Monday, 20 May 2024
คนไทย

ลุ่มหลง สันดาน อคติ วิธีคิด ความเชื่อ ‘คนใน 14 ล้าน’ VS ‘คนนอก 14 ล้าน’

14 ล้านเสียง ส่วนลึกอาจจะเกลียดสถาบันกษัตริย์ และอยากให้ล้มล้าง ทำลาย เพื่อไปสู่การปกครองแบบอื่น แต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก ได้แต่แอบๆ แฝงตัวกลมกลืนไปกับสังคมแบบเนียนๆ จึงเลือก ‘พรรคล้ม 112’ ให้มาทำหน้าที่แทน แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขาอยากให้ดำรงสถาบันฯ ไว้ ด้วยความรัก และศรัทธา

14 ล้านเสียง บางคนอาจจะรักสถาบันฯ แต่ก็ ‘เบาปัญญา’ และ ‘ตื้นเขิน’ จนดูไม่ออกสักนิดเลยว่าได้เลือกกลุ่มคนที่คิด ‘ล้มล้างสถาบัน’ ที่ตนเองรักเข้ามา ผ่านความปลิ้นปล้อน กะล่อน กลิ้งกลอก และซ่อนเร้น แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขาดูออก วิเคราะห์ขาด และมองว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นอันตรายต่อประชาชน และประเทศชาติของเรา

14 ล้านเสียง อาจจะไม่คิดว่าสถาบันฯ มีความเกี่ยวข้อง และมีคุณค่าต่อคนไทยเราทุกคน แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ ส่วนใหญ่ เขากลับคิดว่าคนไทยทุกคนต่างเป็น ‘หนี้บุญคุณ’ สถาบันกษัตริย์ จึงรู้สึกซาบซึ้ง และภูมิใจที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

14 ล้านเสียง ที่เคยบอกรักในหลวง และร้องห่มร้องไห้ตอนปลายปี 2559 แต่ก็เลือก ‘พรรคล้มสถาบัน’ ให้เข้ามา จึงดูเป็นคนย้อนแย้ง ไม่จริงใจ ไม่น่าคบค้าสมาคม แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขาจะไม่มีทางหันมอง หรือสนับสนุน ‘พรรคล้มสถาบัน’ และเห็นแน่ชัดว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่หวังดีต่อสังคมไทย

14 ล้านเสียง อาจจะชอบให้แก้กฎหมายหมิ่นบุคคลธรรมดาให้โทษเบาลง แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขาไม่เห็นด้วย และคิดว่าสังคมไทยจะวุ่นวายมากขึ้น ต่อ ๆ ไปคนเราจะด่ากัน หมิ่นประมาทกันได้รายวัน และรอดพ้นความผิดเพียงแค่มีเงิน

14 ล้านเสียง อาจจะเลือก ‘พรรคล้มสถาบัน’ เพราะเชื่อว่านโยบายต่างๆ จะทำได้จริง แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขาไม่โง่เชื่อแบบนั้น เพราะไม่มีทางที่นโยบายที่ดี ถ้าตกอยู่ในมือของคนที่โกหกเป็นอาชีพ ก็ไม่มีทางที่จะเป็นจริงได้ ดังวลีที่ว่า ‘คนโกหกไม่ทำชั่วนั้นไม่มี’

14 ล้านเสียง จำนวนไม่น้อย อาจจะเลือก ‘พรรคล้มสถาบัน’ เพราะตามเพื่อน ตามลูก ตามผัว หรือตามกระแสสังคมที่ตื่นเต้นไปกับสิ่งใหม่ โดยที่ไม่คิดศึกษา ลงลึก ใส่ใจวิเคราะห์อย่างละเอียด ที่สุดก็ปล่อยให้ ‘พรรคล้มสถาบัน’ เข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมไทย และตนเองก็ไม่มาใส่ใจดูแล หรือสำนึกผิด แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขาศึกษามาดี และเสียสละเวลาในชีวิตคอยอยู่รับมือ คอยตั้งรับ คอยปกป้อง คอยต่อสู้ในสิ่งที่เขาไม่ได้เลือกอย่างกล้าหาญ และไม่เคยกลัวว่าชีวิตจะมีปัญหา

14 ล้านเสียง อาจจะชอบให้ ‘พรรคล้ม 112’ ที่ตนเองเลือก ทำการล้างสมองเยาวชนของชาติ ให้ไปขีดเขียนกำแพงวัดพระแก้ว หลอกเด็ก ๆ ให้ไปทำในเรื่องที่ทำลายวัฒนธรรมอันดีงาม ทำสิ่งที่ขัดต่อกติกาสังคม และออกหน้าแทนในที่ชุมนุมเพื่อ ‘ล้ม 112’ แต่ ‘คนนอก14 ล้าน’ เขาสงสาร และเป็นห่วงเด็กๆ ที่ยังอ่อนเดียงสา ด้วยเด็กๆ ไม่มีทางรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของ ‘นักการเมืองใจอำมหิต’ และสุดแสนจะ ‘ขี้ขลาด’ เหล่านี้ จึงถือว่าเป็น ‘กลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่’ ที่มีจิตใจต่ำ และไร้ความจริงใจต่อคนร่วมชาติอย่างไม่น่าให้อภัย

14 ล้านเสียง อาจจะชอบให้ ‘พรรคล้มเจ้า’ รับเงินจากชาติตะวันตก มาทำลายประเทศไทยของตัวเอง แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขารู้เท่าทัน และพร้อมจะปกป้องประเทศไทยของเขาเท่าชีวิต

14 ล้านเสียง อาจจะชอบให้มีการแบ่งแยกดินแดนไทย และอาจจะหลงลืมเลือดเนื้อของบรรพบุรุษที่สละแลกเพื่อมาให้แผ่นดินไทยดำรงอยู่ แต่ ‘คนนอก 14 ล้าน’ เขามีสามัญสำนึก เขาไม่เคยลืม ยังคงเดินหน้าปกป้อง รักษาไว้ดังเดิม ไม่ปล่อยให้คนโฉดชั่วมากัดเซาะทำลาย ด้วยเขารักแผ่นดินชาติ เกินกว่าจะแยกขาดออกจากกันได้

