Sunday, 5 May 2024
ไฟฟ้า

ครม. เห็นชอบ ร่าง MOU ขยายความร่วมมือด้านไฟฟ้า ไทย-สปป.ลาว หวัง พัฒนาพลังงานสะอาดในภูมิภาค

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทย และ สปป. ลาว โดยให้ความสำคัญกับการซื้อขายพลังงานสะอาดในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

รวมถึงเป็นการเสริมสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศในรูปแบบต่างๆ ซึ่งขอบเขตความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งขยายความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า โดยเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตขึ้นอีก 1,500 เมกะวัตต์ จากปริมาณกำลังผลิตเดิม 9,000 เมกะวัตต์ รวมปริมาณกำลังผลิตเป็น 10,500 เมกะวัตต์ เพื่อขายพลังงานไฟฟ้าให้กับไทย โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบการซื้อขายไฟฟ้า 

สำหรับขอบเขตความร่วมมือในด้านอื่นๆ อาทิ 1.การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาร่วมกันในรายละเอียดเชิงเทคนิค 2.พัฒนาไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงความร้อน พัฒนาระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าและระบบขายปลีกไฟฟ้า ใน สปป.ลาว 3.จัดสรรทรัพยากรน้ำ รวมถึงความร่วมมืออื่นๆในการลดการปล่อยคาร์บอน  4.พิจารณาการก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าข้ามพรมแดนของแต่ละประเทศ รวมถึงเชื่อมโยงกับระบบสายส่งเดิมกับประเทศที่สาม 

‘ก้าวไกล’ ผุดไอเดียค่าไฟ ปลดล็อกสายส่ง ตัดวงจรนายทุน เปิดเสรีให้ ปชช.เลือกซื้อไฟฟ้าที่มีราคาถูกที่สุดได้เอง

‘วรภพ’ ชี้ รัฐบาลประยุทธ์ขึ้นค่าไฟ-ทิ้งทวนอนุมัติโรงไฟฟ้าอีก 763 เมกะวัตต์ เยอะเกินจำเป็น ยิ่งปล่อยให้มีรัฐบาลเอื้อทุนพลังงาน ยิ่งสร้างภาระประชาชน ชูนโยบายก้าวไกล ‘ปลดล็อกสายส่ง’ ประชาชนซื้อไฟฟ้าราคาถูกได้เอง-ลดค่าไฟ 70 สตางค์/หน่วย ภายใน 1 ปี

(25 มี.ค.66) นายวรภพ วิริยะโรจน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงปัญหาค่าไฟแพงว่า รัฐบาลเพิ่งประกาศขึ้นค่าไฟบ้านเรือนงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 อีก 5 สตางค์/หน่วย ทั้ง ๆ ที่ ราคาก๊าซ LNG นำเข้าที่รัฐบาลชอบอ้าง จะลดลงมาแล้ว 60% จากเมื่อสิ้นปี อีกทั้งปัญหาเดิมเรื่องประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าเยอะเกินความต้องการ 60% ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข รัฐบาลชุดนี้กลับทิ้งทวนก่อนหมดอำนาจด้วยการอนุมัติโรงไฟฟ้าเพิ่มอีก 763 เมกะวัตต์ และทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชนยาวไปถึง 29 ปี ตามเอกสารแจ้งตลาดหลักทรัพย์ของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

นายวรภพ กล่าวว่า ตนต้องทวนย้ำอีกครั้ง เมื่อปี 2562 ก่อนการเลือกตั้ง 2 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งประเคนสัญญาโรงไฟฟ้าให้เอกชนเพิ่ม 1,940 เมกะวัตต์ มาคราวนี้เลือกตั้งปี 2566 รัฐบาลเร่งอนุมัติโรงไฟฟ้าให้เอกชนเพิ่มแบบทิ้งทวนอีก ทั้ง ๆ ที่ปี 2561 และปี 2565 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดไป 58% จนกล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ 12 โรง แต่ 7 โรง ไม่ได้เดินเครื่องเลยแม้แต่วันเดียว

