31 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 ถือกำเนิด ‘แท็กซี่’ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ยุคนั้นเรียก 'รถไมล์' ช่วยทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้มีอาชีพหลังปลดราชการ

วันนี้ในอดีต 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 ประเทศไทยเริ่มมี ‘แท็กซี่’ ให้บริการเป็นครั้งแรก โดย พระยาเทพหัสดินร่วมกับพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ เป็นผู้ก่อตั้ง ‘บริษัท แท็กซี่สยาม’ ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อช่วยทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้มีอาชีพหลังจากปลดจากราชการ โดยนำเอารถเก๋งออสติน (Austin) ขนาดเล็กออกวิ่งรับจ้าง โดยติดป้ายรับจ้างไว้ข้างหน้า-หลังของตัวรถ โดยมีรถให้บริการ 14 คัน คิดค่าบริการตามไมล์ ไมล์ละ 0.15 บาท หรือ 15 สตางค์ (1 ไมล์ = 1.609344 กิโลเมตร) ซึ่งนับว่าแพงมากเมื่อเทียบกับราคาค่าโดยสารในปัจจุบัน ในสมัยนั้นจึงนิยมเรียกกันว่า ‘รถไมล์’ เพราะเก็บค่าโดยสารตามเลขไมล์ระยะทางที่วิ่ง โดยใช้รถยนต์ยี่ห้อออสติน แต่ประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากค่าโดยสารแพง ผู้คนยังไม่คุ้นเคยจึงไม่ยอมนั่ง ประกอบกับเมืองกรุงเทพฯ ยังมีขนาดเล็ก และมีรถรับจ้างอื่น ๆ อยู่มากและราคาถูกกว่าจึงต้องล้มเลิกกิจการไป 

จนกระทั่งปี 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าของธุรกิจเอกชนบางราย ได้เริ่มการฟื้นฟูกิจการแท็กซี่ในประเทศไทยขึ้นมาใหม่ โดยในช่วงแรกจะนิยมใช้รถยนต์ยี่ห้อเรโนลต์ (Renault) สมัยนั้นจึงเรียก ‘แท็กซี่’ ว่า ‘เรโนลต์’ ได้รับความนิยมจากคนทั่วไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากสะดวกรวดเร็วกว่ารถจักรยานสามล้อถีบซึ่งมีชุกชุมในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้อาชีพขับรถแท็กซี่เป็นที่ฮือฮา มีผู้นำรถเก๋งไปทำเป็นรถแท็กซี่กันมากขึ้นจนระบาดไปต่างจังหวัด จนต้องมีการควบคุมกำหนดจำนวนรถ ต่อมารถแท็กซี่ เปลี่ยนกลับมานิยมยี่ห้อออสติน ตามด้วยรถดัทสัน, บลูเบิร์ด, และโตโยต้าในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อก่อนป้ายทะเบียนของรถประเภทแท็กซี่จะมีราคาแพงเป็นหลักแสนบาท จึงทำให้ผู้ให้บริการใช้รถยนต์แท็กซี่นานหลายสิบปี จนมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเพื่อให้คุ้มทุนค่าป้ายทะเบียน 'แท็กซี่’

และในสมัยก่อน กฎหมายไม่ได้บังคับให้มีการติดมิเตอร์ การจ่ายค่าโดยสารจึงเป็นไปตามการต่อรองระหว่างผู้โดยสารและผู้ให้บริการ เมื่อยุคสมัยผ่านไป ในช่วงเวลาหนึ่ง 'แท็กซี่' กลายเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาจราจรจากการจอดต่อรองราคาดังกล่าว 

ดังนั้นในปี 2535 จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีการออกกฎหมายให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป ‘ต้องติดมิเตอร์’ อีกทั้งกรมการขนส่งทางบกยังได้เปลี่ยนระบบป้ายทะเบียนแท็กซี่ ให้จดทะเบียนได้ในราคาถูกลงจากเดิม (เป็นหลักพันบาท) แต่จำกัดอายุของรถแท็กซี่ไว้มิให้เกิน 12 ปี หากเกินจากนี้จะต้องปลดประจำการไม่สามารถเป็นรถแท็กซี่ได้อีก และยังได้สั่งให้เปลี่ยนสีรถแท็กซี่บุคคล จากสี ‘ดำ-เหลือง’ ในระบบป้ายแบบเก่า เป็นสี ‘เขียว-เหลือง’ ในระบบป้ายแบบจำกัดอายุ

ปัจจุบันแท็กซี่ในเมืองไทยเป็นรถปรับอากาศ ติดมิเตอร์คิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางและเวลา โดยเริ่มต้นที่ 35 บาท พร้อมทั้งมีวิทยุสื่อสาร บางคันอาจมีทีวีให้ดูในระหว่างการเดินทางด้วย


ที่มา : Komchadluek