คนใน 14 ล้าน กับ เรา จึงต่างใจกันมาก

ส่วนตัวผมจึงไม่ศรัทธา ‘คนไทยหัวใจอุบาทว์’ เช่นนี้

‘นายกฯ เศรษฐา’ ขอบคุณนิด้าโพล เผย ปชช. พอใจผลงาน ชี้!! เหมือนได้พลังใจทำงาน-สร้างผลสำเร็จให้พี่น้องคนไทย

(30 ต.ค. 66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับทราบผลนิด้าโพล ‘สนใจเรื่องนายกฯ เศรษฐา เยือนต่างประเทศหรือไม่’ โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณประชาชนที่พอใจการทำงาน เป็นเสมือนกำลังใจในการทำงาน พร้อมพิสูจน์ผลงานกับคนที่ยังไม่พอใจ

โดยต่อคำถามเรื่อง ‘ความพอใจ’ ในบทบาทและผลงานของนายกรัฐมนตรี มีผู้พอใจมากร้อยละ 18.40 ค่อนข้างพอใจร้อยละ 36.87 และเรื่อง ‘ความพอใจ’ ต่อบทบาทของนายกฯ เกี่ยวกับการเดินทางเยือนต่างประเทศ มีผู้พอใจมากร้อยละ 23.40 ค่อนข้างพอใจร้อยละ 46.31

นายชัย กล่าวว่า ความพึงพอใจของประชาชนนี้เป็นพลัง เป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีพร้อมตั้งใจทำงานต่อไปเพื่อให้ผลของการทำงานที่ผ่านมาออกดอกออกผล เห็นเป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีเป้าหมายในการทำงานเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ลดหนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจภาพรวมให้ประเทศไทยเติบโตพัฒนาเท่าทันโดดเด่นในภูมิภาค ซึ่งรัฐบาลพร้อมทำงานเพื่อพิสูจน์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคน

“นายกรัฐมนตรีตั้งใจทำงานตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาเพื่อเศรษฐกิจภาพรวม และชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน แก้ไขปัญหา พัฒนาเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาอย่างเท่าทันกระแสโลก 

ทั้งนี้ ในการเดินทางของนายกรัฐมนตรีทุกครั้ง ตั้งใจให้ได้ผลสำเร็จมากกว่าการผูกสัมพันธ์ทวิภาคี และพหุภาคี ต้องการให้เกิดมิติความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ในด้านที่เป็นประโยชน์ อุตสาหกรรมอนาคต อุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เพื่อพัฒนาประเทศและคนไทย” นายชัย กล่าว

มอง 'เกาหลี' อีกด้าน ผ่านมุมแอร์โฮสเตสสายการบินเกาหลี สะท้อนความเป็นจริงของคนชาตินี้ ที่คนไทยต้องเผื่อใจไว้

เมื่อไม่นานมานี้ จากช่องยูทูบ ‘Crew Wings พี่มีนาสอนแอร์’ กับอีพีล่าสุด ‘ชีวิตแอร์โฮสเตสสายเกาหลี จริงหรือไม่? คนเกาหลีไม่คุยกับคนไทย อยู่ยากแต่อยู่ได้’ ได้เชิญ ‘คุณนุ้ก’ อดีตแอร์โฮสเตสมากประสบการณ์ถึง 3 สายการบินด้วยกัน ทั้งไทยและต่างประเทศ อย่าง Nok Air, Thai AirAsia และ Korean Air มาพูดคุยถึงเรื่องราวและการใช้ชีวิตอยู่ที่เกาหลีแบบเจาะลึก โดยช่วงหนึ่งของรายการนั้น ‘คุณนุ้ก’ ได้แชร์ประสบการณ์หลังตนได้เป็นลูกเรือสายการบิน Korean Air และได้รับการปฏิบัติที่ไม่ค่อยดีนักจากเพื่อนร่วมงาน โดยระบุว่า…

"เป็นเหตุการณ์ที่เราทำงานหนักมาก…อย่างบนเครื่องก็จะได้ยินเสียงเด็กจูเนียร์กำลังนินทาในระยะใกล้ ๆ กัน ซึ่งหน้าที่ที่ได้ทำนั้นจะเกี่ยวกับการเช็กอาหารทั้งหมดบนเครื่องบิน คอยเสิร์ฟและดูแลผู้โดยสาร แต่มันก็จะมีงานเล็ก ๆ อย่างเช่น เอาผ้าขนหนูใส่ตะกร้า ซึ่งงานนี้จริง ๆ เป็นงานที่ใครทำก็ได้ จูเนียร์ทำก็ได้ หรือใครที่ว่างก็สามารถมาทำงานนี้ได้ แต่สุดท้ายแล้วงานนี้ก็ตกมาเป็นความรับผิดชอบของคนที่เป็นครัวก็คือเราอยู่ดี"

แต่ที่ทำให้คุณนุ้กไม่ประทับใจอย่างมาก คือ เด็ก 2 คนนี้ที่อายุเด็กกว่าและรุ่นก็เด็กกว่า เขาก็มีการพูดคุยกันเอง 2 คนว่า “เธอไปดูซิว่าลูกเรือต่างชาติเขารุ่นอะไร ทำไมงานนี้เขาไม่ยอมทำ ไปดูซิเขารุ่นอะไร และทำงานมากี่ปีแล้ว” ซึ่งพูดในระยะที่ใกล้กัน เราก็เลยหันกลับไปตอบเป็นภาษาเกาหลีว่า "รุ่น 14 ทำไมเหรอ มีอะไรหรือเปล่า"

"สถานการณนี้มันเหมือนกับเวลาเรานินทาคนต่างชาติเป็นภาษาไทย และเขาตอบมาเป็นภาษาไทยที่ชัดมากประมาณนั้น ซึ่งสีหน้าของคนเกาหลีตอนนั้นคือหน้าซีดไปเลย เพราะเราฟังออก และเราก็เจอเหตุการณ์แบบนี้ที่รู้สึกว่ามันก็หลายครั้ง"

