Sunday, 6 July 2025
จีน

‘รองนายกฯ ไทย’ ยก ‘แผน BRI’ เป็นสุดยอดวิสัยทัศน์ระดับโลก เชื่อมต่อความเจริญ หนุนการค้า-ลงทุน เสริมแกร่ง ศก. ‘ไทย-จีน’

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, กรุงเทพฯ รายงานว่า เมื่อไม่นานนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวซินหัวว่า ‘แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (BRI) ถือเป็นวิสัยทัศน์ระดับโลกอันชาญฉลาดที่ส่งเสริมการเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงนำพาความเจริญมายังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

นายปานปรีย์ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ’ (BRF) ครั้งที่ 3 ว่าแผนริเริ่มฯ เป็นโครงการที่มีความชาญฉลาดมาก มีการมองไปข้างหน้าเพื่อการพัฒนาภูมิภาค และเพื่อให้โลกมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น พัฒนาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้ประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาได้ประโยชน์จากโครงการนี้สูงมาก

แผนริเริ่มฯ ได้ยกระดับการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคผ่านโครงการต่างๆ อย่าง ‘ทางรถไฟ’ ซึ่งเชื่อมต่อเมืองสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดการขนส่งสินค้าอย่างราบรื่นตลอดแนวเส้นทาง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ซึ่งจะเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว และจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งจีน ลาว และไทย

“เราหวังจะเสริมสร้างการเชื่อมต่อกับมาเลเซียและสิงคโปร์เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเหล่านี้ในด้านการค้า การลงทุน และสำคัญที่สุดคือ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน” นายปานปรีย์กล่าว พร้อมชี้ว่า จีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนมากมายในสถานการณ์ปัจจุบัน

สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจจีน นายปานปรีย์กล่าวว่า ประเทศจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เวลานี้เศรษฐกิจจีนจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นกลับมาได้ในสภาพที่ปกติ เพื่อนบ้านหรือภูมิภาคที่อยู่ใกล้จีน ก็สามารถค้าขายกับจีนได้อย่างเป็นปกติเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การค้าในภูมิภาคของเอเชียมีความแข็งแรงทั้งหมด

“ในมุมมองผม ก็ยังมองเศรษฐกิจของจีนในด้านดีและด้านบวก” นายปานปรีย์กล่าว

สำหรับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทยและจีนนั้นหยั่งรากลึก โดยนอกจากการค้าและการลงทุนแล้ว ความร่วมมือทวิภาคียังครอบคลุมด้านอื่นๆ เช่น ความมั่นคง สังคม และวัฒนธรรม ขณะการทำงานร่วมกันมุ่งเน้นเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะการเกื้อหนุนห่วงโซ่อุปทานเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่า การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและไทยในปี 2022 อยู่ที่ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.9 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อนหน้า โดยจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย

นายปานปรีย์ กล่าวว่า จีนเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ ไทยได้ดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเยือนไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

สำหรับการพัฒนาระดับภูมิภาค นายปานปรีย์กล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนที่แข็งแรงจะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค รวมถึงไทย ในหลากหลายด้าน เช่น การค้า การลงทุน และความมั่นคงของภูมิภาค

“ความสัมพันธ์นี้เป็นประโยชน์ต่อทั้งอาเซียนและจีน” นายปานปรีย์กล่าว

‘สีจิ้นผิง’ พบปะ ‘นายกฯ ไทย’ ร่วมหารือความร่วมมือระหว่างประเทศ มุ่งเพิ่มมิติใหม่สู่ความสัมพันธ์ฉันครอบครัว พัฒนาเพื่ออนาคตร่วมกัน

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานความคืบหน้า นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้พบปะหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 และเยือนจีนอย่างเป็นทางการ

นายสีจิ้นผิง กล่าวว่า จีนเป็นประเทศแรกนอกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่นายเศรษฐาเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งสะท้อนอย่างเต็มที่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ของไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างมาก

จีนพร้อมทำงานร่วมกับไทยเพื่อสร้างนิยมความเป็นไปได้ในยุคใหม่นี้ให้กับคำกล่าว “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” อย่างต่อเนื่อง และทำให้ข้อได้เปรียบของมิตรภาพอันยาวนาน เป็นพลังขับเคลื่อนความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน

นายสีจิ้นผิงกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งรัดการก่อสร้าง ‘ทางรถไฟจีน-ไทย’ ขยับขยายความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาสีเขียว และพลังงานใหม่ ตลอดจนเสริมความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและการพนันออนไลน์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอันปลอดภัยสำหรับการพัฒนาของสองประเทศ

นายสีจิ้นผิงเสริมว่า จีนยินดีแบ่งปันโอกาสจากตลาดขนาดใหญ่ และการเปิดกว้างระดับสูงของจีน เพื่อเพิ่มพูนพลังเชิงบวกสู่การพัฒนาของเอเชีย

ด้านนายเศรษฐากล่าวว่า ไทยจะทำงานร่วมกับจีนเพื่อสร้างประชาคมไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