นายวรภพ กล่าวอีกว่า โรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สุดท้ายก็จะเป็นประชาชนที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจากสัญญาที่รัฐบาลทำไว้กับเอกชนตลอดระยะเวลา 29 ปี และยังเป็นการอนุมัติสัญญาโรงไฟฟ้าทิ้งทวนแบบเร่งรีบ โดยที่รัฐบาลเตะถ่วงการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan) ให้ล่าช้ามาแล้ว 1 ปี จากที่ควรออกมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะถ้านำข้อมูลจริงมาทบทวนก็จะรู้ว่ายังไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องอนุมัติโรงไฟฟ้าเพิ่มในวันนี้

ยังไม่นับแผนรับซื้อพลังงานทางเลือกจากเอกชนเพิ่มอีก 5,203 เมกะวัตต์ โดยรับซื้อจากเอกชนที่ทำโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งเป็นโครงการโซลาร์ขนาดใหญ่ของเอกชน ไม่ใช่บนหลังคาชาวบ้าน ที่ 2.2 บาท/หน่วย รัฐบาลยังใจดีที่จะรับซื้อแพงกว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถผลิตได้เองที่ 1.5 บาท/หน่วย ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ต้นทุนของค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นในระยะยาว

การเลือกตั้งกับค่าไฟแพง “สำรองไฟฟ้าเกินความจำเป็น” วาทกรรมฮิตใช้โจมตีรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงความเสียหาย หากสำรองไฟฟ้าไว้ไม่เพียงพอ

ประเด็น ‘ค่าไฟฟ้าแพงมหาโหด’ กลายเป็นข่าวใหญ่ของสื่อหลายสำนัก เป็นประเด็นหาเสียงของนักการเมืองและพรรคการเมือง และถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีของนักเคลื่อนไหว โดยหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นคือจัดให้มีกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นประเด็นที่ใช้โจมตีว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรองกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เป็นจำนวนมาก เป็นพฤติกรรมและพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนพลังงาน กระทั่งมีคนบางพวกบางกลุ่มกล่าวหาว่า มีการสมรู้กันทุจริตฉ้อโกงประเทศชาติและฉ้อโกงประชาชนด้วยการกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองมากจนล้นเกิน

ทำไมประเทศไทยจึงต้องจัดให้มีกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เป็นจำนวนมาก? เพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้บริการกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชนย่อมต้องทราบดีว่าแต่ละปี แต่ละห้วงเวลา ประเทศไทยต้องใช้กระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนเท่าใด จะต้องเตรียมกระแสไฟฟ้าปริมาณเท่าใด เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ของผู้บริโภคในทุกฤดูกาล เมื่อประเทศจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าและจำเป็นต้องมีการสำรองกระแสไฟฟ้าไว้ให้เพียงพอต่อการใช้สอยโดยไม่ขัดสน ซึ่งปริมาณการสำรองที่พอเหมาะพอดีจะมีผลต่อประสิทธิภาพและสมรรถนะในการทำกำไรของการประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับไฟฟ้า ซึ่งผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้สติปัญญาความสามารถและเปี่ยมด้วยความรับผิดชอบจึงจะสามารถรักษาประโยชน์แห่งรัฐและองค์กร ตลอดจนประโยชน์ของประชาชนได้ 

เพราะหากการสำรองกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้แล้วก็จะเกิดผลกระทบต่อการให้บริการแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะถ้ากระทบต่อการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็จะกลายความเสียหายมากมาย ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากมีการสำรองกระแสไฟฟ้าไว้จนมากเกินต่อความจำเป็น และเกินกว่าอัตรามาตรฐานปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ควรสำรอง ก็จะเกิดความเสียหายแก่หน่วยงาน เพราะทุกจำนวนที่มีการสำรองกระแสไฟฟ้านั้นจะต้องจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่ผู้จำหน่าย ไม่ว่าจะมีการใช้กระแสไฟฟ้านั้นหรือไม่ก็ตาม เพราะปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าสูงสุดย่อมต้องทราบดีอยู่แล้ว เพราะสถิติบันทึก จึงสามารถประมาณการความต้องการกระแสไฟฟ้าได้ 