คุณนุ้ก มองว่า "หลายครั้งที่งานก็หนักแล้วยังโดนแบบนี้อีก แต่พอเจอบ่อย ๆ ก็เริ่มรู้แล้วว่าสถานการณ์ประมาณนี้คือ เขากำลังนินทาเราอยู่ ซึ่งตอนแรกบางทีก็อยากรู้ว่าพูดอะไรกัน แต่พอหลัง ๆ คือเดินหนี เพราะเริ่มรู้สึกไม่อยากฟัง เพราะฟังแล้วมันแปลออก มันก็เป็นความที่รู้สึกที่รู้สึกว่ามันโดดเดี่ยวเกินไปเปล่า … เข้าใจว่ามาทำงาน แต่อันนี้มันดูถูกกันเกินไปในบางครั้ง โดยเฉพาะการพูดการจาของเขา"

เมื่อพิธีกรถามว่าบนไฟลท์ไม่มีคนไทยคนอื่นเลยเหรอ? คุณนุ้ก ได้ตอบว่า “มีคนเดียว เพราะถ้าไปต่างประเทศแบบยุโรปหรืออเมริกา เราจะมีลูกเรือไทยคนเดียว แต่ถ้าเกิดเป็นไฟลท์ที่เป็น 'เกาหลี-ไทย' หรือ 'ไทย-เกาหลี' อาจจะมีลูกเรือไทย 2 คน ซึ่งแบบนี้ก็มีเพื่อนคนไทย แต่คนไทยห้ามคุยกันนะ สมมติถ้าเขาได้ยินเสียงเราพูดภาษาไทย ก็จะโดนบอกให้แยก ๆ รำคาญ ภาษาอังกฤษก็คุยไม่ได้ ห้ามคุยเลย เพราะไม่ชอบได้ยินเสียงภาษาอื่น ถ้าเขาเห็นเราอยู่ใกล้กันก็จะถูกจับแยกเหมือนกัน”

คุณนุ้ก กล่าวอีกว่า "จริง ๆ การเที่ยวหรืออยู่คนเดียวมันไม่หนักเท่ากับการที่ต้องรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานไม่เข้าข้างเรา ... โดยเฉพาะเมื่อเรามาทำงานเป็นลูกเรือ และยิ่งเราเป็นชาติอื่นที่ไม่ใช่ชาติเขาด้วยนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรามักจะถูกตัดสินว่าน่าจะเป็นเราที่ทำผิดเสมอ สมมติเราบอกว่าเกิดเคสน้ำเปล่าที่ผู้โดยสารทำหก และผู้โดยสารโอเคมากไม่ว่าอะไรเลย แต่ทางเพื่อนร่วมงานเหล่านี้ก็จะย้ำกับเราเสมอว่า 'แน่ใจเหรอว่าไม่มีอะไร แน่ใจใช่ไหมว่าผู้โดยสารทำไม่ใช่เราทำ' หรืออะไรก็ตามในเครื่องเสียหรือถูกผู้โดยสารคอมเพลนเขาก็จะตีความไปก่อนว่าเป็นลูกเรือต่างชาติที่เป็นคนทำ"

ทุกที่มีดีมีร้าย โดยเฉพาะตัวเฉพาะตัวบุคคลปะปนกันไป ยังไงก็ไม่ขอเหมารวมละกัน...   

'มุมมองต่างชาติ' ถึงคนรุ่นใหม่ไทย หากพ่อแม่รักเราแบบไม่มีเงื่อนไข แล้วทำไม ลูกๆ จะไม่อยู่เคียงข้าง และเลิกอ้าง 'การถูกทวงบุญคุณ'

เมื่อไม่นานมานี้ จากเพจเฟซบุ๊ก ‘David William’ หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ที่รู้จักกันบนโลกโซเชียลมีเดียจากการที่เขาสามารถใช้สำเนียงการพูดได้หลากหลายเพื่อคำคอนเทนต์สนุกๆ บนโลกโซเชียล จนยอดผู้ติดตามในเพจเฟซบุ๊กสูงถึง 1.4 ล้านคน โดยล่าสุดนั้น ‘ครูเดวิด วิลเลียม’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอในหัวข้อ ‘บุญคุณของพ่อแม่เป็นเรื่องสำคัญไหม?’ ผ่านมุมมองของคนอเมริกันหรือในฐานะชาวต่างชาติคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ทั้งอเมริกาและไทย โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้…

สิ่งแรกที่ต้องมาคุยกันก่อน คือ สำหรับชาวต่างชาติเรื่อง ‘บุญคุณ’ มันไม่ใช่ประเด็น เพราะเขาจะไม่เข้าใจมันด้วยซ้ำ และถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษจะไม่มีคำนี้เลย ดังนั้นสำหรับคนอเมริกันและคนยุโรปหลายคน เมื่ออายุ 18 ปีแล้วจะถูกเชิญออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง แต่ทุกวันนี้หากถามว่าดีขึ้นหรือมีการดูแลลูกมากกว่าเดิมไหม คำตอบคือ ‘มี’ อย่างเช่น ยังมีการจ่ายค่าเทอมสำหรับเรียนมหาวิทยาลัยให้อยู่ แต่ก็ไม่ใช่กับทุกคน เพราะฉะนั้นยังถือว่า 50/50 อยู่