ไทยจะพยายามอย่างสุดกำลังในการรับรองความปลอดภัยของพลเมืองจีนในไทย และยินดีต้อนรับผู้ประกอบการชาวจีนเข้ามาลงทุน และพลเมืองจีนเดินทางเยือนไทย

อนึ่ง คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน รวมถึงช่ายฉีและหวังอี้ ได้เข้าร่วมการพบปะหารือครั้งนี้ด้วย

‘เศรษฐา’ ชูศักยภาพไทย หยอด ‘จีน’ ร่วมลงทุน ยาหอม!! จีนมหามิตร ไทยพร้อมชิดเชื่อม BRI

(20 ต.ค.66) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ร่วมงาน Thailand-China Investment Forum ที่โรงแรมเคอร์รี่ โดยได้กล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงที่ห้างสยามพารากอน และขอให้เชื่อมั่น ตนได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ไทยเป็นจุดหมายที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับทุกคนที่มาเยือน และการเดินทางมาจีนครั้งนี้ มีความยินดีอย่างยิ่ง ขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ไทยและจีนมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงมาตลอด ที่สำคัญคือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย แสดงให้เห็นความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ

นายกฯ กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ไทยและจีนครบรอบ 10 ปี ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ฉบับที่ 4 (ปี 2022 - 2026) และแผนความร่วมมือระหว่างไทย - จีน ว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ การประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 3 ซึ่งข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในหลากหลายมิติทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และด้านวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในกลุ่มอาเซียน

นายกฯ กล่าวว่า ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เชื่อมต่อเส้นทางภายใต้ BRI ทั้งบกและทะเล จึงตระหนักถึงโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศไทยกับจีน รัฐบาลไทยมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว จะยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของไทย ก่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ

“เป็นโอกาสดีที่ไทยและจีนจะยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รัฐบาลไทยจะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าไทยมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีความพร้อม และความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ สำหรับการค้าและการลงทุน” นายเศรษฐา ระบุ

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในระดับภูมิภาคจีนและไทยได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งมีอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศนอกอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ความตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาการค้าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับสิทธิ ยกเว้นอากรหรือลดอัตราอากรศุลกากร ดังนั้น การเข้ามาทำการค้าการลงทุนกับประเทศไทยจึงเป็นโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว นอกจากความตกลง RCEP แล้ว จีนและไทยมีกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน ซึ่งส่งผลให้ภาษีสินค้านำเข้าเป็น 0 มากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยตั้งเป้าในการปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมในหมวดสินค้าอ่อนไหว รวมถึงการเปิดเสรีและคุ้มครองการลงทุน คาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จในปี 2024 เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไปสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน อันจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น

‘จีน’ ก่อตั้ง ‘ศูนย์รักษาอาการปวด’ มาตรฐานระดับชาติ เน้นขยายขอบเขตให้เข้าถึง ‘ระดับรากหญ้า’ มากขึ้น

เมื่อวานนี้ (20 ต.ค.66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จีนเปิดตัวศูนย์รักษาอาการปวดที่ได้มาตรฐานระดับชาติในกรุงปักกิ่ง โดยมีวัตถุประสงค์ขยายขอบเขตการเข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสำหรับการรักษาอาการปวดในระดับรากหญ้า

อาการปวดเรื้อรังที่มีระยะเวลานานเกินกว่า 3 เดือนกลายเป็นข้อกังวลที่ผู้คนสนใจเพิ่มขึ้น โดยคณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอาการปวดเรื้อรังต้องได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากมีสาเหตุที่ซับซ้อนและหลากหลาย และยิ่งเป็นต่อเนื่องนานเท่าไร จะยิ่งรักษายากขึ้นเท่านั้น

แผนงานที่เผยแพร่ในปี 2022 ระบุว่า จีนได้กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการนำร่องในโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศในช่วงปี 2022-2025 ซึ่งจะเน้นจัดการอาการปวดแบบครอบคลุมครบวงจร

ศูนย์จัดตั้งใหม่นี้เริ่มทำการประเมินโรงพยาบาลระดับชุมชน 30 แห่ง และวางแผนสร้างศูนย์รักษาอาการปวดที่ได้มาตรฐานในโรงพยาบาลระดับชุมชน 10-15 แห่งภายในปี 2024

‘ฟินแลนด์’ เร่งสอบสวนเรือขนส่ง ‘จีน-รัสเซีย’ หลังเกิดเหตุวินาศกรรม ทำ ‘ท่อก๊าซรั่ว-สายเคเบิลใต้ทะเลฟินแลนด์-เอสโตเนีย’ เสียหายหนัก

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 66 ‘สำนักงานสอบสวนแห่งชาติ’ ของฟินแลนด์ เดินหน้าคดีสืบสวนหาต้นต่อ การก่อวินาศกรรมท่อส่งก๊าซใต้ทะเล Baltic Connector Gas Pipeline ในบริเวณอ่าวฟินแลนด์ จนทำให้ก๊าซรั่วจนต้องปิดท่อก๊าซชั่วคราว ซึ่งในบริเวณใกล้เคียงกัน ยังพบว่า สายเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลได้รับความเสียหายด้วย