‘การสำรองไฟฟ้า’ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักคือ
1. กำลังผลิตสำรองของระบบผลิตไฟฟ้า (Standby Reserve) เป็นโรงไฟฟ้าสำรองตามแผนการผลิตไฟฟ้า โดยมาตรฐานสากลจะกำหนดไว้ราว 15 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเนื่องจากในการวางแผนการผลิตไฟฟ้า จะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ อย่างรอบคอบ อาทิ ความต้องการไฟฟ้าที่อาจเพิ่มสูงกว่าการพยากรณ์ การหยุดซ่อมโรงไฟฟ้า การเสื่อมสภาพของโรงไฟฟ้า ความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง ข้อจำกัดของระบบส่งในแต่ละพื้นที่ และลักษณะทางเทคนิคของ โรงไฟฟ้าแต่ละประเภท

2. กำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) เป็นกำลังผลิตสำรองจากโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่ หรือ สามารถ สั่งเพิ่มการจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีที่ระบบมีความต้องการ ซึ่งตามมาตรฐานจะอยู่ที่ 800-1,600 เมกะวัตต์ หรือ อย่างน้อยมากกว่า กำลังผลิตของโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด เพื่อรองรับหากเกิดเหตุการณ์ขัดข้องที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาดใหญ่ เช่น กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติก็สามารถสั่งจ่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทันที ป้องกันปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับ ซึ่งอาจลุกลามจนเกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง (Blackout) ได้

อย่างไรก็ตาม ‘การสำรองไฟฟ้า’ ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันขึ้นกับเงื่อนไขและฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยประเทศที่มีเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่าความต้องการค่อนข้างสูง โดย กฟผ. ได้ศึกษาระบบการผลิตไฟฟ้าของหลายประเทศเอาไว้ ดังนี้ (ข้อมูลของปี พ.ศ. 2563)

-สเปน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 100% เทียบกับ ค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 80% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 180%

-อิตาลี มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 81% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 55% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 136%

-โปรตุเกส มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 65% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 65% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 130%

-เดนมาร์ค มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 32% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 98% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 130%

-เยอรมนี มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 13% เทียบกับ ค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบอีก 98% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 111%

-เนเธอร์แลนด์ มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 65% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 28% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 93%

-สวิสเซอร์แลนด์ มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 81% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 11% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิต ที่มากกว่าความต้องการ 92%

-จีน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 68% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 23% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 91%

-ออสเตรเลีย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 44% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 21% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 65%

-สวีเดน มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 36% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 21% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการ 57%

-มาเลเซีย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 47% เทียบกับค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 4% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 51%

-ไทย มีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการที่ใช้รักษาความมั่นคงของระบบ (Firm) 22% เทียบกับ ค่าวางแผนที่ 15% และมีพลังงานทดแทนเสริมเข้ามาในระบบ 17% ทำให้โดยรวมมีกำลังผลิตที่มากกว่า ความต้องการ 39% 
(ที่มา : The Bangkok Insight)

ไขข้อสงสัย!! เหตุ ‘ลุงตู่’ อนุมัติให้ซื้อไฟฟ้าเพิ่ม ร่ายเหตุผล ปทท.มีแผน 'เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด' ผลักดัน Net-Zero

(23 เม.ย.66) ผู้ใช้บัญชี ‘Supote Laocharoen’ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า…

ลุงตู่อนุมัติให้ซื้อไฟฟ้าเพิ่มอีกทำไม?

... ถ้าคนมันจะพูดให้เป็นเรื่อง ก็จะพูดแค่ "ลุงตู่อนุมัติให้ซื้อไฟฟ้าเพิ่ม ทั้งที่มีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากมาย จนทำให้ค่าไฟฟ้าแพงอยู่ตอนนี้" พูดเพียงเท่านี้ ลุงตู่ก็ตกเป็นผู้ต้องสงสัยขึ้นมาทันทีว่า เพราะอะไร มีผลประโยชน์กับเอกชนหรือไม่ บลาๆๆๆๆๆๆ

... แต่ถ้าหาข่าวหาข้อเท็จจริง ก็จะเข้าใจได้ว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติให้รับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดมาตั้งแต่ 2562 ตามโครงการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ไม่ได้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล

