เผยตัวเลขพีคไฟฟ้ารอบ 7 ปี 2567 ช่วงวันหยุดยาว ยอดใช้พุ่งถึง 34,656 เมกะวัตต์ เฉียดทำลายสถิติ

ยอดใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา เกิดพีคไฟฟ้าของปี 2567 รอบที่ 7 ถึง 34,656 เมกะวัตต์ 
ช่วงกลางคืนวันที่ 6 เม.ย. 2567 ในระบบของ 3 การไฟฟ้า เหตุอากาศร้อนสะสม เฉียดทำลายสถิติพีคไฟฟ้าประเทศปี 2566 พลังงานระบุ ได้โซลาร์เซลล์ช่วยตัดพีคไฟฟ้ากลางวัน ส่งผลให้เกิดการเกลี่ยไฟฟ้าไปใช้กลางคืนตามระบบอัตราค่าไฟฟ้า TOU ชี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ใช้โรงไฟฟ้าให้เต็มประสิทธิภาพ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีไม่จำเป็นต้องปรับโครงสร้าง TOU ใหม่

เมื่อวานนี้ (9 เม.ย. 67) ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center - ENC) รายงานว่า จากสถิติการใช้ไฟฟ้าของไทยแบบเรียลไทม์ในระบบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ. ) พบว่าในช่วงวันหยุดยาว 3 วันที่ผ่านมา (วันที่ 6-8 เม.ย. 2567) สภาพอากาศร้อนสะสมต่อเนื่องทั่วประเทศ ส่งผลให้ยอดการใช้ไฟฟ้าในช่วง 3 วันดังกล่าวพุ่งเกิน 34,000 เมกะวัตต์โดยตลอด แต่ช่วงที่เกิดสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของปี 2567 นี้ ไปเกิดในวันที่ 6 เม.ย. 2567 มียอดใช้ไฟฟ้ารวม 34,656 เมกะวัตต์ ช่วงกลางคืนเวลา 20.54 น. ซึ่งพีคไฟฟ้าของปี 2567 นี้ นับว่าเข้าใกล้ยอดพีคไฟฟ้าของประเทศที่เคยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อปี 2566 ที่ 34,827 เมกะวัตต์

ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าหากสภาพอากาศยังคงร้อนสะสมต่อเนื่องไปอีก พีคไฟฟ้าของปี 2567 อาจทำลายสถิติของพีคไฟฟ้าประเทศที่เกิดปี 2566 ได้ ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์ว่าพีคไฟฟ้าปี 2567 จะพุ่งสูงสุดเกิน 35,000 เมกะวัตต์ได้ อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าในวันที่ 9-11 เม.ย. 2567 นี้จะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นหลายพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยให้ยอดการใช้ไฟฟ้าปรับลดลง

สำหรับระบบสถิติการใช้ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ของ สำนักงาน กกพ. เป็นการรวบรวมยอดการใช้ไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) ซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละวัน ขณะที่สถิติการใช้ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ในระบบของ กฟผ. จะเป็นยอดการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวันของ กฟผ. เท่านั้น

ทั้งนี้พีคไฟฟ้าปี 2567 ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมา 7 รอบแล้ว โดยเกิดขึ้นในเดือน เม.ย. 2567 มากที่สุดดังนี้…

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.24 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989.3 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 33,340 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 เวลา 20.51 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 33,827.1 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,196.5 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 เวลา 22.22 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,277.4 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 20.54 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,656.4 เมกะวัตต์

ขณะที่เมื่อย้อนดูสถิติยอดใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนของไทย นับตั้งแต่ ม.ค.- เม.ย. 2567 มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่นกัน ดังนี้…

>> เดือน ม.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 11 ม.ค. 2567 เวลา 18.52 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 29,051.3 เมกะวัตต์
>> เดือน ก.พ. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.29 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989.3 เมกะวัตต์
>> เดือน มี.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์
>> เดือน เม.ย. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 21.54 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,656.4 เมกะวัตต์

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรณีที่บางหน่วยงานแสดงความเห็นว่าควรปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU ใหม่ (Time of use tariff) หรือ ‘อัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาการใช้งาน’ เนื่องจากพีคไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงกลางคืน และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะหันมาใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนด้วย จึงทำให้ยอดการใช้ไฟฟ้าเกิดพีคกลางคืนเป็นส่วนใหญ่นั้น ที่ผ่านมาทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ กฟผ. เคยหารือร่วมกันและได้ข้อสรุปว่า ไม่ควรปรับเปลี่ยน TOU

เนื่องจากการตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าโดยภาพรวม ถือว่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานดีอยู่แล้ว ซึ่งหากปรับเปลี่ยนอัตราค่า TOU หรือ เปลี่ยนช่วงเวลาให้พีคไฟฟ้าไปเกิดในตอนกลางวัน ก็จะทำให้เกิดความปั่นป่วนกับผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งระบบ เช่น ปรับพีคไฟฟ้าไปเกิดช่วงกลางวันแทน โรงงานอุตสาหกรรมก็จะต้องเปลี่ยนช่วงเวลาการผลิตสินค้าไปช่วงกลางวันเช่นกันและแรงงานก็ต้องเปลี่ยนเวลาทำงานกันใหม่หมดด้วย

ที่ผ่านมามีการกำหนดค่า TOU เนื่องจากต้องการเกลี่ยการใช้ไฟฟ้าให้ได้ทั้งวัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดพีคไฟฟ้ากลางวันตลอด และทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้ามาเพื่อรองรับพีคในช่วง 2-3 เดือนเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มค่าและจากนั้นโรงไฟฟ้าที่สร้างมาจะใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะยอดการใช้ไฟฟ้าจะลดลงตามฤดูกาล ดังนั้นจึงกำหนด TOU เพื่อให้ประชาชนหันไปใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนบ้าง ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์และโรงไฟฟ้าก็ได้ผลิตไฟฟ้าเต็มประสิทธิภาพ และอยู่ในเกณฑ์ประสิทธิภาพที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานด้วย

ดังนั้นการเกิดพีคไฟฟ้าช่วงกลางคืนนี้ ในความเป็นจริงถ้าไม่มีการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากแสงอาทิตย์ที่มีมากกว่า 3,000 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้เกิดพีคไฟฟ้าช่วงกลางวันอยู่ดี ดังนั้นขณะนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของไทยเพิ่มขึ้น การที่ไม่เกิดพีคไฟฟ้ากลางวันเพราะมีโซลาร์เซลล์มาช่วยตัดพีคกลางวัน จึงเห็นการเกิดพีคช่วงกลางคืนแทนนั้นเอง

สำหรับ TOU จะแบ่งช่วงเวลาและอัตราคิดค่าไฟฟ้าดังนี้…

1. แรงดันไฟฟ้า 12-24 กิโลโวลต์ ช่วง On Peak (09.00 - 22.00 น. วันจันทร์-วันศุกร์) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5.1135 บาทต่อหน่วย ช่วง Off Peak (22.00 - 09.00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์ และ 00.00 - 24.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุด) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.6037 บาทต่อหน่วย แต่ค่าบริการจะสูงถึง 312.24 บาทต่อเดือน

2. แรงดันไฟฟ้าต่ำกว่า 12 กิโลโวลต์ ช่วง On Peak (09.00 - 22.00 น. วันจันทร์-วันศุกร์) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5.7982 บาทต่อหน่วย ช่วง Off Peak (22.00 - 09.00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์ และ 00.00 - 24.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุด) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย แต่ค่าบริการจะต่ำกว่าอยู่ที่ 24.62 บาทต่อเดือน