รู้จัก ‘GAC AION’ ค่ายรถ EV ยักษ์ใหญ่จากจีน พร้อมท้าชิง ‘ตลาดไทย’

จากกระแสโลกที่หันมาให้ความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมหนุนให้ใช้พลังงานสะอาด หลาย ๆ อุตสาหกรรมต่างตื่นตัวตอบรับกับกระแสดังกล่าว เช่นเดียวกับวงการยานยนต์ ที่ส่งผลให้ รถไฟฟ้า หรือ EV มาแรงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะค่าย EV จากผู้ผลิตสัญชาติจีน ที่ในวันนี้กลายเป็นประเทศที่ส่งออก EV มากที่สุดของโลกไปแล้ว หากนับเฉพาะการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า 100% ล่าสุดพบว่า BYD ค่าย EV ยักษ์ใหญ่จากจีน มียอดขายแซง TESLA ของ อีลอน มัสก์ ไปเรียบร้อย

แน่นอนว่า ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า ของจีนไม่ใช่มีแค่แบรนด์เดียว แต่มีมากมายหลากหลายแบรนด์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบรนด์เกิดใหม่จากการสนับสนุนของรัฐบาลกลางของจีน

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับค่าย BYD, ฉางอัน, GWM หรือ Great Wall Motor ที่เข้ามาทำตลาดในไทยเป็นเจ้าแรก ๆ แต่ทว่า ยังมีค่าย EV น้องใหม่มาแรง ที่มีเทคโนโลยีโดดเด่นไม่เป็นรองแบรนด์ที่กล่าวมาเลย และเป็นอีกหนึ่งค่ายที่น่าจับตาอย่างยิ่ง ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่ว่านี้ก็คือ ‘GAC AION’ (จีเอซี ไอออน) นั่นเอง

สำหรับ GAC AION เป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า ในเครือ ‘กว่างโจว ออโต้โมบิล กรุ๊ป’ หรือ GAC Group ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับ Top 5 ของจีน 

โดยโรงงานแห่งแรกของ GAC AION ได้เริ่มเดินสายพานการผลิตเมื่อเดือนเมษายน 2562 และในปี 2565 มียอดขายรถยนต์ EV รวมถึง 2.5 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านหยวน ทำให้ AION ก้าวขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 3 แบรนด์รถยนต์ EV ที่มียอดการจำหน่ายสูงสุดของประเทศจีน และยังติดเป็นอันดับ 186 ของบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลกจากการประเมินรายได้และการจัดอันดับของฟอร์จูน โกลบอล 500 อีกด้วย

อย่างที่ทราบกันดีว่า ตลาดรถยนต์ EV ในประเทศไทย กำลังอยู่ในช่วงเนื้อหอมอย่างมาก และ AION เป็นอีกหนึ่งค่ายที่ไม่ยอมพลาดโอกาสทองนี้ โดยได้ประกาศเข้าสู่ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยอย่างเต็มตัว ด้วยการลงนามแต่งตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ไปเมื่อ วันที่ 28 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นการส่งสัญญาณรุกสู่ตลาดประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ขณะเดียวกัน ยังประกาศแผนตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย พร้อมกับได้ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ EV ในไทยให้ได้ 100,000 คันต่อปี รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการผลิตแบตเตอรี่ด้วย โดยมูลค่าการลงทุนในประเทศไทยของ AION เบื้องต้น อยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านหยวน หรือ ประมาณ 6,400 ล้านบาท

AION ให้ความสนใจจะเข้ามาปักหมุดลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทย มาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2566 เนื่องจากเห็นโอกาสและศักยภาพตลาดรถยนต์ EV ในไทยที่กำลังเติบโต ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยยังได้ให้การสนับสนุนโครงการรถยนต์ EV และอุตสาหกรรมยานยนต์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการทำการตลาด และนโยบายด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนผ่านทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาคอาเซียน 

ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของ AION ที่ให้ความสำคัญและมองถึงโอกาสที่จะใช้โรงงานในไทยเป็นฐานการผลิต รถยนต์พวงมาลัยขวาโดยเฉพาะ เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย และส่งออกไปยังประเทศที่ใช้รถยนต์พวงมาลัยขวาทั่วโลก 

