14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เกิดเหตุการณ์ ‘4 ตุลา วันมหาวิปโยค’ ก่อนที่จะกำหนดเป็น ‘วันประชาธิปไตย’
วันนี้เมื่อ 51 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ได้รับการขนานนามว่า "วันมหาวิปโยค" เนื่องจากมีนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด นับแสนคน เดินขบวนต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านอำนาจเผด็จการของรัฐบาลคณาธิปไตย สมัยพันเอก ณรงค์ กิตติขจร, จอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร
โดยครั้งนั้นได้มีการเคลื่อนไหวขับไล่กลุ่มเผด็จการทรราชออกจากอำนาจที่ยึดครองมาหลายสมัย รวมทั้งมีการเรียกร้องให้ปล่อยนิสิต นักศึกษา อาจารย์ และนักการเมือง 13 คน ที่ถูกจับกุมฐานเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกรัฐบาลตั้งข้อหากระทำผิดกฎหมาย ทำลายความมั่นคงของรัฐ เป็นกบฏภายในราชอาณาจักรและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ จากนั้นรัฐบาลได้ออกปราบปรามผู้ชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 โดยทหารและตำรวจได้ใช้อาวุธ รถถัง เฮลิคอปเตอร์ และแก๊สน้ำตา ยิงใส่ผู้ชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
เหตุการณ์ดังกล่าวได้ลุกลามใหญ่โต เมื่อประชาชนที่โกรธแค้นต่างร่วมมือกันต่อสู้ และบางส่วนได้เผาทำลายอาคารสถานที่และยานพาหนะของทางราชการ แต่ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงแก้ปัญหา เหตุการณ์จึงสงบ โดยจอมพล ถนอม และจอมพล ประภาส ได้ลาออกจากตำแหน่ง ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ
ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จฯ เยี่ยมผู้บาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่าง ๆ และสำหรับผู้เสียชีวิต โปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานเพลิงศพที่ทิศเหนือของท้องสนามหลวง และนำอัฐิไปลอยอังคารด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา อ่าวไทย อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร พระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรีในเวลานั้น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อฟื้นฟูระเบียบของบ้านเมือง เพื่อประสานสามัคคีให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมในการปกครองประเทศ จากนั้นจึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2517
ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้น ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 28 ปี พร้อมทั้งก่อตั้งมูลนิธิ 14 ตุลา ขึ้นด้วย ต่อมารัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ได้ลงมติเห็นชอบให้วันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี เป็น "วันประชาธิปไตย" เพื่อเป็นการรำลึกถึงพลังบริสุทธิ์ของคนหนุ่มสาวที่เสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย
นอกจากนี้มติของรัฐสภายังเห็นชอบให้มีการนำเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บรรจุในหลักสูตรการศึกษา เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงเหตุการณ์สำคัญของชาติ ซึ่งถือว่ากรณีดังกล่าวเป็นการเมืองภาคประชาชน ที่มีผลต่อการพัฒนาการเมืองจนมีระบบรัฐสภาต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้