ครูเดวิด วิลเลียม ยอมรับว่าตนก็เป็นเด็กคนนึงที่อายุยังไม่ถึง 18 ปี แล้วถูกคุณพ่อเชิญออกจากบ้าน ซึ่งก็ยอมรับเลยว่าเหตุการณ์ตอนนั้นมันเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกโกรธและทุกข์ทรมานมาก เพราะในฐานะลูกเราจะมีความรู้สึกที่ว่าพ่อแม่ควรจะดูแลเรารึเปล่า และถ้าหากมองในมุมวิทยาศาสตร์เรื่องนี้จะน่าสนใจมาก เพราะแท้จริงแล้วสมองของมนุษย์ยังไม่ได้ถูกพัฒนาออกมาให้สุด จนกระทั่งอายุ 25 ปี สิ่งนี้คือเรื่องที่สำคัญมากเพราะคนอเมริกันจะมองว่าคนที่อายุ 18 19 หรือ 20 ปี จะเหมือนผู้ใหญ่ แต่ในมุมวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงแล้วนั้น เด็ก ๆ เหล่านี้ยังไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ เพราะสมองของเขายังไม่โต ต้องรอจนกระทั่งอายุ 25 ปีก่อน ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต่างพูดกันทั่วโลกว่ามันเป็น ‘หน้าที่’ ที่พ่อแม่ควรจะดูแลลูกไปจนกระทั่งจบมหาวิทยาลัยและเริ่มมีวุฒิภาวะแล้ว ดังนั้นเรื่องนี้จึงสำคัญมาก และอยากให้ทุกคนเข้าใจกันก่อน เพราะฉะนั้นแล้วจะไม่ขอเหมารวมทุกครอบครัวเช่นกัน

ครูเดวิด ยังบอกอีกว่า แต่ ‘ประเทศในเอเชีย’ มักจะดูแลลูกได้ดีกว่าและมากกว่าทางตะวันตก เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ในประเทศเอเชียจะเข้าใจการดูแลลูกว่ามันไม่ใช้ ‘ทางเลือก’ แต่มันคือ ‘เรื่องจำเป็น’ ที่ต้องทำ และถ้าสังเกตดี ๆ คนเอเชียจะทำกันแบบนี้จริง ๆ แต่ก็จะมีคำถามที่ตามมาสำหรับบางกลุ่มคนโดยเฉพาะประเทศไทย เกี่ยวกับการดูแลพ่อแม่ ว่านี่คือนิยามของ ‘บุญคุณ’ 

ครูเดวิด อธิบายความถึงเรื่องนี้โดยเปรียบเทียบความต่างระหว่าง 'มนุษย์' กับ 'สัตว์' ไว้ว่า ถ้าถามว่า ‘สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม ทำไมยังดูแลลูกของตัวเองได้ ฉะนั้นพ่อแม่ก็ต้องดูแลเราได้เหมือนกันหรือไม่ ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องบุญคุณหรือเปล่า?’ ตรงนี้ผมยอมรับว่าไม่เห็นด้วย

ต้องแยกกันก่อนว่า ระหว่างที่สัตว์ชนิดนึงดูแลลูก และต้องขอใช้คำว่า ‘ตามมีตามเกิด’ ซึ่งก็คือการเลี้ยงตาม ‘สัญชาตญาณ’ ... แต่สำหรับการเลี้ยงลูกของมนุษย์นั้นมันไม่ใช่แค่เรื่องสัญชาตญาณ เพราะมันลึกกว่านั้นเยอะ 

เพราะอย่าลืมว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกพัฒนามากกว่าสัตว์หลายเท่าพันเท่า หากถามว่าการเลี้ยงลูกของมนุษย์มันเหมือนการเลี้ยงลูกตามสัญชาตญาณของสัตว์ไม่? คำตอบจึง ‘ไม่ใช่’

ผมขอเปรียบเทียบสมองของมนุษย์กับสัตว์แบบนี้ ถ้าตามหลักวิทยาศาสตร์ ถามว่าสัตว์มีความรู้สึก ‘ทางอารมณ์’ ไหม? อย่างการรักหรือเสียใจ ... คำตอบโดยพื้นฐานคือ ขอใช้คำว่า ‘ได้บ้าง’ แต่ ‘ไม่เต็มที่’ เหมือนกับมนุษย์ ฉะนั้นส่วนนี้จะมีความคล้ายคลึงกันระหว่างสัตว์กับมนุษย์ ซึ่งสามารถเข้าถึงอารมณ์ได้ทั้งคู่ 

แต่ความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างสัตว์กับมนุษย์ คือ มนุษย์จะสามารถ ‘คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ’ ได้ แต่สัตว์จะไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้ 

- ทุกอย่างที่สัตว์ชนิดนึงจะทำ ไม่ใช่ทำเพราะอยากทำ แต่จะทำเพราะสัญชาตญาณ 
- แต่สำหรับมนุษย์นั้น เวลาที่ทำสิ่งที่ดีหรือไม่ดี มันเป็นเพราะการตัดสินใจล้วน ๆ ที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาแล้ว และมองสิ่งนี้คือสิ่งที่อยากทำ 

นั่นแปลว่าเวลามนุษย์คนนึงเวลาตัดสินใจทำสิ่งที่ดีไม่ว่าจะเป็นการดูแลลูก ทุ่มชีวิตให้ คอยไปรับไปส่ง ใช้เงินทั้งหมดของตัวเองเพื่อที่จะเลี้ยงดูเขามายังดี หรืออะไรก็แล้วแต่ … เพราะมนุษย์เลือกที่จะทำมัน ซึ่งไม่ได้เป็นการทำตามสัญชาตญาณ

***ดังนั้น ถ้าหากเรามีพ่อแม่ที่ดี หรือคนที่คอยดูแลและเอาใจใส่อย่างดีโดยตลอด เราควรจะรักเขา… และมันก็ถูกต้องแล้วที่ต้องกลับไปช่วยเหลือในวันที่เขาไม่มีใคร หรือในวันที่เขาต้องการความช่วยเหลือ…หากสงสัยว่าทำไม? เพราะมันเป็นสิ่งที่เราควรทำ เนื่องจากเรามีมนุษย์คนนึงที่ดูแลเรามาอย่างดี และการดูแลนี้ไม่ใช่การเลือกทำตามสัญชาตญาณ แต่เป็นการเลือกที่จะ 'รัก' และ 'ให้อภัย' ในทุกเรื่องที่เราดื้อรั้นและทำลงไปในสมัยวัยรุ่นหรือแม้กระทั่งตอนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งท่านยังให้อภัย เพราะคำว่ารักและพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเราเสมอ…