ถึงแม้ว่าเบื้องต้นจะไม่พบร่องรอยความเสียหายที่เกิดจากการใช้ระเบิด แต่เกิดจากการใช้กำลังเครื่องยนต์อื่น และยังพบวัตถุที่มีน้ำหนักมากตกอยู่ใกล้จุดที่เสียหาย จมฝังอยู่ใต้พื้นทะเล   ทางการฟินแลนด์จึงใช้คำว่า “มีการก่อวินาศกรรม” ท่อก๊าซ และ สายเคเบิลสื่อสาร จนได้รับความเสียหายมากที่ต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือนในการซ่อมแซม

เหตุเกิดขึ้นเมื่อช่วงราวๆ ตี 1 ของวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมาเมื่อ สถาบันตัวจับแผ่นดินไหวของนอร์เวย์ พบแรงสั่นสะเทือนใต้ทะเลบริเวณทะเลบอลติก ในเขตน่านน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟินแลนด์ถึง 2 จุด แต่แรงสั่นสะเทือนดังกล่าวยังถือว่าเบากว่าเหตุระเบิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream ของรัสเซียเมื่อปี 2022 มาก

เมื่อทางการฟินแลนด์เข้าไปสำรวจ พบว่า ท่อส่งก๊าซ Baltic Connector เกิดรอยรั่ว รวมถึงสายเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลในพื้นที่ใกล้เคียงก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน

ลำพังแค่ท่อส่งก๊าซเสียหายก็เรื่องใหญ่แล้ว แต่พอมีกรณีสายเคเบิลใต้ทะเลที่เชื่อมต่อระหว่าง ‘ฟินแลนด์’ กับ ‘เอสโตเนีย’ ถูกทำลายในลักษะเดียวกันด้วย ซึ่งสายเคเบิลส่วนที่เสียหายอยู่ในเขตของเอสโตเนีย ที่บริษัทของสวีเดนเป็นเข้าของความโกลาหลจึงยังจบง่ายๆ เมื่อประเทศผู้เสียหายมีทั้งที่เป็นสมาชิก และเกือบจะเป็นสมาชิก NATO จึงทำให้ถูกมองว่าน่าจะเป็นการก่อวินาศกรรม เพื่อขัดขวางการสื่อสารภายในระหว่างเอสโตเนีย สวีเดน ฟินแลนด์ หรือกับชาติสมาชิก NATO อื่นๆ

ด้าน ‘พอล โจนสัน’ รัฐมนตรีกลาโหมสวีเดนออกมากล่าวว่า มีการระดมทีมจากกองทัพ ตำรวจ และ หน่วยตระเวณชายฝั่ง ประสานงานกับทางเอสโตเนียเพื่อสืบสวนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมองว่าเป็น ‘คดีด้านความมั่นคงที่เกี่ยวกับการบ่อนทำลายโครงสร้างพื้นฐานของชาติ’ จึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากเป็นอันดับต้นๆ

ตามมาด้วย ‘เยนส์ สโทเทนเบิร์ก’ เลขาธิการ NATO ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่าน X ว่า ได้พูดคุยกับนายเซาลี นีนิสเตอ ผู้นำฟินแลนด์ถึงความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานใต้ทะเลของทั้งฟินแลนด์ และเอสโตเนียแล้ว ทาง NATO พร้อมร่วมแชร์ข้อมูล และให้การสนับสนุนพันธมิตรของเราอย่างเต็มที่ จึงกลายเป็นคดีที่มีหลายชาติ พัลวัน พัลเก เต็มไปหมด

โดยคดีท่อส่งก๊าซเป็นเขตของฟินแลนด์ จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเฮลซิงกิในการสืบสวน และต่อมาได้เปิดเผยว่า มีเรือต้องสงสัย 2 ลำ ที่อยู่ใกล้บริเวณจุดเกิดเหตุ ในช่วงเวลานั้น ก็คือ ‘เรือขนส่งพลังงานนิวเคลียร์ Sevmorput’ ของรัสเซีย และ ‘เรือขนส่งจีน Newnew Polar Bear’

แต่ถึงจะมีเรื่อลำอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงด้วย แต่ตอนนี้ ทีมสืบสวนขอโฟกัสแค่ 2 ลำนี้ เพราะคดีนี้ ถูกมองในมุมมองของ NATO เรียบร้อยแล้ว ก็เหลือแค่เรือจาก 2 สัญชาตินี้เท่านั้นที่น่าสงสัยที่สุด

จากข้อมูลเดินเรือ พบว่าเรือทั้ง 2 ลำกำลังมุ่งหน้าไปเทียบฝั่งที่ท่าเรือเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก โดยเรือของจีนตามหลังเรือของรัสเซียอยู่เล็กน้อย ขณะผ่านใกล้จุดเกิดเหตุ

ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศฟินแลนด์ ได้ประสานผ่านช่องทางการทูตถึงรัฐบาลจีน และรัสเซีย เพื่อบอกให้รู้ว่าฟินแลนด์จะต้องสืบสวนเส้นทางของเรือทั้ง 2 สัญชาตินี้แล้ว ซึ่ง ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ผู้นำรัสเซียออกมากล่าวว่า เป็นข้อกล่าวหาที่ไร้สาระมาก แค่มีเรือบรรทุกน้ำมันรัสเซียลอยอยู่แถวนั้น เป็นผู้ต้องสงสัยแล้วหรือ

แต่มาวันนี้ มีรายงานเพิ่มเติมจากฟินแลนด์ว่า น่าจะโฟกัสที่เรือ Newnew Polar Bear ของจีนมากกว่า เพราะลอยอยู่ใกล้จุดที่เกิดเหตุ ในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่าเรือของรัสเซีย
ซึ่ง Newnew Polar Bear ปักธงฮ่องกงในการเดินทางก็จริง แต่บริษัทของจีนแผ่นดินใหญ่เป็นเจ้าของชื่อ ‘Hainan Xin Xin Yang Shipping’

แต่ทางการฟินแลนด์ และเอสโตเนีย ยอมรับว่าคดีนี้มีความอ่อนไหวทางการเมือง และการทูตอย่างมาก จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เมื่อต้องแถลงข้อมูลออกสื่อ ถ้าไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจริงๆ

เพราะเดี๋ยวจะเหมือนกรณีข้อพิพาท ‘อินเดีย-แคนาดา’ ที่ตอนนี้ยังมองหน้ากันไม่ติด กลายเป็นวิกฤติการทูตที่ใช้เวลาซ่อมนานยิ่งกว่าท่อส่งก๊าซใต้ทะเลบอลติกเสียอีก

‘นักวิทย์ฯ จีน’ ผุดวัสดุก่อสร้างแบบใหม่ แรงบันดาลใจจาก ‘หนอนทะเล’ ช่วยประหยัดพลังงาน-ปล่อยคาร์บอนต่ำ-ลดมลพิษในภาคการก่อสร้าง

(22 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้พัฒนาวัสดุก่อสร้างแบบใหม่ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากหนอนทะเล โดยมีศักยภาพประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซมลพิษในภาคการก่อสร้าง

‘หวังซู่เทา’ ผู้ร่วมเขียนผลการศึกษาและนักวิจัยประจำสถาบันเทคนิคฟิสิกส์และเคมี (TIPC) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่าวัสดุก่อสร้างจากซีเมนต์แบบดั้งเดิมใช้พลังงานมากในการผลิต ขณะเดียวกันก่อเกิดการปล่อยคาร์บอนมาก การพัฒนาวัสดุใหม่นี้จึงมีนัยสำคัญ

คณะนักวิจัยสังเกตเห็นว่าหนอนทะเลอย่าง ‘หนอนปราสาททราย’ (Sandcastle worm) สร้างรังอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถเชื่อมเม็ดทรายหรือเศษเปลือกหอยเข้าด้วยกันโดยใช้สารยึดติดที่หลั่งออกมาจากข้างในตัวมาก่อสร้างอาณาจักรปราสาททรายของตัวเอง

ทั้งนี้ คณะนักวิจัยพัฒนาวัสดุก่อสร้างแบบใหม่โดยใช้ประโยชน์จากสารยึดติดธรรมชาติอันมีแรงบันดาลใจมาจากหนอนทะเลดังกล่าว โดยวัสดุใหม่นี้ผลิตได้ในอุณหภูมิและความกดอากาศต่ำ สามารถประยุกต์ใช้กับทรายจากทะเลทราย ทรายทะเล ตะกรันคอนกรีต ขี้เถ้าถ่านหิน และกากแร่ธาตุ

วัสดุใหม่นี้มีประสิทธิภาพเชิงกลที่ดี ความสามารถรีไซเคิล รวมถึงคุณสมบัติต้านทานการผุกร่อนและความสามารถปรับขนาด โดยหวังกล่าวว่าประสิทธิภาพอันรอบด้านเหล่านี้อาจช่วยให้วัสดุใหม่กลายเป็นวัสดุก่อสร้างที่น่าสนใจในการก่อสร้างแบบปล่อยคาร์บอนต่ำรุ่นใหม่

อนึ่ง คณะนักวิจัยได้เผยแพร่ผลการวิจัยผ่านวารสารแมตเตอร์ (Matter) เมื่อไม่นานนี้

'จีน' สั่งสอบด่วน!! คลิปพนักงานฉี่ใส่ถังเบียร์ชิงเต่า พบเป็นคนนอก ถือเป็นวินาศกรรมร้ายแรงแห่งวงการ