... ประเทศไทยมีแผนเพิ่มการผลิตไฟฟ้า ด้วยพลังงานสะอาด เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย Net-Zero Carbon Emission ของประเทศไทยให้ได้ 40% ภายในปี พ.ศ. 2573 ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุม COP26 โดยรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงแดด หรือใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง เพื่อจัดหาไฟฟ้าให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่ระบบไฟฟ้าฐานเข้าไม่ถึง จะได้มีไฟฟ้าใช้ในการดำเนินชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง รวมถึงเริ่มนำโมเดลเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 ด้าน คือ ชีวภาพ (Bio) หมุนเวียน (circular) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) หรือ BCG 

... นี่คือเหตุผลที่ กพช. มีมติให้รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมันคนละเรื่องกับไฟฟ้าที่ได้มีการทำสัญญารับซื้อไว้สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปัญหาเดิม มันแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่อนาคตของประเทศไทยก็ต้องเดินต่อไป ถ้าเราเดินช้าก็จะล้าหลัง


ที่มา : https://www.facebook.com/100000780943116/posts/pfbid0FEmT6eHCs4tN9KpzKf64QmJAv2ynS3zFWvmZw1XusxXvy9vFyhsh3YGQGGkSk1dhl/?mibextid=unz460

‘ปตท.’ ยึดมั่นในนโยบายรัฐ ดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก มุ่งสร้างสมดุลทุกภาคส่วน

นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีการพาดพิงการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ที่จำหน่ายให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในราคาที่ถูกกว่าโรงไฟฟ้าเป็นสาเหตุให้ค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ดังนี้

การจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นสัดส่วนเพียง 20% ใช้ในภาคอุตสาหกรรมขนส่งและครัวเรือนประมาณ 30% และใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า 50% ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ดำเนินการมากว่า 40 ปี ปริมาณสำรอง และปริมาณการผลิตลดลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จำเป็นต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ต้นทุนราคาเนื้อก๊าซเดียวกัน สำหรับในส่วนที่ต้องจัดหาเชื้อเพลิงเพิ่มเติมเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า หรือวัตถุดิบเพิ่มเติมในแต่ละผลิตภัณฑ์จะเป็นไปตามปัจจัยสถานการณ์ตลาดพลังงานโลก และตลาดของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

‘สส.สะถิระ’ ชงตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางโอนย้ายบริการไฟฟ้าของ ‘ชาวสัตหีบ’ จากสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือไปให้ กฟภ. หวังแก้ปัญหา ‘ไฟดับ-ไฟแพง’ 

(2 ส.ค. 66) นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ สส.ชลบุรี เขต 10 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ตนได้เสนอญัตติด่วนเพื่อขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการมอบหน้าที่การให้บริการไฟฟ้า อำเภอสัตหีบ จากกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทาน กองทัพเรือ ไปเป็นหน้าที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยตรง เพราะในตอนนี้พี่น้องประชาชน อำเภอสัตหีบ ทั้ง 5 ตำบล ตำบลแสมสาร ตำบลพลูตาหลวง ตำบลสัตหีบ ตำบลบางเสร่ และตำบลนาจอมเทียน ประสบปัญหาได้รับความเดือดร้อนจากการให้บริการไฟฟ้า โดยกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ทั้งการขยายเขตไฟฟ้า ไฟดับ ไฟตก ค่าไฟ รวมถึง สิทธิประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 

นายสะถิระ กล่าวต่อว่า การขยายเขตไฟฟ้าพี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบ ยังไม่มีไฟฟ้าถาวรใช้อีกหลายครัวเรือน รวมถึงการเพิ่มขนาดกระแสไฟฟ้าในแต่ละครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันกระแสไฟฟ้าในอำเภอสัตหีบตกบ่อยมาก ทำให้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับความเสียหาย ทำให้พี่น้องประชาชนอำเภอสัตหีบ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา

"การให้บริการไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นการให้บริการไฟฟ้าหลักของคนไทยทั้งประเทศ ควรเข้ามาให้บริการไฟฟ้าประชาชนอำเภอสัตหีบ เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ผมจึงขอเสนอญัตติด่วนดังกล่าว เพื่อตั้ง กมธ.ศึกษาให้ประชาชนอำเภอสัตหีบได้รับการบริการสาธารณะชั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ และเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยด่วน"นายสะถิระ กล่าว
 