ดังนั้น ในมุมของผมที่เป็นชาวต่างชาติ จึงคิดว่าควรกลับไปช่วยและอยู่เคียงข้างพวกท่าน เพราะนั่นคือสิ่งที่ท่านเคยทำให้เรา และในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์รูปแบบไหนก็แล้วแต่ สามี ภรรยา เพื่อน พี่น้อง ตราบใดที่มีคนคนนึงดีกับเราขนาดนี้ ในสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ เราก็จะอยากดีกับเขาเหมือนกัน และนี่คือเหตุผลสำหรับเรื่องบุญคุณ เพราะมันเป็นความถูกต้องและควรทำ

แต่…ในวันที่เรามีพ่อแม่ที่ไม่ได้รักเรา อาจจะทำร้ายหรือคอยเอาเปรียบ ก็อย่าโดนเอาเปรียบ เพราะมันไม่จำเป็นว่าต้องมอบทั้งชีวิตให้เขา ในวันที่เขาไม่ได้รักเราจริง 

***ดังนั้น นี่คือสิ่งที่อยากจะพูดกับนักเรียนทุกคนคือ ‘การเหมารวม’ เป็นสิ่งที่ต้องหยุด เราไม่สามารถที่จะบอกว่า… พ่อแม่ทุกคนควรที่จะรับใช้เราตลอดเลย ไม่ต้องไปคืนอะไรให้กับท่าน สิ่งนี้มันไม่ใช่… มันต้องดูในแต่ละกรณีว่าท่านรักเราไหม? ช่วยเราไหม? อยู่เคียงข้างเราไหม?

ไม่มีพ่อแม่คนไหนบนโลกที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีคนไหนที่ไม่พลาด… แต่เราต้องดูภาพรวม ... ทำไมพ่อแม่เขาอยู่ตรงนั้น คอยให้การช่วยเหลือเรามาตลอดชีวิต ไม่ว่าจะทะเลาะกันกี่ครั้ง เราจะดื้อแค่ไหน ทำผิดแค่ไหน เขาก็อยู่ตรงนั้นเสมอ นั่นคือพ่อแม่ที่ประเสริฐมาก เชื่อเถอะ ในฐานะคนอเมริกันคนหนึ่งที่เคยโดนไล่ออกจากบ้าน…

‘จิตแพทย์’ ห่วงคนไทย ‘ยอดฆ่าตัวตายสำเร็จ’ คาบเส้น WHO กำหนด ชี้ คนร่าเริงก็มีทุกข์ในใจ แนะ!! คนใกล้ตัวจับสัญญาณเปลี่ยนแปลง

(18 พ.ย.66) ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ในงานสัมมนาวันผู้สูญเสียบุคคลใกล้ชิดจากการฆ่าตัวตายนานาชาติ ครั้งที่ 4 โดยมี ผศ.พิเศษ นพ.ปราการ ถมยางกูร กรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, สมาคมสมาพันธ์ผู้ดูแลไทย, เครือข่ายก่อการต้านเศร้า ร่วมในเวทีเสวนาด้วย

ผศ.พิเศษ นพ.ปราการกล่าวว่า ข้อมูลของทั่วโลกพบว่า มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละเกือบ 1 ล้านคน หรือเฉลี่ยเป็นทุกๆ 40 วินาที จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน สำหรับข้อมูลในประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเกือบๆ 8 ต่อแสนประชากร ขณะที่ประเทศเกาหลีสูงถึง 24 ต่อแสนประชากร ซึ่งตัวเลขที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ไม่ควรเกิน 8 ต่อแสนประชากร คำถามคืออะไรเป็นเหตุที่ทำให้เขาฆ่าตัวตาย เพราะ 1 คนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ จะมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 6-10 คน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้องหรือเพื่อน รวมถึงผู้ที่รู้ข่าวอย่างน้อย 100 คนที่ได้ร่วมสูญเสีย เสียใจไปด้วย ทั้งนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดให้วันหยุดก่อนถึงสัปดาห์วันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) เป็นวันรำลึกผู้สูญเสียคนใกล้ชิดจากการฆ่าตัวตายนานาชาติ ซึ่งจัดกันมากว่า 20 ปีแล้ว

“การฆ่าตัวตายของคนใกล้ชิด เป็นเรื่องที่หลายคนเองไม่อยากรำลึกถึงสิ่งที่สูญเสีย เพราะว่าเป็นบาดแผลที่ข้างนอกดูดีแล้ว แต่ข้างในอาจจะยังเป็นหนองอยู่ ดังนั้นถ้าเราช่วยกันเยียวยาให้หายสนิท แผลนั้นจะดีมากขึ้น ซึ่งผลของการสูญเสียบุคคลใกล้ชิดจากการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่คนใกล้ชิดทำใจได้ยาก และติดอยู่ในใจไม่สามารถทำให้หลุดออกไปได้ ซึ่งการทำกลุ่มบำบัดสามารถช่วยได้จริง ซึ่งประเทศไทยก็จะต้องมีการจัดงานนี้ขึ้นในอนาคต” ผศ.พิเศษ นพ.ปราการกล่าว

ด้าน นพ.ณัฐกร กล่าวว่า สมัยที่ยังไม่มีโลกโซเชียล คนที่คิดจะฆ่าตัวตายจะทิ้งจดหมายลาตาย หรือ Suicide note แต่ปัจจุบันนี้เปลี่ยนเป็นลักษณะของการโพสต์ในสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณการฆ่าตัวตายผ่านโซเชียล ทำให้ผู้ที่เป็นเพื่อนกันในโลกออนไลน์สามารถมาพบเห็นได้ ซึ่งตรงนี้จริงๆ ทุกคนสามารถแจ้งข้อมูลผ่านสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 เพื่อแทรกแซงเหตุการณ์ไม่ให้ผู้นั้นฆ่าตัวตายได้สำเร็จ โดยขณะนี้มีเครือข่ายการป้องกันการฆ่าตัวตายร่วมกับตำรวจ ฉะนั้นไม่ว่าคนโพสต์อยู่จุดไหนของประเทศไทย ก็สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ภายใน 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ ตั้งแต่ดำเนินการมา มีการเข้าไปช่วยเหลือกว่า 500 เคส และทุกเคสใช่เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

