‘ภูเก็ต’ จัดรถเมล์ฟรี รับ-ส่งนักท่องเที่ยว วิ่งรอบเมืองเก่า ตั้งแต่ 11 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่ม เริ่ม 9 พ.ค.นี้

(21 เม.ย.67) บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ร่วมมือกับมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน เปิดตัวโครงการ Phuket Smart Bus EV เส้นทางเมืองเก่า โดยนำรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ให้บริการฟรีแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดมลพิษทางอากาศ ขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยและการท่องเที่ยว เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. 2567 ให้บริการทุก 15 นาที ตั้งแต่เวลา 11.00-22.00 น.

เส้นทางเดินรถรอบเมืองเก่า เริ่มต้นจากจุดจอดรถ ไปตามถนนหลวงพ่อ ต่อด้วยถนนดีบุก จอดจุดที่ 1 ตรงข้ามโครงการไลม์ไลท์ ภูเก็ต เลี้ยวซ้ายไปตามถนนเทพกษัตรี จอดจุดที่ 2 ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย สาขาภูเก็ต (ตรงข้ามหอนาฬิกาพรหมเทพ) เลี้ยวซ้ายไปตามถนนพังงา จอดจุดที่ 3 สถานีขนส่งผู้โดยสารภูเก็ตแห่งที่ 1 (บขส.1) กลับมาที่ถนนพังงา จอดจุดที่ 4 โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนมนตรี จอดจุดที่ 5 ตรงข้ามโรงแรมเพิร์ล ผ่านวงเวียนหอนาฬิกา ไปตามถนนดิลกอุทิศ 1 เลี้ยวขวา จอดจุดที่ 6 ตลาดเกษตร ออกจากตลาดเกษตร เลี้ยวขวาไปตามถนนอ๋องซิมผ่าย จอดจุดที่ 7 ร้านออฟฟิศเมท สาขาภูเก็ต

เลี้ยวขวาไปตามถนนภูเก็ต จอดจุดที่ 8 ร้านโกอ่างซีฟู้ด ผ่านวงเวียนหอนาฬิกา จอดจุดที่ 9 ตรงข้ามตึกแดงพลาซ่า เลี้ยวซ้ายไปตามถนนรัษฎา จอดจุดที่ 10 ร้านคอฟฟี่ ทอล์ค ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาภูเก็ต จอดจุดที่ 11 ตรงข้ามธนาคารกรุงไทย สาขาภูเก็ต วนวงเวียนน้ำพุไปยังถนนเยาวราช จอดจุดที่ 12 ธนาคารอิสลาม สาขาภูเก็ต เลี้ยวซ้ายไปตามถนนกระบี่ จอดจุดที่ 13 พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว เลี้ยวขวาไปตามถนนดีบุก จอดจุดที่ 14 ถนนดีบุก จอดจุดที่ 15 วัดมงคลนิมิตร จอดจุดที่ 16 โครงการไลม์ไลท์ ภูเก็ต เป็นป้ายสุดท้าย ก่อนถึงจุดจอดรถ

นายนิพนธ์ เอกวานิช ประธานที่ปรึกษากรรมการบริหาร บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า จากนโยบายแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ตที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาศัยการใช้พลังงานสะอาดในการลดมลพิษ และยกระดับการดำเนินชีวิตของประชาชนและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานโครงการต่างๆที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานโครงการต่างๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเห็นควรร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green City) เพื่อทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม คล่องตัว มีประสิทธิภาพและยั่งยืน