‘ก้าวไกล’ ออกแถลงการณ์ กรณี ‘บุ้ง’ เสียชีวิต เรียกร้องรัฐบาล 4 ข้อ ย้ำ!! ต้อง ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-สร้างประชาธิปไตยเข้มแข็ง’ ให้ปชช.

เมื่อวานนี้ (17 พ.ค. 67) พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง) นักกิจกรรมทางการเมือง เรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีบทบาทในการสร้างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน สร้างหลักประกันในการประกันตัว และคลี่คลายสถานการณ์เพื่อนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ของสังคม

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบพบเจอกับการรัฐประหาร อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมไทยแตกแยกอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประชาชนจึงตั้งความหวังว่า การนิรโทษกรรมทางการเมือง ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมายที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะเป็นวาระที่สำคัญของรัฐบาลนี้

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ปรากฏ การเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม จากการอดอาหารประท้วงต่อการไม่ได้รับประกันตัว ย่อมส่งผลให้ความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมเสียหายเป็นอย่างมาก พรรคก้าวไกลจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อดำเนินการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อกระบวนการยุติธรรมอันเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน

1) ต่อการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ควรกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลในการชะลอคดีทางการเมือง เพื่อไม่สร้างความขัดแย้งเพิ่มเติมจนกว่าจะได้ความชัดเจนในการจัดทำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และต้องกำหนดให้สิทธิในการประกันตัว การไม่คัดค้านการประกันตัว หรือมีความเห็นไม่ให้ถอนการประกันตัวของตำรวจในคดีการเมือง ซึ่งสามารถทำได้ทันที เนื่องจากตำรวจอยู่ในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง

2) ข้อเสนอต่อการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ขององค์กรอัยการ ให้นายกรัฐมนตรีมีความเห็น หรือรัฐบาลมีมติ ครม. เสนอไปยังอัยการสูงสุด ให้พิจารณาให้สั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องได้ตามมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ 2553 ประกอบข้อ 7 ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ 2554

ทั้งนี้ ข้อ 7 (4) เหตุผลตามความเห็นของรัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีถึงผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์สำคัญของประเทศ และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2561, ข้อ 7 (5) เหตุผลตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอื่นถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ข้อ 7 (6) ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความสามัคคีของคนในชาติ

ซึ่งนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีสามารถดำเนินการให้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางการเมืองทั้งหลาย ให้คดีเป็นอันยุติลงไป

3) ข้อเสนอต่อคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 108/1 ให้อำนาจศาลยุติธรรมในการใช้ดุลพินิจพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ทั้งนี้ การประกันตัว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ การไม่ให้ประกันตัวตามกฎหมายดังกล่าว จะต้องปรากฏว่ามีพฤติการณ์บางอย่าง เช่น มีพฤติกรรมหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

ซึ่งรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี สมควรมีการปรึกษากับประธานศาลฎีกา ในฐานะประมุขของศาลยุติธรรม เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ เมื่อรัฐบาลมีแนวนโยบายที่จะนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองให้กับประชาชน การชะลอคดีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องหารือกับทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดการดำเนินคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม

4) การนิรโทษกรรมมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน แม้ว่าปัจจุบันจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ของสภาผู้แทนราษฎร แต่ผลการศึกษาดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายที่จะนำไปสู่การสร้างความปรองดองของสังคมในตอนนี้ได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงสมควรเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมต่อไป

นอกจากการนิรโทษกรรมแล้ว รัฐบาลสามารถเสนอร่างกฎหมายอื่นที่จะนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เกิดการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนให้ความคุ้มครองในการประกันตัวของประชาชนที่จะสามารถต่อสู้คดีปกป้องสิทธิของตนเองได้อย่างเต็มที่ต่อไป

“สุดท้ายนี้ พรรคก้าวไกลตั้งความหวังว่า รัฐบาลจะดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง เหตุการณ์เสียชีวิตอย่างกรณีคุณเนติพร เสน่ห์สังคม ไม่สมควรจะเกิดขึ้นอีกแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทย จะได้กลับมาทบทวน การฟื้นฟูรากฐานกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ตามที่ประชาชนพึงได้รับ” แถลงการณ์พรรคก้าวไกลระบุ