“ทุกคนอาจจะไม่ได้มีปรารถนาอย่างแรงกล้าในการปลิดชีพตัวเอง หลายเคสเป็นการส่งสัญญาณ ในสิ่งที่คนอื่นเรียกว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ แต่แท้จริงแล้วเป็นการแสวงหาความช่วยเหลือ ซึ่งเราจะเห็นทุกวันว่าในโซเชียลมีเดียจะมีเรื่องประมาณนี้อยู่ทุกวัน หลายเคสมีเวลาไตร่ตรองอยู่ ซึ่งก็เป็นข้อดีในการให้ตำรวจเข้าไปช่วยเหลือและส่งต่อไปยังสถาบันจิตเวชรับการดูแลรักษาต่อได้” นพ.ณัฐกร กล่าว

นพ.ณัฐกร กล่าวว่า ขณะเดียวกันสื่อที่นำเสนอข่าวก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ตนสงสัยมาตลอดว่าทำไมต้องพูดถึงข่าว เช่น “ดาราดังสวมเสื้อยืดคอกลม แขนสั้นสีแดง กางเกงขาสั้น 3 ส่วนสีดำ มือขวากำแว่นตาไว้แน่น โดยใช้สายสะพายกระเป๋าหนังผูกคอตัวเองไว้ที่ระแนงไม้” ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การรายงานข้อมูลที่จำเป็น โดยหลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน ตนได้ไปถามตำรวจที่เข้ามาอบรมเรื่องป้องกันการฆ่าตัวตาย ทุกคนจำเหตุการณ์นั้นได้ว่า มือของบุคคลนั้นกำลังกำแว่นตาอยู่ ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่เป็นเรื่องต้องจำ

นพ.ณัฐกร กล่าวต่อว่า ฉะนั้นสื่อที่นำเสนอเรื่องของการฆ่าตัวตาย หรือผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ขอให้มีการพูดถึงทางออก เช่นสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรืออธิบายช่องทางการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้คนอ่านนั้นได้รับทราบว่ามีทางออกและได้ใช้สติไตร่ตรองในเรื่องนั้นๆ

เมื่อถามถึงการสังเกตผู้ที่มีอารมณ์ดี มีพลังบวกมาก แต่สุดท้ายแล้วเลือกจบชีวิตตนเอง ผศ.พิเศษ นพ.ปราการ กล่าวว่า สัญญาณเตือนเหล่านั้นจะแสดงออกมาทางอารมณ์ มีความซึมเศร้ามีอารมณ์แปรปรวน หรือโมโหง่าย ประกอบกับพฤติกรรมการแยกตัวเอง ในบางรายอาจพูดถึงว่าตนเองอยู่ไปก็เป็นภาระผู้อื่น

“สำหรับผู้ที่ฆ่าตัวตายจะมี 2 ประเด็น คือ 1.ผู้ที่ส่งสัญญาณเตือนมาโดยตลอด ซึ่งคนรอบตัวจะต้องจับสัญญาณมันให้ได้ และ 2.การตัดสินใจด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ที่เกิดจากมีความรุนแรงมากระทบจิตใจหรือความรู้สึก แม้ว่าภายนอกจะดูเป็นคนสดใสร่าเริง ไม่แสดงความทุกข์ที่อยู่ในใจ ดังนั้นการสื่อสารเพื่อให้เขาได้พูดความทุกข์ที่อยู่ในใจก็จะช่วยให้เขาปลดปล่อยความรู้สึกเศร้าออกมาได้” ผศ.พิเศษ นพ.ปราการ กล่าว

ด้าน นพ.ณัฐกรกล่าวว่า สิ่งที่จะต้องดูคือ เขาดูเปลี่ยนไปจากปกติของเขา เช่น ความสัมพันธ์ทางสังคม แม้กระทั่งผู้ที่เป็นคนโลกส่วนตัวสูง (Introvert) ก็ยังจะมีเส้นหนึ่งที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเขากับโลกภายนอก

“ฉะนั้นการดูว่าเขาเปลี่ยนไปนั้นต้องรู้ว่า คนคน นั้นไม่ต้องการที่จะไปเชื่อมต่อกับโลกภายนอก หรือสังคมข้างนอก หรือทำตัวคล้ายมือถือที่ไม่พร้อมรับสัญญาณใด” นพ.ณัฐกรกล่าว

'เชียงราย' รับตัวคนไทยจากพื้นที่ขัดแย้งในเมียนมาจากฝ่ายเมียนมาเพิ่มเติมอีก 24 คนกลับไทย ณ จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 อำเภอแม่สาย

 

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.30 นาฬิกา กองกำลังผาเมือง โดย พันเอก ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง/ประธานคณะกรรมการชายแดน ส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) ฝ่ายไทย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และ ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย สถานีตำรวจภูธรแม่สาย อำเภอแม่สายด่านศุลกากรแม่สาย ร่วมรับตัวคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบกลับภูมิลำเนา จำนวน 24 คน (ชาย 16 คน, หญิง 8 คน) ณ จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และส่งมอบให้กับ ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป

'โบว์-ณัฏฐา' แนะ!! ยกระดับภาษาอังกฤษคนไทยต้องให้เรียนไว้เป็นภาษาที่สอง พร้อมทั้งต้องสอนอย่างถูกวิธี ให้ความสำคัญครบ 'ศัพท์-ไวยากรณ์-ทักษะ'

(29 พ.ย.66) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ถึงประเด็นภาษาอังกฤษคนไทยลำดับต่ำลง ว่า...

