหารกับอิหร่าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการรุกราน เพราะสหรัฐฯ ไม่ยอมให้อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถือเป็นเส้นแดงสำคัญด้านความมั่นคง

คาโรไลน์ ลีวิตต์ ทิ้งท้ายว่าทรัมป์ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในอิหร่าน และยังคงหวังว่าเตหะรานจะเลือกการเจรจา พร้อมกล่าวว่า “ขอพระเจ้าอวยพรโลกใบนี้”

ปากีสถานเสนอ ‘ทรัมป์’ ชิงโนเบลฯ หลังช่วยหยุดยิงอินเดีย-ปากีสถาน

(24 มิ.ย. 68) รัฐบาลปากีสถานประกาศแผนเสนอชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ โดยชี้ว่าเขามีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางช่วยยุติความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผ่านการเจรจาทางการทูตที่เร่งด่วนและการใช้การค้าเป็นแรงผลักดัน

แม้อินเดียจะปฏิเสธว่าไม่มีการแทรกแซงจากสหรัฐฯ แต่ทางปากีสถานยืนยันว่า ทรัมป์มีส่วนช่วยเจรจาหยุดยิงที่เกิดขึ้นหลังการสู้รบต่อเนื่อง 4 วัน ซึ่งรัฐบาลปากีสถานยกย่องว่าทรัมป์แสดงความเป็นผู้นำที่เด็ดขาด และมีวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ที่ช่วยลดความรุนแรงได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้กลับถูกวิจารณ์จากบางฝ่าย เช่น มาลีฮา โลธี (Maleeha Lodhi) อดีตเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำสหรัฐฯ ที่มองว่าการสนับสนุนผู้นำที่เคยสนับสนุนการโจมตีในกาซาเป็นเรื่อง “บั่นทอนศักดิ์ศรีของชาติ” ขณะที่ทรัมป์เองก็ระบุผ่าน Truth Social ว่า แม้จะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหลายกรณี แต่เขา “จะไม่ได้รับรางวัลโนเบล ไม่ว่าจะทำอะไร”

ทรัมป์เคยประกาศว่าจะยุติสงครามในยูเครนและกาซาอย่างรวดเร็ว หากได้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง และมักวิจารณ์รางวัลโนเบลของโอบามาในปี 2009 ว่าได้มาเร็วเกินควร ทั้งนี้ รางวัลโนเบลประจำปีนี้จะมีการประกาศผลในเดือนตุลาคม โดยยังไม่มีความชัดเจนว่าทรัมป์จะได้รับการเสนอชื่อจริงหรือไม่

หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ แฉเอง!! บึ้มอิหร่านล้มเหลว โครงการนิวเคลียร์ยังไม่ถูกทำลาย แผนยังเดินต่อได้

(25 มิ.ย. 68) รายงานจาก CNN โดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดระบุว่า การโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ที่มุ่งเป้าไปยัง 3 ฐานนิวเคลียร์ของอิหร่านเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่สามารถทำลายโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้ทั้งหมด แต่เพียงแค่ทำให้แผนงานของอิหร่านล่าช้าออกไปไม่กี่เดือนเท่านั้น จากการประเมินเบื้องต้นของหน่วยข่าวกรองกองทัพสหรัฐฯ (DIA)

แหล่งข่าวระบุว่า อุปกรณ์หมุนเหวี่ยงยูเรเนียม (centrifuges) ‘แทบไม่ได้รับความเสียหาย’ และยูเรเนียมเสริมสมรรถนะระดับสูงที่อิหร่านครอบครองอยู่ ถูกเคลื่อนย้ายออกก่อนการโจมตี ทำให้เป้าหมายหลักไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยเฉพาะที่โรงงาน ฟอร์โดว์ (Fordow), นาทานซ์ (Natanz) และ อิสฟาฮาน (Isfahan) ซึ่งโครงสร้างใต้ดินยังอยู่รอดเป็นส่วนใหญ่

แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์และรัฐมนตรีกลาโหมจะยืนยันว่าการโจมตีครั้งนี้ ได้ทำลายโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านทั้งหมดแล้ว แต่รายงานจากหน่วยข่าวกรองกลับให้ข้อมูลไม่ตรงกัน โดยนักวิเคราะห์ด้านอาวุธจาก Middlebury Institute ชี้ว่า สหรัฐฯ และอิสราเอลยังไม่สามารถทำลายโครงสร้างใต้ดินลึกที่สำคัญของอิหร่านได้ทั้งหมด