ปัจจุบัน AION Thailand ได้เดินหน้าก่อสร้างโรงงานสำหรับผลิตรถยนต์ในประเทศไทย โดยตัวโรงงานตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC จังหวัดระยอง ซึ่งเฟสแรกอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2567 และมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 50,000 คันต่อปี 

อย่างไรก็ดี ก่อนที่โรงงานในไทยจะเริ่มเดินสายพานการผลิตได้เต็มรูปแบบ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568 ในส่วนของรถยนต์ที่จัดจำหน่าย จะมาจากการนำเข้าจากฐานการผลิตที่ประเทศจีน ซึ่งขณะนี้ได้เดินหน้าลุยตลาดไปแล้ว ทั้งการขยายตัวแทนจำหน่าย และศูนย์บริการ โดยมีเป้าหมาย 3 ปี จะขึ้นเป็นอันดับ 1 ในตลาด EV ประเทศไทย

และเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นวันที่ AION ได้เข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอย่างเป็นทางการ ด้วยการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นแรก ชื่อรุ่นว่า AION Y Plus รถยนต์ Compact Cross Over 5 ที่นั่ง 

สำหรับจุดเด่นของรถยนต์ไฟฟ้า AION Y Plus นอกจากจะเป็นรถที่มีขนาดใหญ่และอเนกประสงค์แล้ว อีกสิ่งสำคัญที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบก็คือ เรื่องของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ AION นำมาใช้ในรถรุ่น Y Plus ที่เรียกว่า Magazine Battery นั่นเอง 

Magazine Battery เป็นเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่มีความปลอดภัยสูง พัฒนาขึ้นโดย AION ซึ่งประกอบด้วย เคสด้านบนของแบตเตอรี่ผลิตจากฉนวนทนความร้อนสูงสุดที่ 1,400 องศาเซลเซียส ส่วนเซลล์แบตเตอรี่ที่มีคุณสมบัติทนความร้อนได้มากกว่าปกติ 30% ภายในแบตเตอรี่ยังได้มีติดตั้งระบบการจัดการแบตเตอรี่ รุ่นที่ 4 ที่มีระบบจัดการความร้อน ทำให้แบตเตอรี่เย็นลงได้อย่างรวดเร็ว

ไม่เพียงเท่านั้น Magazine Battery ยังได้ผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยขั้นสูง เพื่อให้มั่นใจว่าแบตเตอรี่ที่นำไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้ามีความปลอดภัย โดย GAC AION ได้ทำการทดสอบยิงด้วยกระสุนปืนทะลุแบตเตอรี่ ผลการทดสอบที่ได้คือ แบตเตอรี่ไม่ติดไฟ

รวมถึงทดสอบการเจาะทะลุแบตเตอรี่ด้วยแท่งเหล็ก ด้วยความเร็วที่มากกว่าการยิงด้วยกระสุนปืน และมีเส้นผ่าศูนย์กลางของรอยทะลุขนาดใหญ่กว่ากระสุนปืนถึง 7-8 เท่า ผลการทดสอบที่ได้คือ แบตเตอรี่ไม่ระเบิดและไม่ติดไฟ

ต้องยอมรับว่า ทั้งในด้านเทคโนโลยี และความปลอดภัย รวมถึงศักยภาพด้านอื่น ๆ ของ AION เชื่อว่าจะสามารถต่อกรกับค่าย EV ได้ทุกแบรนด์ในตลาดประเทศไทย แต่จะไปถึงฝั่งฝืนสามารถก้าวขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 ของตลาด EV ประเทศไทย ภายใน 3 ปี ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้หรือไม่ เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ 

แต่ที่แน่ ๆ การเข้ามาบุกตลาด EV ประเทศไทย ของ AION ในครั้งนี้ คนที่ได้รับประโยชน์เต็ม ๆ ก็คือผู้บริโภคชาวไทย ที่จะมีรถ EV คุณภาพให้เลือกใช้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแบรนด์ ขณะเดียวกัน ยังส่งผลให้เกิดการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ใน EEC อย่างต่อเนื่อง ช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญในอาเซียน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของไทยในการก้าวสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกอีกด้วย