ทางการจีนทนเฉยไม่ไหว สั่งสอบสวนด่วน เหตุคลิปฉาวที่ถ่ายจากภายในโรงงานเบียร์ชิงเต่าของจีน ที่พบพนักงานในเครื่องแบบสีฟ้าปีนขึ้นไปบนกำแพงแล้วฉี่ใส่แทงก์เก็บส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตเบียร์ยี่ห้อดัง จนฉาวไปทั่วโลกออนไลน์ของจีน และมียอดวิวทะลุ 10 ล้านครั้งใน Weibo เพียงชั่วข้ามคืน 

สื่อจีนรายงานว่า โรงงานที่ปรากฏในคลิปเชื่อว่าเป็น Tsingtao Brewery No.3 ที่ตั้งอยู่ในเขตผิงตู ของเมืองชิงเต่า มณฑลชานตง ซึ่งเป็นเมืองต้นกำเนิดเบียร์ชื่อดัง

ด้าน Tsingtao Brewery บริษัทเจ้าของเบียร์ได้ออกแถลงการณ์ทันทีหลังพบคลิปที่แพร่กระจายว่อนไปทั่วโลกโซเชียลจีนตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทติดตาม สอบสวนเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างเร่งด่วนที่สุด และแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแทงก์ส่วนผสม และเบียร์ทั้งล็อตที่ผลิตในวันนั้นถูกเก็บ และปิดผนึกแล้วทั้งหมด 

ต่อมามีรายงานว่าได้ควบคุมตัวชายผู้ต้องสงสัยว่าเป็นบุคคลในคลิป ที่อุตริปีนขึ้นไปยืนฉี่ใส่แทงก์เบียร์ พร้อมกับผู้สมรู้ร่วมคิดอีกคนที่เป็นคนถ่ายคลิปได้แล้ว เบื้องต้น ยืนยันว่าทั้งคู่ไม่ใช่พนักงานประจำของโรงงานเบียร์ชิงเต่า แต่เป็นพนักงานจากบริษัทภายนอกที่จ้างงานชั่วคราว แต่ได้แอบลักลอบเข้าไปในโรงงานเบียร์ช่วงกลางคืน และกระทำสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นการก่อวินาศกรรมร้ายแรงในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร 

'Tsingtao' ถือเป็นแบรนด์ที่ผลิตเบียร์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศจีน และมียอดการส่งออกเป็นอันดับ 1 ที่กินส่วนแบ่งการตลาดเบียร์ส่งออกของจีนถึง 50% ปัจจุบัน Tsingtao Brewery เป็นโรงงานผลิตเบียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก และทำให้ 'เบียร์ชิงเต่า' เป็นภาพลักษณ์ของเบียร์จีนในตลาดโลก 

จากคลิปเหตุฉาวครั้งนี้ สั่นสะเทือนภาพลักษณ์ และ ความเชื่อถือต่อแบรนด์เป็นอย่างมาก จนสื่อนอกขนานนามว่าเป็น 'Pee-gate' หรือ 'คดีฉี่ฉาว' ที่อาจสร้างผลกระทบต่อมูลค่าของบริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างมหาศาล 

ซึ่งคล้ายกับคดีของเครือร้านซูชิเจ้าดังของญี่ปุ่น ที่เคยเกิดกรณีเด็กมัธยมเล่นตลกด้วยการแอบถ่ายคลิปตนเองกำลังเลียขวดซอสโชยุของร้านเผยแพร่ทางออนไลน์ จนสร้างความไม่สบายใจต่อลูกค้าของร้านเป็นวงกว้าง ทำให้แบรนด์ของร้านซูชิเจ้าดังสูญเสียมูลค่าทางการตลาดไม่น้อยกว่า 122 ล้านเหรียญภายในชั่วข้ามวัน จากความคึกคะนองของเด็กเพียงคนเดียว  

แต่ในกรณีของเบียร์ชิงเต่า ดูจะหนักกว่ามาก จนรัฐบาลจีนต้องสั่งให้สอบสวนเป็นกรณีเร่งด่วน ที่ต้องเร่งกู้ภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ให้ยังคงนึกถึงเบียร์จีน นึกถึงชิงเต่า ได้อย่างที่เคยเป็นมา

'จีน' ส่งเทียบเชิญ 'นักบินอวกาศต่างชาติทั่วโลก' ร่วมภารกิจท่องสถานีอวกาศของจีนในปี 2030

(25 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หลินซีเฉียง รองผู้อำนวยการองค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (CMSA) แถลงข่าวว่าจีนสามารถและพร้อมจะเชิญชวนนักบินอวกาศชาวต่างชาติเข้าร่วมภารกิจการเดินทางสู่สถานีอวกาศของจีน

หลินกล่าวว่ามีการส่งคำเชิญชวนไปทั่วโลก โดยยินดีต้อนรับทุกประเทศและภูมิภาคที่มุ่งมั่นใช้อวกาศอย่างสันติเพื่อร่วมมือกับจีนและเข้าร่วมภารกิจสถานีอวกาศของจีน โดยหลินเสริมว่าในอนาคตจะมีการเชิญชวนนักบินอวกาศชาวต่างชาติเข้าร่วมภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ของจีนด้วย

