'สภาพัฒน์ฯ' เผย!! ค่าจ้างแรงงานโดยภาพรวมถูกลง 0.2% ผลจากการขาดทักษะ แต่ยังดีที่อัตราว่างงานลดลงตาม

(6 มี.ค. 67) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ตัวเลขการว่างงานของตลาดแรงงานไทยโดยภาพรวมกำลัง ‘ปรับตัวดีขึ้น’

โดยอัตราการว่างงานของแรงงานไทยมีการปรับตัวลดลงเหลือเพียง 0.81% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ส่งผลให้ปัจจุบันตัวเลขอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.98% ซึ่งเทียบเท่าได้กับระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19

หากใครยังไม่ทราบก่อนหน้านี้ตัวเลขการว่างงานของไทยอยู่มากกว่า 1% มาโดยตลอด และเพิ่งกลับร่วงลงต่ำกว่า 1% ในเร็ว ๆ นี้

จำนวนผู้มีงานทำในไตรมาส 4 ปี 2566 อยู่ที่ 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อนหน้า และจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลา (OT) หรือผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่ที่ 6.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.1%YoY

อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างแรงงานในภาพรวมไตรมาส 4 ปี 2566 กลับ ‘ลดลง’ 0.2%YoY อยู่ที่ 15,382 บาทต่อคนต่อเดือน โดยค่าจ้างเฉลี่ยที่ลดลงอาจเป็นผลมาจากปัญหาแรงงานไทยขาดทักษะที่นายจ้างต้องการ