‘อัครเดช’ ย้ำ ‘มาตรการลดไฟฟ้า-น้ำมัน’ รทสช.ทำตามที่ได้หาเสียงไว้ วอนภาคเอกชนช่วยลดราคาสินค้า หลังต้นทุนในการขนส่งลดลง

(14 ก.ย.66) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลดค่าไฟฟ้า-น้ำมัน ว่า พรรครวมไทยสร้างชาติได้ประกาศนโยบายในการหาเสียงว่า จะลดค่าครองชีพประชาชน เมื่อได้เข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ในฐานะรมว.พลังงาน ได้เสนอนโยบายลดราคาเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้า ได้รับความเห็นชอบจากครม. ทางพรรครวมไทยสร้างชาติต้องขอบคุณครม.ที่ได้อนุมัติมาตรการที่นายพีระพันธุ์เสนอเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

นายอัครเดช กล่าวว่า จากนี้ไปก็ขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ รวมถึงภาคเอกชนทุกภาคส่วนได้ช่วยกันลดราคาสินค้าให้กับพี่น้องประชาชนด้วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เมื่อราคาน้ำมันดีเซลลดลงซึ่งถือเป็นต้นทุนในการขนส่ง ก็จะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงด้วย กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคเอกชนก็ต้องช่วยกันสนับสนุนการลดราคาสินค้าให้กับประชาชนด้วยเช่นกัน

“ทั้งนี้ มาตรการลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และลดไฟฟ้าคงไม่ใช่มาตรการเดียวที่จะทำ หลังจากนี้กระทรวงพลังงานยังมีมาตรการอื่น ๆ ทยอยออกมาเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนให้ได้ทุกกลุ่ม ตามที่นายพีระพันธุ์ได้ประกาศไว้ เช่น การช่วยเหลือเกษตรกร การช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่ และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง นายพีระพันธุ์เพิ่งทำงานวันแรกหลังจากนี้จะทยอยมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเรื่อย ๆ ขอให้ประชาชน ติดตามมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลจะทยอยประกาศออกมา” โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าว

โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงเสียงวิจารณ์ต่อมาตรการดังกล่าวว่า รัฐบาลนี้มาจากประชาชน ผ่านการเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารประเทศอะไรที่ได้หาเสียงไว้ก็ถือเป็นความรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชน เมื่อแต่ละพรรคการเมืองได้เข้าไปบริหารในแต่ละกระทรวง ก็จะนำนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ไปขับเคลื่อน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติได้ตระหนักดีว่า เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้สัญญากับประชาชนเอาไว้

“การที่ฝ่ายค้านได้วิจารณ์นโยบายดังกล่าวก็เข้าใจ แต่ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลเมื่อเข้ามาบริหารประเทศก็ต้องใช้เงินงบประมาณในการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือประชาชน แม้แต่พรรคฝ่ายค้านที่วิจารณ์ ถ้าเข้ามาเป็นรัฐบาลถ้าจะช่วยเหลือประชาชนก็ต้องใช้งบประมาณของแผ่นดิน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การใช้งบประมาณช่วยเหลือประชาชนต้องเกิดความโปร่งใสไร้การรั่วไหลของเงินงบประมาณ จะประชานิยมหรือไม่ประชานิยมไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือ ต้องไม่มีทุจริตคอร์รัปชัน และเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์กับประชาชนสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องยึดหลักเอาไว้” นายอัครเดชกล่าว

'พีระพันธุ์’ เชียร์นำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว  จี้!! กฟผ. แจงเหตุผลที่จำเป็นแก่ประชาชน