ทั้งนี้ จีนวางแผนส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์โดยมีมนุษย์ควบคุมภายในปี 2030 ซึ่งปัจจุบันจีนเดินหน้างานวิจัยและพัฒนาอย่างแข็งขันเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวตามกำหนดการ

หลินเน้นย้ำว่าการดำเนินงานทางวิศวกรรมอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีนมีวัตถุประสงค์เพื่อความสันติโดยเฉพาะ และจีนไม่เคยแสวงหาหรือจะแสวงหาการมีอำนาจนำในอวกาศ โดยจีนยินดีเดินหน้าความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศบนพื้นฐานของการใช้อย่างสันติ ความเท่าเทียม ผลประโยชน์ร่วม และการพัฒนาร่วมกัน

นอกจากนั้นหลินเสริมว่าการทำงานร่วมกันนั้นครอบคลุมการเดินทางสู่อวกาศร่วมกันของนักบินอวกาศ การพัฒนาและการทดลองอุปกรณ์บรรทุก (payload) ในอวกาศ การกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมในอวกาศ และการศึกษาวิทยาศาสตร์การบินและอวกาศสำหรับเยาวชน

ส่องสาระสำคัญ 'ไทย-จีน-รัสเซีย' จากงาน BRF ครั้งที่ 3 ท่ามกลาง 'ข้อเสนอ' ที่มีมากกว่า 'ท่วงท่า' และ 'ถุงเท้า' 

อาจจะถูกโฟกัสไปแต่ประเด็นทางกายภาพของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ครั้นได้มีโอกาสเข้าหารือแบบทวิภาคีกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำแห่งรัสเซีย รวมถึงผู้นำจีนอย่าง สี จิ้นผิง

แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อวันที่ วันที่ 17-19 ต.ค.ที่ผ่านมา ในการเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ในช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีโอกาสหารือทวิภาคีกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน (Mr. Vladimir Putin) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ก็ต้องยอมรับว่า วันนั้นีสาระสำคัญมากมายที่ควรสรุปให้ทราบ...

>> กับ รัสเซีย...
การที่นายกฯ ได้พบหารือกับประธานาธิบดีปูติน ถือเป็นโอกาสอันดีในการแสดงเจตจำนงร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยรัสเซียถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน และทั้งสองฝ่ายก็เพิ่งฉลองครบรอบ 125 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเมื่อปี 2565 และนี่ก็ถึงเวลาที่ ไทย-รัสเซีย ควรร่วมมือกันเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและเป็นรูปธรรม

ในวันนั้น ปูติน พูดกับนายกฯ เศรษฐา โดยกล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยาวนานระหว่างไทยกับรัสเซีย พร้อมทั้งเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคีมากขึ้น โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ในระดับประชาชนที่แน่นแฟ้นอย่างมาก

ที่น่าสนใจ คือ โดยปี 2567 (ค.ศ. 2024) จะเป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไทย-รัสเซีย โดยเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวรัสเซียมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมากกว่า 1 ล้านคน และนายกฯ ก็ได้ขานรับทันทีว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 ทางครม. ของไทยได้มีมติเพิ่มวันพำนักให้ชาวรัสเซียจาก 30 วันเป็น 90 วัน แล้ว

นอกจากเรื่องท่องเที่ยว ยังมีการพูดคุยกันถึงสาระสำคัญด้านการเมือง โดยทั้งสองฝ่ายเห็นควรว่าต้องมีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างบุคลากรสภาความมั่นคงของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง

ส่วนด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยนายกฯ ขอให้ฝ่ายรัสเซียส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย

นอกจากนี้นายกฯ ยังได้เชิญประธานาธิบดีรัสเซียเดินทางเยือนไทย ซึ่งประธานาธิบดีตอบรับ โดยจะได้ร่วมกำหนดวันที่ทั้งสองฝ่ายสะดวกต่อไป...สวยงาม!!

>> กับ จีน...

สี จิ้นผิง ได้กล่าวกับนายกฯ เศรษฐา ว่า จีนเป็นประเทศแรกนอกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เศรษฐาเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งสะท้อนอย่างเต็มที่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ของไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทวิภาคีอย่างมาก

โดยจีนพร้อมทำงานร่วมกับไทยเพื่อสร้างนิยมความเป็นไปได้ในยุคใหม่นี้ให้กับคำกล่าว "จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" อย่างต่อเนื่อง และทำให้ข้อได้เปรียบของมิตรภาพอันยาวนานเป็นพลังขับเคลื่อนความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน

สี จิ้นผิง กล่าวอีกว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งรัดการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย พร้อมทั้งขยับขยายความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล, การพัฒนาสีเขียว และพลังงานใหม่ ตลอดจนเสริมความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและการพนันออนไลน์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอันปลอดภัยสำหรับการพัฒนาของ 2 ประเทศ

