Thursday, 3 July 2025
ทรัมป์

‘ทรัมป์’ หมดความอดทน ‘อีลอน มัสก์’ โจมตีร่างงบฯ ทำสัมพันธ์เริ่มสั่นคลอน และศึกนี้อาจไม่จบง่าย

(5 มิ.ย. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เริ่มหมดความอดทนแต่ยังคงเงียบ ไม่ตอบโต้แม้อีลอน มัสก์ จะวิจารณ์ร่างกฎหมายงบประมาณหลักอย่างหนัก โดยเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเผยว่า ทรัมป์ยังไม่ถือเป็นเรื่องส่วนตัว แม้จะรู้สึกไม่พอใจที่ถูกพาดพิง ซึ่งช่วยให้สถานการณ์ยังไม่ลุกลามเป็นความขัดแย้งใหญ่

อย่างไรก็ตาม การโจมตีของมัสก์ที่ยืดเยื้อเข้าสู่วันที่สอง ทำให้เจ้าหน้าที่บางรายเริ่มกังวลว่าทรัมป์อาจเปลี่ยนท่าที หากมัสก์ยังเดินหน้าโจมตี โดยเฉพาะผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือเป็นบททดสอบใหญ่ของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ที่เคยแน่นแฟ้น

มัสก์ใช้เวที X (เดิมคือ Twitter) วิจารณ์ร่างกฎหมายว่าเป็น 'ความน่ารังเกียจ' แม้เพิ่งได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทรัมป์ในทำเนียบขาวเมื่อไม่กี่วันก่อน ขณะเดียวกันฝ่ายทรัมป์พยายามลดกระแส โดยชี้ว่ามัสก์โกรธเพราะร่างกฎหมายตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เป็นประโยชน์ต่อ Tesla

แม้ที่ปรึกษาบางคนของทรัมป์เริ่มเสนอแนวทางตอบโต้ แต่ทรัมป์ยังไม่แสดงท่าทีสาธารณะใด ๆ โดยคาดว่าหากมีการตอบโต้ จะเกิดขึ้นบน Truth Social สื่อส่วนตัวของเขาเท่านั้น อย่างไรก็ตามความเงียบนี้อาจไม่ยั่งยืน หากมัสก์ประกาศสนับสนุนผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกันในอนาคต

นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า แรงกดดันจากมัสก์อาจสร้างปัญหาให้ฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องเลือกระหว่างความจงรักภักดีต่อทรัมป์ กับอิทธิพลของมหาเศรษฐีที่มีทั้งแพลตฟอร์มและเงินทุนมหาศาล

จับตา!!..ทรัมป์อาจใช้อำนาจยึด SpaceX เป็นของรัฐ อีลอน มัสก์ แก้เกมขู่ถอดยานอวกาศ Dragon พ้นวงโคจร

(6 มิ.ย. 68) ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับอีลอน มัสก์ จุดกระแสกังวลใหม่ว่า ทรัมป์อาจใช้อำนาจประธานาธิบดีเข้าควบคุมหรือยึด SpaceX เป็นของรัฐ หากการตอบโต้ทางการเมืองลุกลามถึงขั้นสุด หลังมัสก์วิจารณ์นโยบายการคลังของรัฐบาลจนถูกขู่ตัดสัญญารัฐมูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์

อีลอน มัสก์ โต้กลับอย่างรุนแรง โดยประกาศเตรียมปลดประจำการยานอวกาศ Dragon ซึ่งเป็นยานลำเดียวของสหรัฐฯ ที่สามารถรับ-ส่งนักบินอวกาศขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ภายใต้สัญญามูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์กับ NASA ซึ่งการตัดสินใจเช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงเสถียรภาพและความมั่นคงของโครงการอวกาศสหรัฐฯ

แหล่งข่าวใกล้ทำเนียบขาวเผยว่า มีการหารือภายในเกี่ยวกับการใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พระราชบัญญัติการผลิตเพื่อการป้องกันประเทศ (Defense Production Act) เพื่อควบคุมทรัพย์สินของ SpaceX หากมัสก์เดินหน้าทำลายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านอวกาศของประเทศ ซึ่งอาจถูกตีความว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ

แม้ SpaceX จะเป็นบริษัทเอกชนที่ประสบความสำเร็จระดับโลก แต่หากความขัดแย้งกับรัฐบาลลุกลามจนถึงขั้นรัฐเข้าควบคุมกิจการ จะถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนวงการเทคโนโลยีครั้งใหญ่ และอาจเปลี่ยนสมการอำนาจระหว่างรัฐกับมหาเศรษฐีผู้ครอบครองเทคโนโลยีล้ำยุคในศตวรรษที่ 21 อย่างสิ้นเชิง

‘ทรัมป์’ โพสต์!! ชมเชย ‘กองกำลังป้องกันประเทศ’ ที่โชว์ผลงาน!! สลายม็อบในแอลเอ อย่างเหี้ยมหาญ

(8 มิ.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

#ทรัมป์ ปธน. #สหรัฐฯ โพสต์ข้อความชมเชย #กองกำลังป้องกันประเทศ (National Guard) ที่สลายม็อบใน #แอลเอ อย่างเหี้ยมหาญ ว่า

“กองกำลังป้องกันประเทศทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยมในลอสแองเจลิส หลังจากเกิดความรุนแรง การปะทะ และความไม่สงบเป็นเวลาสองวัน เรามีผู้ว่าการรัฐ (นิวส์คัม) และนายกเทศมนตรี (บาสส์) ที่ไร้ความสามารถ ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว (แค่ดูวิธีที่พวกเขาจัดการกับไฟป่า และตอนนี้การอนุญาตที่ล่าช้ามากของพวกเขา ใบอนุญาตของรัฐบาลกลางเสร็จสมบูรณ์แล้ว!) ไม่สามารถจัดการกับเรื่องนี้ได้”

“การประท้วงของฝ่ายซ้ายสุดโต่งเหล่านี้ โดยผู้ยุยงและมักเป็นผู้ก่อปัญหาที่ได้รับค่าจ้าง รัฐบาลจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น และจากนี้ไป จะไม่อนุญาตให้สวมหน้ากากในการประท้วง คนเหล่านี้ต้องปกปิดอะไร และทำไม???”

“ขอบคุณกองกำลังป้องกันประเทศอีกครั้งสำหรับงานที่ทำได้ดีเยี่ยม"

‘อีลอน มัสก์’ วิวาทเดือด ‘รมว.คลัง’ กลางทำเนียบขาว หลังถูกกดดันเรื่องล้มเหลวลดงบฯ 1 ล้านล้านดอลล์

(9 มิ.ย. 68) สตีฟ แบนอน อดีตหัวหน้ากลยุทธ์ทำเนียบขาวในยุครัฐบาลทรัมป์ เผยว่าอีลอน มัสก์ หัวหน้าหน่วยงานปรับลดงบประมาณรัฐบาลกลาง (DOGE) ได้มีปากเสียงอย่างรุนแรงกับสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จนถึงขั้นเกิดการปะทะกันในทำเนียบขาว 

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการเดินจากห้องทำงานประธานาธิบดีไปยังบริเวณนอกห้องของหัวหน้าคณะทำงานซูซี ไวลส์ โดยมัสก์ถูกกล่าวหาว่าผลักเบสเซนต์ หลังโดนตั้งคำถามถึงความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายการลดงบประมาณรัฐบาลกลางตามที่เคยสัญญาไว้

เบสเซนต์กล่าวหาว่ามัสก์เคยให้คำมั่นว่าจะลดรายจ่ายภาครัฐลง 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ทำได้จริงเพียงแค่ประมาณ 1 แสนล้าน และยังไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ว่า เกิดการประหยัดลงจริงหรือไม่ ซึ่งแบนอนกล่าวว่า 

“มัสก์รู้สึกอ่อนไหวกับประเด็นนี้อย่างมากและนั่นนำไปสู่การกระทบกระทั่งอย่างเปิดเผย โดยมีเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวหลายรายอยู่ในเหตุการณ์ แม้หลังเหตุการณ์ ประธานาธิบดีทรัมป์จะออกมาสนับสนุนเบสเซนต์อย่างชัดเจน แต่เบสเซนต์เองก็ไม่มีท่าทีโกรธเคืองส่วนตัว และยังกล่าวชื่นชมผลงานบางส่วนของมัสก์ในภายหลัง”

