'ญี่ปุ่น' สร้างอุปกรณ์ 'รับ-ส่ง' สัญญาณ 6G ได้เป็นครั้งแรกของโลก เร็วกว่า 5G ถึง 20 เท่า กุญแจสำคัญพายานพาหนะไร้คนขับรุดหน้า

(7 พ.ค. 67) TNN Tech รายงานว่า โดโคโมะ (DOCOMO) เอ็นทีที (NTT Corporation) เน็ก (NEC Corporation) และฟูจิสึ (Fujitsu) ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถรับและส่งข้อมูลในย่านคลื่นความถี่ 6 กิกะเฮิร์ตซ (GHz) ซึ่งเป็นย่านคลื่นความถี่ที่เชื่อว่าจะถูกนำไปใช้งานกับการสื่อสารยุค 6G ได้เป็นครั้งแรกของโลก โดยมีความเร็วในการส่งสัญญาณที่ 100 กิกะบิตต่อวินาที (Gbps) หรือมากกว่า 5G ถึง 20 เท่า

สำหรับการทดลองส่งข้อมูลด้วยอุปกรณ์ 6G ครั้งแรกของโลก ได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2021 โดยออกแบบให้รับและส่งสัญญาณที่ย่านความถี่ 6 GHz ซึ่งมีอีกชื่อว่า ซับเทระเฮิร์ตซ (Sub-terahertz) โดยอุปกรณ์ได้ส่งสัญญาณในช่วงความถี่ (Band) 100 - 300 GHz ต่างจาก 5G ที่มี Band ในการส่งสัญญาณที่ 40 GHz โดยสามารถส่งข้อมูลได้ที่ความเร็ว 100 Gbps รองรับระยะการส่งแบบไร้สายที่ 100 เมตร

การพัฒนาในครั้งนี้ เป็นการนำความสามารถในการวิเคราะห์การตั้งค่าสัญญาณไร้สาย (Wireless system configuration) ที่ DOCOMO เชี่ยวชาญ ร่วมกับการพัฒนาตัวอุปกรณ์ให้รองรับการส่งสัญญาณได้จริงโดย NTT 

ในขณะที่ NEC ได้เข้ามาร่วมวิจัยและพัฒนาเสาสัญญาณแบบใหม่แบบเรียงที่เรียกว่า เอพีเอเอ (APAA: Active Phased Array Antenna) ส่วน Fujitsu มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชิปเพื่อขยายกำลังคลื่นในการรับและส่งสัญญาณในครั้งนี้

สำหรับอนาคตของ 6G จากฝั่งญี่ปุ่น จากการทดลองนี้ ยังทำให้ Fujitsu มีชิปที่สามารถขยายกำลังสัญญาณ 6G ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลกในปัจจุบันด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระยะการส่งสัญญาณ 6G ให้ไกลยิ่งขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกัน 6G ยังเป็นเทคโนโลยีที่เชื่อว่าเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาระบบยานพาหนะไร้คนขับ (Autonomous vehicle) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบโครงข่ายสัญญาณ 6G จะมีความแตกต่างจากการเปลี่ยนผ่านสมัย 4G มายัง 5G เนื่องจากสัญญาณในระดับ Sub-terahertz จะมีกำลังและรูปแบบคลื่นที่ต่างจาก 5G ส่งผลให้ผู้ให้บริการโครงข่าย 6G ในอนาคตจำเป็นต้องลงทุนอุปกรณ์ในระบบใหม่ทั้งหมด ซึ่ง TNN Tech มองว่านี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาโครงข่าย 6G ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