ท่าเรือสำราญพัทยา ‘แหลมบาลีฮาย’ พร้อมเป็นต้นทาง เรือสำราญระดับโลก เพื่อเปิดโอกาสใหม่ ในการท่องเที่ยวอ่าวไทย เปิดรับ นทท.กระเป๋าหนัก

เมื่อวานนี้ (26 เม.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ การพัฒนาท่าเรือสำราญพัทยา แหลมบาลีฮาย เพื่อใช้เป็นต้นทางเปิดรับ เรือสำราญระดับโลก โดยได้ระบุว่า ...

วันนี้เอาการแผนการพัฒนาการเดินทาง ทางน้ำ ที่น่าสนใจ และเป็นอีกโอกาสในการสร้างรายได้ในการรับนักท่องเที่ยวรายได้สูงเข้าประเทศ คือการก่อสร้างท่าเรือสำราญ ในเขตอ่าวไทยตอนบน 

โดยโครงการได้มีการศึกษาและเปรียบเทียบในหลายที่ แล้วมาลงตัวที่ แหลมบาลีฮาย พัทยา 
เพื่อสร้างเป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) และท่าเรือจอดพัก (Port of Call) ของเรือสำราญระดับโลก ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ในไทย ซึ่งมีเรือได้เริ่มเข้ามาทำเส้นทางเดินเรือประจำ บ้างแล้ว

ซึ่งปัจจุบัน ใช้อาคารท่าเรือสำราญของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งก็ไม่ตอบรับกับความต้องการของสายเรือสำราญ และนักท่องเที่ยว ซึ่งควรจะเป็นท่าเรือที่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว

เรามาทำความเข้าใจรูปแบบ การใช้งานของท่าเรือสำราญกันก่อน
1. ท่าเรือต้นทาง (Home Port) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของสายเรือนั้นๆ ในการออกเดินทางสู่ปลายทาง หรือไปเที่ยวในจุดต่างๆ และกลับมาส่งผู้โดยสารที่เดิม
ซึ่งท่าเรือเหล่านี้ จะมีกิจกรรมเช่น 
- การพักคอยการเดินทางของผู้โดยสาร
- การเปลี่ยนกะของเจ้าหน้าที่ในเรือ
- การเติมหรือเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่จะไปให้บริการบนเรือ
ตัวอย่างเช่น ท่าเรือสิงคโปร์ และท่าเรือแหลมฉบัง 

2. ท่าเรือจอดพัก (Port of Call) ซึ่งเป็นการจอดแวะพัก เพื่อให้ผู้โดยสารลงไปเดินท่องเที่ยวตามพื้นที่ต่างๆ และเปลี่ยนอิริยาบถ จากการนั่งเรือ
ซึ่งท่าเรือเหล่านี้ จะมีกิจกรรมเช่น
- การจัดทัวร์ระยะสั้นรับนักท่องเที่ยว
- รับนักท่องเที่ยว ของ ร้านอาหาร และบาร์ท้องถิ่น
โดยแบ่งท่าเรือเป็น 2 กลุ่มคือ 
- มีท่าเทียบเรือ (ลงจากเรือขึ้นบกได้โดยตรง)
- ท่าทอดสมอระยะไกล (ต้องนั่งเรือเล็กเข้าฝั่งอีกที) ซึ่งในกรณีนี้ ผู้โดยสารจมบางส่วนจะไม่ลงไปเพราะเสียเวลา และกลับขึ้นเรือยาก
ตัวอย่างเช่น สมุย, พัทยา, ภูเก็ต และฟูก๊วก (เวียดนาม)

ซึ่งท่าเรือพัทยา จะถูกออกแบบให้เป็นผสม (Hybrid) เป็นทั้ง Home Port และ Port of Call เพื่อให้พัทยาได้ประโยชน์สูงสุด 

โดยจากที่ปรึกษา ได้สรุปพื้นที่เป็นบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี มีความเหมาะสมเนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้เคียงมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และหลากหลาย ดึงดูดให้มีผู้โดยสารมาใช้ท่าเรือสำราญ 

ซึ่งมีการออกแบบรองรับ ท่าเรือทั้ง 2 แบบ แบ่งเป็น
- ท่าเรือต้นทาง (Home Port) รองรับเรือขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 1,500 คน 
- ท่าเรือแวะพัก (Port of call) สำหรับรองรับเรือขนส่งผู้โดยสาร 3,500-4,000 คน

จากการศึกษาคาดการณ์จำนวนเที่ยวเรือ
ในปี 2570 ประมาณ 60 เที่ยวต่อปี และเพิ่มเป็น 100 เที่ยวในอีก 10 ปี (ปี 2580) 
โดยคาดการณ์สัดส่วนรายได้จากการดำเนินงานท่าเทียบเรือ 73% (3,730 ล้านบาท ) ได้แก่ ค่าธรรมเนียมจอดเรือ ค่าธรรมเนียมผ่านท่า
รายได้จากการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ 27% (1,390 ล้านบาท) ได้แก่ ค่าเช่าพื้นที่ ค่าที่จอดรถ ค่าเช่าที่จอดเรือเฟอร์รี และสปีดโบ๊ต

รูปแบบการก่อสร้าง
เป็นท่าเรือใหม่ห่างจากชายฝั่งลงไปในทะเลประมาณ 1 กม. เพื่อลดการเวนคืน และยังสามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ ที่ความลึกร่องน้ำประมาณ 12-14 เมตร 
รองรับเรือสำราญขนาดระวางบรรทุก 236,000 ตันกรอส ได้พร้อมกัน 2 ลำ ความยาวท่าเทียบเรือรวม 420 เมตร 

ส่วนอาคารผู้โดยสาร รองรับได้ 3,500-4,000 คน/เที่ยว 
สิ่งอำนวยความสะดวก
- โถงพักคอย 
- จุดตรวจความปลอดภัย 
- จุดเช็กอินรับบัตรโดยสาร 60 ช่อง 
- จุดตรวจคนเข้าเมือง 26 ช่อง 
- จุดฝากสัมภาระ 
- อาคารและลานจอด รองรับรถยนต์ได้ 132 คัน และรถบัส 82 คัน

มูลค่าการลงทุน
เบื้องต้นประมาณการค่าลงทุนรวม 7,412 ล้านบาท แบ่งเป็น 
1. ค่าลงทุน 5,934 ล้านบาท 
- ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานนอกชายฝั่ง 4,315 ล้านบาท 
- ท่าเทียบเรือ อาคารผู้โดยสาร 2,881 ล้านบาท 
- สะพานเชื่อมท่าเรือ 675 ล้านบาท 
- ลานจอดรถ 567 ล้านบาท 
- ท่าเรือโดยสาร และเรือเร็ว 192 ล้านบาท
- ค่าอุปกรณ์ 400 ล้านบาท 
- ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 608 ล้านบาท 
- ถนนยกระดับ 1611 ล้านบาท 

2.ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 1,478 ล้านบาท

รูปแบบการลงทุน
เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) 
- ภาครัฐ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเทียบเรือ และทางเข้า มูลค่า 5,534.56 ล้านบาท (66%)
- เอกชนอาจ ลงทุนในส่วนของอาคารผู้โดยสาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มูลค่า 1,877.66 ล้านบาท (34%) เครื่องมือและอุปกรณ์และบริหาร 30 ปี
ซึ่งจากการศึกษา มีอัตราผลตอบแทน 20% ระยะเวลาคืนทุนเท่ากับ 10 ปี

ซึ่งจากแผนก็น่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อีกมหาศาล