เมื่อวานนี้ (3 ธ.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ บ้านหนองแก ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี ว่าโครงการนี้เป็นโครงการระบบส่งที่รับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า IPP พลังน้ำจากเขื่อนน้ำงึม 2 เขื่อนน้ำเงี้ยบ 1 และเขื่อนน้ำเทิน 1 จาก สปป.ลาว มีกำลังการผลิตรวม 1,516 เมกะวัตต์ ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 2559 ด้วยมูลค่าก่อสร้าง 859 ล้านบาท ซึ่งการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า เป็นพลังงานสะอาดและสามารถลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่มีราคาผันผวนในระดับสูงอยู่ในปัจจุบันได้ ซึ่งในส่วนของจังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดที่มีการใช้ปริมาณไฟฟ้าสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยสถานีไฟฟ้าแรงสูง 3 จังหวัดอุดรธานี ที่ได้เยี่ยมชมในวันนี้นับว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาในปัจจุบัน เพราะต้นทุนไฟฟ้าพลังงานจาก สปป.ลาว มีราคาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับราคาก๊าซธรรมชาตินำเข้าในปัจจุบันที่มีราคาผันผวนในระดับที่สูง แต่กระทรวงพลังงานก็พยายามบริหารจัดการทั้งโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าและโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้เกิดความเป็นธรรม ไปพร้อมกับการจัดหาแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนต่ำ สร้างความมั่นคงเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรม เหมาะสม และยั่งยืน

“ผมได้แสดงความห่วงใยถึงภาระหนี้ที่ กฟผ. แบกรับอยู่ ณ ปัจจุบัน พร้อมจะช่วยแก้ปัญหา รวมทั้งขอให้ กฟผ.ชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนรับทราบถึงความจำเป็นในการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและมีต้นทุนที่ต่ำ” นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้เดินทางไปยังโรงไฟฟ้าของบริษัท เรืองสิริวรรณ จำกัด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี โรงไฟฟ้าประเภทก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ กำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 0.90 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2561 โรงไฟฟ้าดังกล่าวถูกร้องเรียนจากประชาชนถึงมลภาวะทางกลิ่นและฝุ่น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เขต 4 ร่วมกับสำนักงานพลังงานจังหวัดอุดรธานี สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 9 (อุดรธานี) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้เข้าร่วมตรวจสอบการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าและได้สั่งให้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ได้มาตรฐานและไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนรอบโรงไฟฟ้า

“การเลือกดูงานที่โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพของบริษัท เรืองสิริวรรณ จำกัด เพราะได้รับรายงานว่าสร้างมลภาวะทางกลิ่นและฝุ่น ส่งผลกระทบกับประชาชนรอบโรงไฟฟ้า จากการรับฟังผู้ประกอบการได้รายงานแนวทางการแก้ไขปัญหา คาดการณ์ได้ว่าแก้ไขได้โดยเร็ว แต่ผมได้กำชับทั้งผู้ประกอบการและส่วนราชการในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่นี้รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ด้วย โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพนี้ แม้จะเป็นโครงการที่ดี สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ป้อนให้โรงไฟฟ้า และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ แต่โรงไฟฟ้าก็ต้องมีมาตรฐาน ไม่สร้างมลภาวะให้กับประชาชนรอบโรงไฟฟ้าด้วย” นายพีระพันธุ์กล่าว

‘พีระพันธุ์’ เข้ม!! กฟผ. ร้อนนี้ไฟฟ้าห้ามดับ พร้อมรณรงค์ชวนคนไทยร่วมยึดหลัก 5 ป.

8 มี.ค. 67 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ ได้มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2567 เมื่อเวลา 19.47 น. ที่ 32,704 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากฤดูร้อนที่เริ่มต้นเร็วกว่าปกติ และคาดว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยอาจจะสูงถึง 45 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้มีการใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้เกิด Peak เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. ที่ 34,826 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตรวจสอบและดูแลระบบการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อมิให้กระทบต่อประชาชนและการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมออกนโยบาย 5 ป. ได้แก่ ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน ปลูก ซึ่งประกอบด้วย…

1. ปิด : การปิดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งาน
2. ปรับ : ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 26 องศา
3. ปลด : ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังการใช้งาน
4. เปลี่ยน : หากมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ให้เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5
5. ปลูก : ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน

“ผมได้สั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เตรียมความพร้อมในการดูแลเรื่องการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในทุกภาคส่วน และจะต้องไม่มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเกิดขึ้น

