‘รมว.ปุ้ย’ กรุยทางยกระดับรอบด้านโครงสร้างพื้นฐาน 'นครศรีธรรมราช' พร้อมเพิ่มทักษะ 'ชุมชนดีพร้อม' เชื่อมท่องเที่ยว 'สายมู' สร้างรายได้ยั่งยืน

รมว.ปุ้ย ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ลุยแผนยกระดับศักยภาพพื้นที่ ขานรับนโยบายรัฐบาล มุ่งสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์จากอัตลักษณ์และวัตถุดิบในท้องถิ่น ผ่านการอัปสกิลชุมชน ให้ 'ดีพร้อม' ถอดรหัสความสำเร็จเชื่อมโยงท่องเที่ยวสายมูสู่การขยายผลพัฒนาชุมชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมหารือนายกฯ เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ต่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในพื้นที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

(9 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างการลงพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า การยกระดับเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นต้องเสริมความแข็งแกร่งในระดับภูมิภาคควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนความมั่งคั่งของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงพื้นที่และมอบนโยบายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการยกระดับต้นทุนเดิมไปสู่ศักยภาพในการแข่งขัน 

ทั้งนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจในพื้นที่มีความเข้มแข็งและประชาชนสามารถมีรายได้อย่างยั่งยืนได้นั้น จึงจำเป็นต้องกระจายโอกาสและสร้างรายได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงการเชื่อมโยงศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ในพื้นที่

สำหรับ จ.นครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดใหญ่ของทางภาคใต้ มีภูมิประเทศและลักษณะภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ และมีศักยภาพทางด้านศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ความศรัทธา และความเชื่อที่มีมนต์เสน่ห์สวยงาม โดยเฉพาะการเชื่อมโยงศิลปวัฒนธรรมการแสดงของชาวภาคใต้ อาทิ ครูหมอมโนราห์ ตาพรานบุญ ด้วยอัตลักษณ์ที่โดดเด่นและกลมกลืนกับวิถีชีวิตชุมชน รวมถึงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ประชาชนให้ความเลื่อมใสสักการะ อาทิ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร, ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช, วัดเจดีย์ จึงถือได้ว่ามีศักยภาพอย่างยิ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวสายมู อีกทั้ง ยังมีศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีความเหมาะสมอย่างมากในการนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม 

ขณะเดียวกัน ได้หารือนายกฯ เพื่อต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคมที่มีความพร้อมในการขนส่งเชื่อมโยงในทุกด้าน รวมถึงความพร้อมในการยกระดับทุกมิติด้วยการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว การขนส่ง และกระจายโอกาสสู่การพัฒนาตามแนววิสัยทัศน์ 'IGNITE THAILAND : จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง' ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือได้ว่า จ.นครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความพร้อมในการพัฒนาในทุกๆ ด้านไปสู่เศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคง

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมองหาโอกาสในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อให้เป็นแหล่งรายได้สำหรับภาคประชาชน พร้อมทั้งส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการและชุมชนให้สามารถสร้างมูลค่าจากอัตลักษณ์และวัตถุดิบในท้องถิ่นผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ตลอดจนการแปรรูปในเชิงอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีที่สอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ 

โดยมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ 'ดีพร้อม' เร่งยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเข้มแข็งชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบผ่านโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ 'เปลี่ยนชุมชน ให้ดีพร้อม สู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืน' ด้วยการถอดบทเรียนความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนจากผู้ประกอบการและเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้เข้ารับบริการของกระทรวงอุตสาหกรรมมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบอกเล่าประสบการณ์ในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไปได้นำไปปรับใช้กับธุรกิจและเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชุมชนสายมูได้อย่างดี โดยมีประชาชนจากชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 2,000 คน 

ขณะเดียวกัน รมว.ปุ้ย ยังได้ใช้โอกาสในการลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชหารือ กับนายกฯ เศรษฐา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการยกระดับศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการสนามบิน จ.นครศรีธรรมราชสู่สนามบินนานาชาติ รวมถึงผลักดันการขยายถนน 4 ช่องจราจร ได้แก่ สายคลองเหลง-ขนอม และ ขนอม-ดอนสัก ซึ่งเส้นทางนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญ ในการเชื่อมโยงการเดินทางไปยังเกาะสมุยที่ใกล้ที่สุด โดยถนนสาย นศ.4088 เชื่อมโยงระหว่าง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ไปยัง อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเชื่อมั่นว่าเส้นทางนี้จะสามารถสร้างมิติใหม่ให้กับการท่องเที่ยวในพื้นที่ และเป็นเส้นทางขนส่งผลผลิตทุเรียนมูลค่านับพันล้านบาทต่อปี อีกทั้ง ยังเป็นเส้นทางอพยพของประชาชนในช่วงฤดูมรสุม น้ำหลาก 

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับปรุงถนนเลียบชายทะเลขนอม-สิชล และถนนเลียบชายทะเลสิชล-ท่าศาลา เพื่อรองรับการพัฒนาไปสู่ถนนสายการกีฬาและท่องเที่ยวได้ในอนาคตอีกด้วย