สี จิ้นผิงเสริมว่า จีนยินดีแบ่งปันโอกาสจากตลาดขนาดใหญ่และการเปิดกว้างระดับสูงของจีน เพื่อเพิ่มพูนพลังเชิงบวกสู่การพัฒนาของเอเชีย 

แน่นอนว่า ทางด้านนายกฯ ไทย ก็แสดงความยินดีในการที่จะทำงานร่วมกับจีน เพื่อสร้างประชาคมไทย-จีน ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ นายกฯ ก็ยังได้โชว์แผนแลนด์บริดจ์เชื่อม BRI ภายใต้งบลงทุนในระดับ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเชิญชวนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาร่วมลงทุน มหาโปรเจกต์เชื่อมโยงสองฝั่งท่าเรืออันดามัน-อ่าวไทยครั้งใหญ่นี้

โดยนายกฯ ได้กล่าวอีกด้วยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งให้ความเห็นชอบแนวทางการศึกษาและแผนการดำเนินงานโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทยและมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นที่เรียบร้อย

ขณะเดียวกัน ยังเผยถึงแนวทางปรับปรุงการเชื่อมต่อในพื้นที่อันดามันทางตอนใต้ ลดเวลาการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา ภายใต้แนวคิด 'One Port, Two Sides' ในระยะทางทางบก 90 กิโลเมตรทางภาคใต้ของไทยด้วย

แน่นอนว่า สาระสำคัญเกิดขึ้นกับงาน BRF ครั้งที่ 3 ระหว่าง ไทย-จีน และ ไทย-รัสเซีย ไม่ใช่แค่การแวะเวียนมานำเสนอตัวเองของนายเศรษฐาเป็นแก่น แต่เป็นความพยายามของรัฐบาลที่ถือโอกาสใช้เวทีนี้โชว์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆ อย่างยั่งยืนกับทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจใหม่นี้ ภายใต้ความสัมพันธ์อันดีที่ถูกเปิดมาตั้งแต่ครั้นรัฐบาลก่อนหน้า

ที่เหลือก็แค่รอดูผลลัพธ์...ต่อไป!!
 

เตือนกลุ่มเสี่ยง!! หลังคนไทยเสียชีวิตที่ 'ลี่เจียง' ผลข้างเคียงจากการขึ้นไปในระดับพื้นที่สูง

(26 ต.ค. 66) กลายเป็นเรื่องต้องระวังอย่างจริงจัง หลังจากผู้ใช้โซเชียลท่านหนึ่งไม่ระบุนาม ได้เผยว่า ไม่นานมานี้ เพื่อนแพทย์รุ่นเดียวกับเขาได้เสียชีวิต จากการไปเที่ยวที่สูงใน 'ลี่เจียง' ประเทศจีน โดยเกิด Pulmonary edema ซึ่งเป็นกลุ่มอาการจาก High altitude sickness จึงฝากเตือนคนไทยในยามนี้สำหรับบุคคลที่อาจจะเจออาการเสี่ยงดังกล่าวได้ พร้อมทั้งแนบคำเตือนจากกระทรวง ตปท.ไทย ที่เคยเตือนไว้ตั้งแต่ปี 2562 และมีการแก้ไขอัปเดตเนื้อหาเมื่อปี 2565 โดยมีรายละเอียด ดังนี้...

ข่าวประชาสัมพันธ์สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง

เรื่อง แจ้งเตือนคนไทยที่จะเดินทางไปยังประเทศจีนที่มีระดับพื้นที่สูง

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ขอแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์มายังประชาชนชาวไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปท่องเที่ยวหรือพำนักในมณฑลยูนนาน โดยเฉพาะเมืองลี่เจียงและเมืองแชงกรีล่าซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่มีระดับความสูงเหนือน้ำทะเลประมาณ 3,000 - 4,000 เมตร หรือเมืองอื่น ๆ ในประเทศจีนที่เป็นเขตพื้นที่ราบสูง เช่น ทิเบต, ซินเจียง, ชิงไห่ ซึ่งมีคนไทยหลายรายประสบปัญหาด้านสุขภาพเป็นโรคแพ้พื้นที่สูง หรือ High altitude sickness เมื่อเดินทางมายังพื้นที่เหล่านี้

โรคแพ้พื้นที่สูง คือ อาการของร่างกายที่ขาดออกซิเจนจากการอยู่บนที่สูง ซึ่งมีอากาศเบาบาง (ยิ่งสูง ออกซิเจนก็ยิ่งน้อยลง) เนื่องจากบนที่สูง ความหนาแน่นของโมเลกุลออกซิเจนจะน้อยกว่าอากาศในที่ต่ำใกล้ระดับน้ำทะเลอย่างประเทศไทย ฉะนั้นการสูดลมหายใจเต็มปอด 1 ครั้ง จะได้จำนวนปริมาตรของอากาศน้อยลงกว่าเดิม ทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจนแบบไม่รู้ตัว และร่างกายทำงานหนักขึ้นเพื่อปรับตัว เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น กระดูกไขสันหลังผลิตเม็ดเลือดมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในร่างกาย เป็นต้น จนทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา ตั้งแต่อาการเล็ก ๆ น้อย ๆ จนกระทั่งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยคนทั่วไปมักจะเริ่มมีอาการเมื่ออยู่บนพื้นที่สูงตั้งแต่ 3,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งมีปริมาณออกซิเจนเพียง 75% ของอากาศระดับน้ำทะเลในปริมาตรที่เท่ากัน 

อย่างไรก็ดี บางคนอาจมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ และเหนื่อยง่ายได้ แม้ว่าจะอยู่ในระดับความสูงเพียงประมาณ 1,800 เมตรอย่างในนครคุนหมิง

โรคแพ้พื้นที่สูงแบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการ ได้แก่...