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปลายวาระการทำงาน 5 เดือนของมัสก์ในตำแหน่ง “พนักงานพิเศษของรัฐบาล” ซึ่งเขาได้รับมอบหมายให้ทำการตัดลดงบประมาณและยุบหน่วยงานภาครัฐที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ผลงานของเขากลับถูกวิจารณ์อย่างหนักจากทั้งสาธารณชนและรัฐสภา รวมถึงการฟ้องร้องจากกลุ่มสิทธิพลเมืองเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนโดยไม่ได้รับความยินยอม นอกจากนี้ ความนิยมส่วนบุคคลของมัสก์ก็ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของ Tesla และ SpaceX เองก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

แม้มีกระแสข่าวลือว่ามัสก์ถูกลดบทบาทในรัฐบาลจากกรณีการเข้าถึงข้อมูลลับด้านความมั่นคงและข้อกล่าวหาเรื่องการใช้สารเสพติดระหว่างการหาเสียง แต่ในการแถลงข่าวร่วมกับทรัมป์หลังประกาศลาออก มัสก์กลับกล่าวติดตลกถึงรอยฟกช้ำใต้ตาว่าเกิดจากการเล่นกับลูกชายวัย 5 ขวบ ไม่เกี่ยวกับเหตุวิวาทในทำเนียบขาว 

ด้านโฆษกทำเนียบขาวระบุเพียงว่า “ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติในการทำงานตามนโยบายที่มีเอเนอร์จี้” และทุกฝ่ายยังคงปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนตามเจตนารมณ์ของประธานาธิบดีทรัมป์

มหาวิทยาลัยญี่ปุ่น 87 แห่ง ยื่นมือช่วย นักศึกษาต่างชาติที่ถูกแบนในสหรัฐฯ

(10 มิ.ย. 68) มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นจำนวน 87 แห่งเตรียมมาตรการช่วยเหลือนักศึกษาต่างชาติในสหรัฐอเมริกา หลังจากคำสั่งห้ามมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดรับนักศึกษาต่างชาติของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตามการเปิดเผยของกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นและองค์การบริการนักเรียนญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์

โดยในส่วนของผู้มีสิทธิ์รับความช่วยเหลือและรูปแบบการช่วยเหลือจะแตกต่างกันไปในแต่ละมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยโทโฮคุประกาศรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีสำหรับบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาการเรียนต่อ โดยจะรับเข้าเป็นนักศึกษาไม่ประจำ (nondegree) และยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษา รวมถึงค่าลงทะเบียน

นอกจากนี้ หลายมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นพร้อมเปิดรับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ไม่จำกัดสัญชาติหรือสถาบันที่กำลังศึกษาอยู่ ทั้งในฐานะนักศึกษาเต็มเวลา หรือนักศึกษาเฉพาะกิจ นอกจากนี้ บางแห่งยังเสนอการยกเว้นค่าเล่าเรียนและจัดที่พักในหอพักให้อีกด้วย

ทั้งนี้ องค์การบริการนักเรียนญี่ปุ่นระบุว่า ยังมีอีก 5 มหาวิทยาลัยที่อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการช่วยเหลือ และจะมีการอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่องต่อไป

สหรัฐฯ เลิกทุ่มงบช่วยยูเครน ในปี 2026 ชูแนวทางเจรจากับรัสเซีย แทนการส่งอาวุธ

(11 มิ.ย. 68) พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แถลงต่อสภาคองเกรสว่า รัฐบาลทรัมป์เตรียมลดงบประมาณช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนในร่างงบประมาณกลาโหมปี 2026 โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ ต้องให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตนเองท่ามกลางปัญหาทั่วโลกที่แข่งขันกัน

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ระบุอีกว่า รัฐบาลชุดนี้มีมุมมองต่อความขัดแย้งในยูเครนต่างจากอดีต โดยมองว่า “การเจรจาเพื่อยุติสงครามอย่างสันติ” คือแนวทางที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย และกับสหรัฐฯ เอง อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าการปรับลดจะมีขนาดมากน้อยเพียงใด