ล่าสุด ทำเนียบขาวยอมรับว่ามีรายงานการประเมินผลการโจมตีจริง แต่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในรายงาน พร้อมระบุว่าคนที่นำข้อมูลมาเปิดเผยเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ไม่น่าเชื่อถือ ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังยืนยันผ่าน Truth Social ว่า “ภารกิจนี้เป็นหนึ่งในความสำเร็จทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” 

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาจากทั้งสองพรรควิจารณ์ว่าเขา (ทรัมป์) “พูดเกินจริง” เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการโจมตีจะสามารถหยุดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านได้จริง

ทหารพรานไทยดูแลนักเรียนกัมพูชาข้ามแดน แม้ชายแดนตึงเครียด แต่ขอยึดหลักมนุษยธรรม

(25 มิ.ย. 68) แม้จะมีการยกระดับมาตรการควบคุมการเข้า-ออกประเทศบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสระแก้วที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองกำลังบูรพา แต่เจ้าหน้าที่ทหารพรานจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 12 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักเรียนชาวกัมพูชาที่ข้ามแดนมาเรียนในฝั่งไทยทุกเช้าอย่างต่อเนื่อง

เจ้าหน้าที่ไทยยืนยันว่า ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือสถานะของผู้เดินทาง ถือเป็นการให้ความสำคัญกับสิทธิด้านการศึกษาและความเป็นอยู่ของเด็กๆ มากกว่าประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ที่เปราะบางนี้

ขณะที่เช้าวันนี้ (25 มิ.ย.) บริเวณด่านช่องจอม จังหวัดสุรินทร์เกิดความวุ่นวายเมื่อมีชาวกัมพูชามากกว่า 500 คนตกค้างอยู่ในฝั่งไทย หลังเข้าใจผิดว่าด่านจะเปิดให้ข้ามแดนตามปกติ หนึ่งในแรงงานชาวกัมพูชาที่เดินทางมาจากจังหวัดลพบุรีเผยว่า แม้จะรู้ข่าวเรื่องการปิดด่าน แต่ก็ยังมาลุ้นหวังกลับบ้านเพราะเป็นห่วงลูกที่อยู่ฝั่งกัมพูชา

แม้ฝ่ายไทยจะยังเข้มงวดเรื่องการข้ามแดน แต่ก็ยังคงยึดหลักสิทธิมนุษยธรรม โดยมีการเจรจากับทางการกัมพูชาเพื่อขอเปิดช่องทางให้แรงงานที่ตกค้างสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงท่าทีที่ประนีประนอม และคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเหนือความขัดแย้งทางการเมือง

ตัวแทนทรัมป์เดือด! ข่าวบึ้มฐานนิวเคลียร์อิหร่าน รั่วไหลถึงสื่อ..ซัดแรง ‘คนทรยศชาติ’ ต้องสอบสวนด่วน

(25 มิ.ย. 68) สตีฟ วิทคอฟฟ์ (Steven Charles Witkoff) ทูตพิเศษของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง หลังรายงานข่าวกรองของกองทัพสหรัฐฯ เกี่ยวกับผลการโจมตีฐานนิวเคลียร์ของอิหร่านรั่วไหลสู่สื่อ โดยระบุว่า ‘เป็นการทรยศชาติ’ และต้องมีการสอบสวนหาผู้กระทำผิดมารับโทษ

วิทคอฟฟ์ กล่าวในรายการของ Fox News ว่า ตนได้อ่านรายงานการประเมินความเสียหายทั้งหมดแล้ว และยืนยันว่า ‘ไม่มีข้อสงสัยเลย’ ว่าทั้ง 3 ฐานนิวเคลียร์ที่ถูกโจมตีถูกทำลายสิ้นแล้ว โดยเฉพาะฐาน ฟอร์โดว์ (Fordow) ที่เขาย้ำว่า ‘ระเบิดทะลวงเข้าถึงเป้าหมายแน่นอน’ ด้านทรัมป์ยังได้แชร์คลิปคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวบน Truth Social พร้อมย้ำว่า ‘การรายงานข่าวที่บอกว่าเราไม่สำเร็จนั้น ไร้สาระสิ้นดี’