ในปีนี้ คาดว่าอุณหภูมิจะร้อนมากกว่าปีที่แล้ว จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าผ่านนโยบาย 5 ป. เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าลง ซึ่งนอกจากจะสามารถลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมได้แล้ว ยังสามารถลดค่าไฟฟ้าของประชาชนได้อีกด้วย

และในช่วงหน้าร้อนนี้ ขอเชิญชวนให้ทุกบ้านล้างแอร์ เพื่อให้แอร์สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ก็จะสามารถลดค่าไฟไปได้อีกทาง” นายพีระพันธุ์ กล่าว

เผยตัวเลขพีคไฟฟ้ารอบ 7 ปี 2567 ช่วงวันหยุดยาว ยอดใช้พุ่งถึง 34,656 เมกะวัตต์ เฉียดทำลายสถิติ

ยอดใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา เกิดพีคไฟฟ้าของปี 2567 รอบที่ 7 ถึง 34,656 เมกะวัตต์ 
ช่วงกลางคืนวันที่ 6 เม.ย. 2567 ในระบบของ 3 การไฟฟ้า เหตุอากาศร้อนสะสม เฉียดทำลายสถิติพีคไฟฟ้าประเทศปี 2566 พลังงานระบุ ได้โซลาร์เซลล์ช่วยตัดพีคไฟฟ้ากลางวัน ส่งผลให้เกิดการเกลี่ยไฟฟ้าไปใช้กลางคืนตามระบบอัตราค่าไฟฟ้า TOU ชี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ใช้โรงไฟฟ้าให้เต็มประสิทธิภาพ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีไม่จำเป็นต้องปรับโครงสร้าง TOU ใหม่

เมื่อวานนี้ (9 เม.ย. 67) ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center - ENC) รายงานว่า จากสถิติการใช้ไฟฟ้าของไทยแบบเรียลไทม์ในระบบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ. ) พบว่าในช่วงวันหยุดยาว 3 วันที่ผ่านมา (วันที่ 6-8 เม.ย. 2567) สภาพอากาศร้อนสะสมต่อเนื่องทั่วประเทศ ส่งผลให้ยอดการใช้ไฟฟ้าในช่วง 3 วันดังกล่าวพุ่งเกิน 34,000 เมกะวัตต์โดยตลอด แต่ช่วงที่เกิดสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของปี 2567 นี้ ไปเกิดในวันที่ 6 เม.ย. 2567 มียอดใช้ไฟฟ้ารวม 34,656 เมกะวัตต์ ช่วงกลางคืนเวลา 20.54 น. ซึ่งพีคไฟฟ้าของปี 2567 นี้ นับว่าเข้าใกล้ยอดพีคไฟฟ้าของประเทศที่เคยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อปี 2566 ที่ 34,827 เมกะวัตต์

ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าหากสภาพอากาศยังคงร้อนสะสมต่อเนื่องไปอีก พีคไฟฟ้าของปี 2567 อาจทำลายสถิติของพีคไฟฟ้าประเทศที่เกิดปี 2566 ได้ ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์ว่าพีคไฟฟ้าปี 2567 จะพุ่งสูงสุดเกิน 35,000 เมกะวัตต์ได้ อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าในวันที่ 9-11 เม.ย. 2567 นี้จะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นหลายพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยให้ยอดการใช้ไฟฟ้าปรับลดลง

สำหรับระบบสถิติการใช้ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ของ สำนักงาน กกพ. เป็นการรวบรวมยอดการใช้ไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) ซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละวัน ขณะที่สถิติการใช้ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ในระบบของ กฟผ. จะเป็นยอดการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวันของ กฟผ. เท่านั้น

ทั้งนี้พีคไฟฟ้าปี 2567 ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมา 7 รอบแล้ว โดยเกิดขึ้นในเดือน เม.ย. 2567 มากที่สุดดังนี้…

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.24 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989.3 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 33,340 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 เวลา 20.51 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 33,827.1 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,196.5 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 เวลา 22.22 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,277.4 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 20.54 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,656.4 เมกะวัตต์