ท่าทีล่าสุดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่รัสเซียเพิ่มการโจมตีทางอากาศใส่ยูเครน โดยเฉพาะในกรุงเคียฟ ขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ได้ร้องขอระบบป้องกันภัยทางอากาศจากสหรัฐฯ โดยเสนอซื้อด้วยเงินของยูเครนแทนการรับความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานเต็มรูปแบบในปี 2022 สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนมากกว่า 66,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,376 ล้านบาท) แต่รัฐบาลทรัมป์ได้ระงับแพ็กเกจช่วยเหลือใหม่ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มวาระสองในเดือนมกราคม และมีท่าทีแข็งกร้าวต่อยูเครนมากขึ้น ทั้งยังถอนตัวจากเวทีหารือด้านความมั่นคงร่วมกับพันธมิตรหลายครั้งในระยะหลัง

‘เนทันยาฮู’ ขอบคุณทรัมป์หนุนอิสราเอล ย้ำชัดโลกต้องไม่ปล่อยให้อิหร่านมีนิวเคลียร์

(13 มิ.ย. 68) นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล แถลงผ่านวิดีโอขอบคุณ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ สำหรับจุดยืนที่ชัดเจนและสนับสนุนอิสราเอลมาโดยตลอด โดยเฉพาะการยืนกรานไม่ให้อิหร่านครอบครองอาวุธนิวเคลียร์

เนทันยาฮู กล่าวว่า “ผมขอบคุณเขาสำหรับการสนับสนุนอันแน่วแน่ตลอดช่วงเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี” พร้อมย้ำว่าทรัมป์คือผู้นำที่แสดงจุดยืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าโลกไม่ควรปล่อยให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ได้

นายกรัฐมนตรีอิสราเอลยังกล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า แม้จะมี 'วันที่ยากลำบาก' รออยู่ แต่ก็ยังมี 'วันที่ยิ่งใหญ่' ที่กำลังจะมาถึง โดยสิ่งที่อิสราเอลทำในวันนี้จะถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็น “การต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่ว ระหว่างแสงสว่างและความมืด”

เนทันยาฮูยังส่งสารไปยังชาวอิหร่านโดยตรงว่า “ระบอบอิหร่านคือภัยคุกคามต่ออารยธรรม ไม่ใช่แค่อิสราเอล พวกเขาหนุนหลังการก่อการร้าย ข่มเหงประชาชนของตนเอง และมุ่งมั่นครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เราไม่อาจยืนดูอยู่เฉยได้”

ทั้งนี้ คำแถลงดังกล่าวมีขึ้นในช่วงที่ทั่วโลกจับตาการเผชิญหน้าระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ขณะที่ผู้นำอิสราเอลยังคงเดินหน้าสื่อสารผ่านเวทีระหว่างประเทศถึงภัยคุกคามจากเตหะราน และความจำเป็นในการดำรงจุดยืนร่วมกันกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

สหรัฐฯ ไม่ควรเข้าร่วมสงครามกับอิหร่านในทุกระดับ การต่อสู้ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านก็ไม่มีอะไรจะเป็นคุณ กับสหรัฐฯ ได้

(14 มิ.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

ทักเกอร์ คาร์ลสัน (Tucker Carlson) สื่อใหญ่มะกัน ผู้สนับสนุนทรัมป์มาโดยตลอดและพิธีกรรายการโทรทัศน์คนล่าสุดของทรัมป์ ได้ออกมาวิจารณ์ทรัมป์อย่างเปิดเผย หลังจากที่อิสราเอลโจมตีอิหร่าน 

โดยระบุว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทรัมป์ 'สมรู้ร่วมคิด' กับอิสราเอลในการโจมตีอิหร่าน

พร้อมเรียกร้องให้ทรัมป์ “ทิ้งอิสราเอล” และ “ปล่อยให้อิสราเอลสู้สงครามของตนเอง”

“สหรัฐฯ ไม่ควรเข้าร่วมสงครามกับอิหร่านในทุกระดับ ไม่ว่าจะด้วยเงินทุน อาวุธจากสหรัฐฯ หรือกำลังทหารในพื้นที่ ไม่ว่า 'พันธมิตรพิเศษ' ของเราจะพูดอะไรก็ตาม การต่อสู้ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านก็ไม่มีอะไรจะเป็นคุณกับสหรัฐฯ ได้”