1. Acute Mountain Sickness (AMS) เป็นอาการเริ่มแรก เช่น มีอาการปวดหัวเล็กน้อย นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เป็นต้น หากมีอาการเช่นนี้ ให้พักผ่อนมาก ๆ หลีกเลี่ยงการขึ้นไปยังที่สูงกว่านี้ ควรพักผ่อนจนกว่าจะอาการดีขึ้นถึงไปต่อ หากแย่ลง อาการจะหนักขึ้นไปเป็นกลุ่มอาการที่ 2 หรือ 3

2. High Altitude Cerebral Edema หรือภาวะสมองบวมจากการแพ้พื้นที่สูง อาการนี้เป็นอาการต่อเนื่องจาก AMS โดยมีอาการปวดหัวรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียนมาก เดินเซ ชัก พูดไม่รู้เรื่อง โคม่า หรือเสียชีวิต หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบลงจากระดับความสูงนั้นให้เร็วที่สุด และไปพบแพทย์ในทันที

3. High Altitude Pulmonary Edema (HAPE) หรือน้ำท่วมปอดจากการแพ้พื้นที่สูง จะมีอาการเช่น เหนื่อยมากขึ้น โดยมักมีอาการเหนื่อยตอนกลางคืน และไอแห้ง ๆ ข้อแตกต่างระหว่างอาการกลุ่ม AMS และอาการกลุ่มนี้ คือ หากเป็น AMS เมื่อหยุดพักแล้ว จะมีอาการดีขึ้น แต่หากเป็นกลุ่มอาการ HAPE แม้ว่าจะพักสักระยะหนึ่งแล้ว ก็ยังมีอาการเหนื่อยมากขึ้น และอยู่เฉย ๆ ก็รู้สึกเหนื่อย ซึ่งแสดงถึงอาการที่อันตรายมาก ต้องพบแพทย์และลงจากที่สูงในทันที

สำหรับอาการของโรคแพ้พื้นที่สูง ในช่วง 6-12 ชั่วโมงแรก ร่างกายอาจจะยังไม่รู้สึกผิดปกตินัก เนื่องจากอาจจะยังมีออกซิเจนสะสมในร่างกายอยู่ แต่เมื่อออกซิเจนในร่างกายน้อยลง จะเกิดอาการดังนี้...

- เหนื่อยง่าย หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพราะเกิดจากการปรับตัวโดยธรรมชาติของร่างกาย
- ปวดศีรษะด้านใต้ท้ายทอย เพราะเป็นสมองที่สั่งงานเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
- อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ปากเขียวคล้ำ ฯลฯ แล้วแต่บุคคล แต่หากมีอาการขั้นรุนแรง อาจช็อก หรือเสียชีวิตได้

>> แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองเป็นโรคแพ้พื้นที่สูงหรือไม่? และจะต้องเตรียมตัวอย่างไร?

สำหรับอาการแพ้พื้นที่สูงนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศทุกวัย แม้ว่าผู้สูงอายุอาจจะมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวของร่างกายอาจไม่ดีเท่ากับคนวัยหนุ่มสาว และอาจมีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยช่วยเร่ง แต่ที่ผ่านมา ก็พบว่า เด็ก วัยรุ่น และคนวัยทำงาน ก็มีอาการของโรคนี้ได้เช่นกัน

ดังนั้น จึงควรเตรียมตัวให้พร้อมในการเดินทางไปยังมณฑลยูนนานหรือเมืองอื่น ๆ ในประเทศจีนที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยควรอยู่พักในพื้นที่ที่ไม่สูงมากนักก่อนเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว ก่อนที่จะขึ้นไปยังที่สูงขึ้นไป หากทราบว่าตนมีความเสี่ยงอยู่แล้ว ควรพกขวดออกซิเจนไว้ (ซึ่งมีจำหน่ายตามสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ภูเขาหิมะมังกรหยกในเมืองลี่เจียง) หรือเตรียมยาประจำตัว (หากมี) ให้เพียงพอระหว่างการเดินทาง

ที่สำคัญ สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอแนะนำให้ทุกท่านซื้อประกันสุขภาพไว้ ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินจากการเป็นโรคแพ้พื้นที่สูงเช่นนี้ 

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง
มีนาคม 2562


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top