ที่ภาษาอังกฤษคนไทยลำดับต่ำลงเรื่อยๆ ไม่ใช่เพราะเรียนไวยากรณ์มากไปอย่างที่พูดตามๆ กัน ที่มันดิ่งลงเรื่อยๆ เพราะไวยากรณ์ก็ทิ้ง ศัพท์ก็ไม่ให้ท่อง อยากสอนแนวใหม่แบบเน้นทักษะแต่จำนวนชั่วโมงก็ไม่พอ

ถ้าจะสอนแบบคนเรียนภาษาแม่ เน้นฟังเน้นพูด ก็ต้องมีเวลาอยู่กับภาษานั้นมากพอ แทบตลอดเวลา คือเรียนแบบ English as the First Language (EFL) ซึ่งพอระดับสูงขึ้นก็จะเน้นทุกอย่าง

ถ้าไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ก็ต้องเรียนในฐานะภาษาต่างประเทศ ซึ่งจะทิ้งศัพท์ทิ้งไวยากรณ์ไม่ได้ เพราะต้องมี Pattern ให้ตั้งหลักไว้ต่อยอดเมื่อมีโอกาสฝึกทักษะมากขึ้น คือเรียน English as a Foreign Language (EFL)

ทางที่ดี ยกระดับให้เรียนเป็นภาษาที่สอง จะได้ความเข้มข้นเพิ่ม และมีเวลาฝึกทักษะเพียงพอ แม้จะไม่ได้อยู่ในประเทศที่ใช้ภาษานั้นเป็นหลักก็ตาม คือเรียน English as the Second Language (ESL) 

คนจัดการศึกษาต้องเข้าใจและเลือกเอาสักอย่างค่ะ แต่ถ้ามีชีวิตแบบไม่มีภาษาอังกฤษแวดล้อมเลย แล้วทิ้งศัพท์ทิ้งไวยากรณ์ หวังพึ่งการพูดการฟังแค่สัปดาห์ละไม่กี่ชั่วโมง เพราะคิดว่าแบบนี้แหละคือการสอนแนวใหม่แล้ว … ผลที่ได้ก็คือ ถูกแซงเรียบ ดิ่งต่อได้อีก 

📍ถ้ายังทำอะไรไม่ได้ ระหว่างนี้ หยุดสร้างความเข้าใจผิดๆ กันก่อน เรียนภาษาต่างประเทศต้องให้ความสำคัญครบสามอย่าง 'ศัพท์ ไวยากรณ์ ทักษะ'

อย่าไปตั้งข้อรังเกียจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าสอนถูกวิธี ไม่มีแย่ลงค่ะ

อันนี้พูดถึงการยกระดับของคนทั้งรุ่นในระบบ ให้เปิดโอกาสไปถึงการใช้งานระดับสูงได้ ไม่ใช่แค่พอสื่อสารได้

'โซเชียลลาว' เดือด!! หลังคนไทยโพสต์ "เวียงจันทร์ก็แค่ปากซอย" เหมือน 'ดูถูกลาวไม่เจริญ' ทั้งที่ภาษาไทยหมายถึง 'ใกล้แค่นี้เอง'

(12 ธ.ค.66) จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ 'พระราม เดินดง' ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพประตูชัย ว่า... "เวียงจันทร์ก็แค่ปากซอย" ลงกลุ่ม 'เที่ยวลาว ด้วยตัวเอง' ก็ได้เกิดเป็นกระแสดรามาในหมู่คนลาวขึ้นมาทันที

โดยจากเฟซบุ๊ก 'Kittinun Nakthong' ได้เผยว่า "ชาวลาวเคืองนักท่องเที่ยวไทยรายหนึ่ง โพสต์ภาพประตูชัยพร้อมคำว่า 'เวียงจันทน์ก็แค่ปากซอย' ชี้ภาษาลาวถือเป็นคำพูดดูถูกประเทศ ไม่เจริญ มีความเจริญน้อยเหมือนแค่ปากซอยหน้าบ้าน ไม่ได้เข้าไปในตัวเมือง"

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นการตีความ บนพื้นฐานของการเข้าใจความหมายที่ไม่ตรงกัน โดยชาวเน็ตไทย ต่างก็ออกมาอธิบายว่า คำนี้เป็นคำที่คนไทยมักใช้เวลามาเที่ยวลาวกันนานมากแล้ว ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยถึงว่า "ประเทศลาวอยู่ใกล้ไทย เดินทางไปเที่ยวไม่ยาก ใกล้เหมือนออกไปปากซอยเท่านั้น"

ถึงกระนั้นก็ยังคงมีชาวลาวที่ยังไม่ทราบความหมายของคำดังกล่าวและเข้ามาคอมเมนต์เชิงตัดพ้อ และมองว่านี่คือการเหยียดจากคนไทย ไม่อยากมาเที่ยว ก็ไม่ต้องมา ขณะที่คนไทยบางกลุ่มก็เริ่มเดือด เพราะอธิบายความหมายที่แท้จริงจากมุมคนไทย ก็ดูเหมือนคนลาวจะไม่รับฟังใดๆ และหาเรื่องอื่นมาโต้เถียงกันจนลุกลามในโลกโซเชียลอยู่ขณะนี้

ทึ่ง!! ‘หนุ่มกระบี่’ ขี่มอเตอร์ไซค์จากไทยไปยุโรป 1.8 หมื่นกิโล ใช้เวลาเดินทาง 1 เดือน 17 วัน กับค่าน้ำมัน 6 หมื่นบาท

(18 ธ.ค.66) ผู้ใช้ TikTok รายหนึ่ง โพสต์คลิปพร้อมระบุข้อความว่า “เดินเล่นอยู่ยุโรปก็ได้เจอทะเบียนรถประเทศไทยรีบเข้าไปทักทายเลยค่า ดีใจมาก ๆ เวลาไปเที่ยวต่างประเทศแล้วเจอคนไทยหรือได้ยินภาษาไทย” และ “เจอพี่คนไทยขับรถจากไทยมายุโรป 18,000 กิโล!!”

ซึ่งในคลิปเป็นภาพที่เจ้าของคลิปกำลังเดินเล่นอยู่ และพบว่ามีรถมอเตอร์ไซค์แนวแอดแวนเจอร์ (Adventure) ยี่ห้อ BMW ป้ายทะเบียนกระบี่ ประเทศไทย จอดในสถานที่แห่งหนึ่งในยุโรป จึงเดินเข้าไปสอบถามและพูดคุย ซึ่งเจ้าของมอเตอร์ไซค์ได้ให้ข้อมูลว่า ตนขี่มอเตอร์ไซค์มาจากไทยและขี่มาเรื่อย ๆ จนถึงยุโรป ซึ่งตนเดินทางมาเป็นเวลา 1 เดือน 17 วันแล้ว!!