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวกรองของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กลับให้ภาพที่ต่างออกไป โดยระบุว่าการโจมตีด้วยระเบิดทะลวงดิน 12 ลูก แม้สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นดินและทางเข้าโรงงาน แต่โครงสร้างใต้ดินที่สำคัญ รวมถึงเครื่องหมุนเหวี่ยงยูเรเนียม (centrifuges) ส่วนใหญ่ยัง ‘อยู่ครบ’ และการโจมตีอาจเพียงแค่ทำให้แผนของอิหร่านล่าช้าไปไม่กี่เดือนเท่านั้น

รายงานยังเปิดเผยอีกว่า อิหร่านได้เคลื่อนย้ายยูเรเนียมบางส่วนออกจากโรงงานก่อนการโจมตี โดยที่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าโครงการจะฟื้นกลับมาได้เร็วเพียงใด ขึ้นอยู่กับความสามารถในการขุดเจาะและซ่อมแซมความเสียหาย

ด้านสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต แบรด เชอร์แมน แสดงความกังวลว่า คำประกาศชัยชนะของรัฐบาลทรัมป์อาจใช้ถ้อยคำคลุมเครือเกินไป พร้อมระบุว่าอิหร่านยังมีปริมาณยูเรเนียมที่สามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ถึง 9 ลูก และยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าสหรัฐฯ ได้ทำลายเครื่องหมุนเหวี่ยงที่จำเป็นต่อการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเหล่านั้นแล้วจริงหรือไม่

ทรัมป์เดือด! ตำหนิสื่อใส่สีอิสราเอลพ่าย ยันแค่ ‘โดนหนักไปหน่อย’ ไม่ได้แพ้อิหร่าน

(26 มิ.ย. 68) ในระหว่างการประชุมสุดยอดนาโต้ที่จัดขึ้นที่กรุงเฮก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกโรงโจมตีสื่อมวลชนอย่างรุนแรง หลังจากที่หลายสำนักข่าวรายงานว่า อิสราเอลอาจพ่ายแพ้ต่ออิหร่านในการสู้รบที่ใช้เวลาประมาณ 12 วัน ทรัมป์กล่าวว่า “อิสราเอลไม่ได้แพ้ แค่พวกเขาโดนหนักไปหน่อย” และเสริมว่าประชาชนอิสราเอลได้รับผลกระทบมากเกินควร เมื่อเห็นว่าขีปนาวุธพิสัยไกลของอิหร่านโจมตีอาคารในอิสราเอลจนพังหลายหลัง

ทรัมป์กล่าวอย่างชัดเจนอีกว่า เขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางการนำเสนอข่าวของสื่อต่างชาติและในสหรัฐฯ เช่น CNN, The New York Times, MSNBC ที่วิพากษ์วิจารณ์ประสิทธิภาพการป้องกันของอิสราเอล ซึ่งเขายังเรียกนักข่าวบางคนว่า “พวกคนป่วยและทำลายผลงานทางทหาร” พร้อมเรียกร้องให้มีการปลด นาตาชา เบอร์ทรานด์ (Natasha Bertrand) จาก CNN และเรียกสื่อเหล่านี้ว่า “fake news”

ในช่วงที่เขาออกมาประกาศว่า อิสราเอลและอิหร่านตกลงหยุดยิง (ceasefire) ภายหลัง 'สงคราม 12 วัน' ทรัมป์แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนเมื่อเห็นอิสราเอลยังปล่อยขีปนาวุธ แม้ว่าเขาจะประกาศหยุดยิงแล้วก็ตาม ทั้งนี้เขาเน้นย้ำว่าอิสราเอล “โดนหนักไปหน่อย” แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ความล้มเหลว 

ขอปกป้องเต็มที่! ‘ทรัมป์’ พร้อมหนุน ‘เนทันยาฮู’ เรียกร้องยกเลิกคดีทุจริต ชี้เป็นการ ‘ล่าแม่มด’

(26 มิ.ย. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกโรงปกป้องนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล เรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลยุติการดำเนินคดีทุจริต หรือออกอภัยโทษให้โดยทันที โดยชี้ว่าเป็น ‘การล่าแม่มด’ ต่อผู้นำที่เขายกย่องว่าเป็น ‘วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของรัฐอิสราเอล’