ขณะที่เมื่อย้อนดูสถิติยอดใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนของไทย นับตั้งแต่ ม.ค.- เม.ย. 2567 มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่นกัน ดังนี้…

>> เดือน ม.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 11 ม.ค. 2567 เวลา 18.52 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 29,051.3 เมกะวัตต์
>> เดือน ก.พ. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.29 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989.3 เมกะวัตต์
>> เดือน มี.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์
>> เดือน เม.ย. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 21.54 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,656.4 เมกะวัตต์

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรณีที่บางหน่วยงานแสดงความเห็นว่าควรปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU ใหม่ (Time of use tariff) หรือ ‘อัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาการใช้งาน’ เนื่องจากพีคไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงกลางคืน และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะหันมาใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนด้วย จึงทำให้ยอดการใช้ไฟฟ้าเกิดพีคกลางคืนเป็นส่วนใหญ่นั้น ที่ผ่านมาทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ กฟผ. เคยหารือร่วมกันและได้ข้อสรุปว่า ไม่ควรปรับเปลี่ยน TOU

เนื่องจากการตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าโดยภาพรวม ถือว่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานดีอยู่แล้ว ซึ่งหากปรับเปลี่ยนอัตราค่า TOU หรือ เปลี่ยนช่วงเวลาให้พีคไฟฟ้าไปเกิดในตอนกลางวัน ก็จะทำให้เกิดความปั่นป่วนกับผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งระบบ เช่น ปรับพีคไฟฟ้าไปเกิดช่วงกลางวันแทน โรงงานอุตสาหกรรมก็จะต้องเปลี่ยนช่วงเวลาการผลิตสินค้าไปช่วงกลางวันเช่นกันและแรงงานก็ต้องเปลี่ยนเวลาทำงานกันใหม่หมดด้วย

ที่ผ่านมามีการกำหนดค่า TOU เนื่องจากต้องการเกลี่ยการใช้ไฟฟ้าให้ได้ทั้งวัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดพีคไฟฟ้ากลางวันตลอด และทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้ามาเพื่อรองรับพีคในช่วง 2-3 เดือนเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มค่าและจากนั้นโรงไฟฟ้าที่สร้างมาจะใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะยอดการใช้ไฟฟ้าจะลดลงตามฤดูกาล ดังนั้นจึงกำหนด TOU เพื่อให้ประชาชนหันไปใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนบ้าง ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์และโรงไฟฟ้าก็ได้ผลิตไฟฟ้าเต็มประสิทธิภาพ และอยู่ในเกณฑ์ประสิทธิภาพที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานด้วย

ดังนั้นการเกิดพีคไฟฟ้าช่วงกลางคืนนี้ ในความเป็นจริงถ้าไม่มีการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากแสงอาทิตย์ที่มีมากกว่า 3,000 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้เกิดพีคไฟฟ้าช่วงกลางวันอยู่ดี ดังนั้นขณะนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของไทยเพิ่มขึ้น การที่ไม่เกิดพีคไฟฟ้ากลางวันเพราะมีโซลาร์เซลล์มาช่วยตัดพีคกลางวัน จึงเห็นการเกิดพีคช่วงกลางคืนแทนนั้นเอง

สำหรับ TOU จะแบ่งช่วงเวลาและอัตราคิดค่าไฟฟ้าดังนี้…

1. แรงดันไฟฟ้า 12-24 กิโลโวลต์ ช่วง On Peak (09.00 - 22.00 น. วันจันทร์-วันศุกร์) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5.1135 บาทต่อหน่วย ช่วง Off Peak (22.00 - 09.00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์ และ 00.00 - 24.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุด) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.6037 บาทต่อหน่วย แต่ค่าบริการจะสูงถึง 312.24 บาทต่อเดือน

2. แรงดันไฟฟ้าต่ำกว่า 12 กิโลโวลต์ ช่วง On Peak (09.00 - 22.00 น. วันจันทร์-วันศุกร์) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5.7982 บาทต่อหน่วย ช่วง Off Peak (22.00 - 09.00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์ และ 00.00 - 24.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุด) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย แต่ค่าบริการจะต่ำกว่าอยู่ที่ 24.62 บาทต่อเดือน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top