โดยล่าสุดได้เจอวาร์ปเจ้าของมอเตอร์แล้ว ซึ่งเจ้าของมอเตอร์ไซค์นั้นให้ข้อมูลว่า ตนเป็นคนกระบี่ ขี่มอเตอร์ไซค์โดยใช้เส้นทาง “ไทย ลาว จีน คาซัคสถาน รัสเซีย จอเจีย ตุรกีย์ กรีซ บัลแกเรีย นอร์ทมาเซโดเนีย อัลแบเนีย โคโซโว มอนเตรเนโกร เซอเบีย บอสเนีย โครเอเชีย สโลวาเนีย”

พร้อมกับระบุว่า ค่าน้ำมันที่เสียไปตอนนี้อยู่ในราคา 60,000 บาทแล้ว!

เมื่อ 'YouTuber ชั้นเลว' สูบแสงเพียงเพื่อแลกเงิน ก้มหน้าก้มตาโกยจากการสร้างภาพให้กับฆาตกร

ผมเชื่อว่าใครที่ติดตามความเป็นไปของสังคมไทย เน้นในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ก คงต้องรู้สึกถึงความ ‘เสื่อมต่ำ’ ของคนอาชีพ YouTuber ยุคนี้ไม่มากก็น้อย 

ก่อนหน้าสัก 7-10 ปี คนที่จะยึดอาชีพนี้ในการหาเลี้ยงชีพจริงจังยังมีไม่มาก ส่วนใหญ่เข้ามาเพราะความไม่ตั้งใจ แต่เมื่อคลิปของตนเองเกิดฟลุ้ก และโด่งดังขึ้นมา เริ่มมีคนติดตามมากขึ้น นำมาซึ่งการเกิดรายได้งาม ๆ เข้ากระเป๋า คนที่พอจะเป็นมวยก็รีบฉวยปรับตัวตามสถานการณ์หันมาเอาจริงกับการหาเงินผ่านช่อง YouTube ของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด 

แต่ที่ผิดคือ จำนวนไม่น้อยมักไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นสังคมจะได้หรือเสียอะไร? คิดแค่ตัวเองได้เงิน ช่องของตัวเองโด่งดังก็เพียงพอแล้ว ความเสื่อมของสังคมไทยจึงเริ่มต้นนับจากบรรทัดนี้

การผันตัวเองมาเป็น YouTuber ของคนประเภทข้างต้นนั้น เกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย แต่น้อยถึงน้อยมากที่เราจะเห็น YouTuber ที่พึ่งพาได้จริง ๆ หรือเป็น ‘YouTuber’ ในแนวสร้างสังคมให้เกิดความแข็งแรง หรือคอยปลุกสำนึกให้ผู้คนคิดเป็น 

กลับกันที่มีให้เห็นดาษดื่นคือ YouTuber ที่ขาดความหวังดีต่อโลก แต่ที่น่าเจ็บปวดคือ กลับมีคนไทยชอบ และติดตามสนับสนุนอย่างมหาศาล การจะเห็น ‘YouTuber ชั้นเลว’ โด่งดังในประเทศไทย จึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นแต่อย่างใด

ยุคหนึ่ง หากอยากจะวัดดูว่า คนไทยโง่ หรือ ฉลาด ก็ให้ดูจำนวนคนที่เลือกนักการเมืองเลว ๆ มาเข้าสภา แต่ยุคนี้สามารถดูได้จากจำนวนคนที่ติดตาม ‘YouTuber ชั้นเลว’ ก็จะได้คำตอบไม่แพ้กัน 

‘YouTuber ชั้นเลว’ หรือบางคนเรียกขานว่าเป็น ‘YouTuber ขยะ’ คุณจะเรียกอะไรก็ได้ เพราะพฤติกรรมของ YouTuber สองประเภทนี้จะคล้ายคลึงกันนั่นคือปั้นช่อง YouTube แบบไร้ทิศไร้ทาง อะไรคือ กระแส มีแสง ก็จะวิ่งเข้าหา เกาะติดไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่แยกถูกผิด ชั่วดี ไม่มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม ไม่มีสามัญสำนึก ไร้ศีลธรรม ขาดความคิดในเชิงสร้างสรรค์ มองเห็นคอนเทนต์ใดที่ทำแล้วพอจะได้เงิน ก็จะรีบพากันกระโจนเข้าใส่เสมอ 

ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีข่าวว่าชายคนหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนลงมือทำให้หลานสาวตัวน้อยของตัวเองเสียชีวิต เมื่อถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ชายคนนี้ก็โด่งดังขึ้นมา เพียงไม่กี่วันเหล่า YouTuber ก็พากันไปรุมล้อม จำนวนหนึ่งก็ช่วยกันปกป้อง สร้างภาพให้ดูน่าสงสาร ราวกับชายคนนี้เป็นคนดีที่โลกใบนี้ควรโอบอุ้ม 

แต่เมื่อต่อสู้กันในชั้นศาลยาวนาน จนที่สุดหลักฐานมัดว่าเขาคือคนผิด หรือ ‘ฆาตกรฆ่าหลาน’ เหล่า YouTuber ที่เสริมส่งให้คนผิดมีที่ยืนตลอดมา หรือช่วยให้ได้รับโอกาสดี ๆ อันมากมายจากสังคมไทยทั้ง ๆ ที่ไม่เคยยอมรับในความผิด ก็ไม่ต่างจาก ‘YouTube ชั้นเลว’ หรือ ‘YouTuber ขยะ’ มองมุมไหนก็ไม่มีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม นั่นก็รวมถึงนักร้องลูกทุ่งบางคน สินค้าบางชนิด หรือช่องข่าวบางช่องที่เคยสนับสนุน ‘ชายผู้ฆ่าหลาน’ คนนี้โดยไม่ลืมหูลืมตา 

วิงวอนคนไทยอย่าลืมคนเหล่านี้เชียว เลิกสนับสนุนได้...คือดี 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top