เนทันยาฮูถูกฟ้องในปี 2019 ในข้อหาติดสินบน ฉ้อโกง และละเมิดความไว้วางใจ โดยการไต่สวนเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2020 และยังคงดำเนินอยู่ในศาลกรุงเทลอาวีฟ โดยล่าสุดเริ่มการซักค้านเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลานานถึง 1 ปี จึงจะเสร็จสิ้น

ทรัมป์โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social ว่า “คดีของ Bibi (เนทันยาฮู) ควรถูกยกเลิกทันที หรือไม่ก็ให้อภัยโทษกับวีรบุรุษที่ทำคุณมากมายเพื่อชาติอิสราเอล” พร้อมกล่าวว่า “สหรัฐอเมริกาเคยช่วยอิสราเอล และตอนนี้จะเป็นฝ่ายช่วย Bibi เนทันยาฮู”

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีอิสราเอล ไอแซก เฮอร์ซ็อก ได้ยืนยันผ่านสื่อว่า ยังไม่มีการยื่นขออภัยโทษอย่างเป็นทางการ และ ‘เรื่องนี้ยังไม่อยู่บนโต๊ะ’ ท่ามกลางความไม่ชัดเจนว่า ทรัมป์หรือรัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของอิสราเอลได้เพียงใด โดยก่อนหน้านี้ ทรัมป์เพิ่งวิจารณ์อิสราเอลกรณีทิ้งระเบิดอิหร่านหลังการหยุดยิงว่า ‘มากเกินไป’ และทำให้เขาไม่พอใจมาก

ทรัมป์รับประกัน! รัสเซียจะไม่บุกยุโรปในยุคตน สวนทาง ‘นาโต’ ที่เร่งจัดสรรงบเตรียมรับศึกใหม่

(27 มิ.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมนาโตที่กรุงเฮกเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ว่า รัสเซียจะไม่โจมตีกลุ่มนาโต ตราบใดที่เขายังดำรงตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยอมรับว่า รัสเซียอาจต้องการขยายอิทธิพลไปไกลกว่ายูเครนในอนาคต 

แม้จะไม่ปฏิเสธความเสี่ยงจากมอสโก ซึ่งทรัมป์ลดทอนน้ำหนักภัยคุกคามของรัสเซีย โดยระบุว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไม่ได้ร้ายกาจหรืออันตรายอย่างที่หลายประเทศเชื่อ แต่เป็นแค่คนที่มีมุมมองหรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์โลก ซึ่งคำพูดนี้สวนทางกับความกังวลของหลายประเทศในยุโรปที่เริ่มเตรียมรับมือกับความเป็นไปได้ของสงครามเต็มรูปแบบระหว่างรัสเซียกับนาโต

ท่าทีที่เบาลงของทรัมป์มีขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ระหว่างรัสเซียกับยุโรปเริ่มตึงเครียดมากขึ้น เพราะไม่นานก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี เพิ่งเปิดเผยว่า หน่วยข่าวกรองของยูเครนพบหลักฐานว่ารัสเซียกำลังวางแผนโจมตียุโรปอีกระลอก ขณะที่ประธานาธิบดีปูตินก็เพิ่งประกาศชัดว่า “ยูเครนทั้งหมดเป็นของรัสเซีย” ยิ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่ารัสเซียอาจไม่หยุดแค่ยูเครน

ทั้งนี้ ท่ามกลางกระแสคุกคามที่เพิ่มขึ้น ประเทศสมาชิกนาโตจึงเห็นพ้องร่วมกันในการเพิ่มงบกลาโหม โดยตั้งเป้าให้แต่ละประเทศจัดสรรงบประมาณด้านความมั่นคงอย่างน้อย 5% ของ GDP ภายในปี 2035 ด้านผู้นำใหม่ของนาโต มาร์ค รุตเต้ (Mark Rutte) ยังเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายมีท่าทีสมจริงต่อภัยจากรัสเซียและจีน ขณะที่เยอรมนีก็เตือนว่า รัสเซียอาจทดสอบความเหนียวแน่นของพันธมิตรนาโตนอกเหนือจากยูเครนในเร็ว ๆ นี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top