‘ทรัมป์’ เตือน ‘อิหร่าน’ ไม่มีวันชนะสงครามนี้ แนะเปิดเจรจาก่อนจะสายเกินไป

(17 มิ.ย. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เตือนอิหร่านให้รีบเปิดการเจรจากับอิสราเอลโดยด่วน ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ผมคิดว่าอิหร่านจะไม่ชนะสงครามนี้ พวกเขาควรพูดคุยกัน และควรพูดคุยทันที ก่อนที่จะสายเกินไป” ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G7 ที่ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา

คำเตือนของทรัมป์มีขึ้นหลังการโจมตีล่าสุดของอิหร่านด้วยขีปนาวุธใส่เมืองต่าง ๆ ของอิสราเอล ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 8 ราย ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมจากฝั่งอิสราเอลอยู่ที่ 24 คน ขณะที่ทางการอิหร่านรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 224 ราย และบาดเจ็บกว่า 1,000 คน นับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มการโจมตีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อกองทัพอิสราเอลประกาศว่าได้ “ควบคุมท้องฟ้าเหนือกรุงเตหะรานอย่างสมบูรณ์” พร้อมทั้งทำลายฐานยิงขีปนาวุธของอิหร่านได้แล้วประมาณหนึ่งในสาม ด้านอิหร่านตอบโต้โดยขู่ว่าจะเปิดฉาก “การยิงขีปนาวุธที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” บนแผ่นดินอิสราเอล พร้อมกันนั้นยังมีรายงานว่าโรงพยาบาลพลเรือนในเมืองเคอร์มานชาห์ของอิหร่านถูกโจมตี จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

อีกด้านหนึ่ง องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) แสดงความกังวลถึงการปนเปื้อนทางรังสีและสารเคมีจากการโจมตีของอิสราเอลที่โรงงานเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่เมืองนาทานซ์ แม้ระดับรังสีภายนอกยังปกติ แต่ระบบจ่ายไฟหลักและเครื่องสำรองถูกทำลาย ทำให้การตรวจสอบและประเมินผลกระทบทำได้อย่างจำกัด

ขณะที่ภาพรวมในสนามรบจะตึงเครียดอย่างหนัก แต่เบื้องหลังมีรายงานว่าอิหร่านเริ่มส่งสัญญาณความต้องการเจรจา โดยผ่านตัวกลางจากชาติอาหรับ ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันโลกลดลงทันทีมากกว่า 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แสดงให้เห็นถึงความหวังเล็ก ๆ ในการคลี่คลายความขัดแย้ง หากคู่กรณียอมกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาอย่างจริงจังตามคำแนะนำของทรัมป์ก่อนที่จะสายเกินไป

ผู้นำ G7 หนุนอิสราเอล ย้ำมีสิทธิ์ตอบโต้อิหร่าน ด้าน ‘ทรัมป์’ ทิ้งประชุมด่วน!!...กลับมารับมือที่วอชิงตัน

(17 มิ.ย. 68) ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งเจ็ด (G7) ออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนสิทธิของอิสราเอลในการป้องกันตนเอง ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดที่ทวีขึ้นระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน

ในแถลงการณ์ระบุว่า “เรายืนยันว่าอิสราเอลมีสิทธิในการป้องกันตัว และเรายังคงยืนหยัดเคียงข้างความมั่นคงของอิสราเอล” พร้อมเรียกร้องให้การแก้ไขวิกฤตกับอิหร่านนำไปสู่การลดความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงการหยุดยิงในฉนวนกาซา

ผู้นำ G7 ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปกป้องพลเรือนจากผลกระทบของความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น ขณะที่สถานการณ์ในตะวันออกกลางยังคงผันผวนและเปราะบางอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันโฆษกทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะออกจากการประชุม G7 ที่แคนาดาเร็วกว่ากำหนด และได้สั่งให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเตรียมพร้อมหารือฉุกเฉินในห้องสถานการณ์ของทำเนียบขาว

คำสั่งเร่งด่วนของทรัมป์ยังรวมถึงการเรียกประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) เพื่อประเมินปฏิกิริยาตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่อทั้งอิหร่านและอิสราเอล ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากฝ่ายการเมืองภายในประเทศให้วอชิงตันแสดงบทบาทนำในวิกฤตนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top