พุ่งเป้า!! 'ไทย' จ่อทบทวน กม.คุม 'อินฟลูเอนเซอร์' เทียบเกณฑ์ ตปท.  หลังพบทำคอนเทนต์เชิงลบ สร้างกระแส หวังเพิ่มยอดวิว

(4 มี.ค.67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2566 และภาพรวมปี 2566 ว่า ด้านสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องอินฟลูเอนเซอร์ (influencer) ข้อมูลจาก Nielsen ในปี 2565 พบว่า ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ รวมกันมากถึง 13.5 ล้านคน โดยประเทศไทยมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ซึ่งการขยายตัวของอินฟลูเอนเซอร์ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นช่องทางสร้างรายได้ ทั้งจากการโฆษณาหรือ รีวิวสินค้า โดยในปี 2566 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับทั่วโลกถึง 19.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 140.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 7.4 เท่า ภายใน 7 ปี

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับไทย อินฟลูเอนเซอร์ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ได้ค่อนข้างสูง เฉลี่ยตั้งแต่ 800-700,000 บาทขึ้นไปต่อโพสต์ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันผลิตคอนเทนต์ และการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม (Engagement) ของอินฟลูเอนเซอร์มักมีการสร้างคอนเทนต์ให้เป็นกระแสโดยไม่ได้คำนึ่งถึงความถูกต้องเหมาะสมก่อนเผยแพร่ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมหลายประการ

อาทิ การนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เช่น การเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ จากรายงานผลการดำเนินงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พบจำนวนยอดละสมผู้โพสต์ที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอม 7,394 บัญชี โดยเป็นจำนวนข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนรวมกันกว่า 5,061 เรื่อง

นายดนุชา กล่าวว่า การชักจูงหรือชวนเชื่อที่ผิดกฎหมาย อาทิ การโฆษณาเว็บพนันออนไลน์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ข้อมูลจากผลการสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ในปี 2566 พบว่าคนรุ่นใหม่เล่นพนันออนไลน์ประมาณ 3 ล้านคน โดย 1 ใน 4 เป็นนักพนันฯ หน้าใหม่ หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 7.4 แสนคน โดยส่วนใหญ่ 87.7% พบเห็นการโฆษณาหรือได้รับการชักชวนทางออนไลน์ ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 1 ล้านคน
.
การละเมิดสิทธิพบว่าอินฟลูเอนเซอร์บางรายมีการเสนอข่าวอาชญากรรมราวกับละคร เพื่อสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ และไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เสียหาย ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังพบการทำข่าวโดยใช้ภาพผู้คนหรือ วิดีโอของผู้อื่นมาตัดต่อลงคอนเทนต์ของตน โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา
.
นายดนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาบางประเภทที่ไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย แต่อาจนำไปสู่การสร้างค่านิยมที่ผิดต่อสังคม อาทิ คอนเทนต์ การอวดความรำรวย จากการศึกษาของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบกลุ่มเจนซี (Gen Z) จำนวน 74.8% เป็นผู้ที่ชอบแสดงตัวตนในรูปแบบนี้มากที่สุด หรือการนำเสนอภาพบุคคลที่ได้รับการปรับแต่งให้ดูดี จนกลายเป็นมาตรฐานความงามที่ไม่แท้จริง ซึ่งอาจสร้างค่านิยมที่ผิดให้กับเด็กและเยาวชนในสังคม และอาจกระทบต่อการก่อหนี้เพื่อนำมาซื้อสินค้าและบริการ

“ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลเชิงลบของอินฟลูเอนเซอร์ต่อสังคมหลายแง่มุม ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการออกกฎหมายเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์อย่างชัดเจน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ออกระเบียบห้ามเผยแพร่ผิดกฎหมาย นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร กำหนดให้อินฟลูเอนเซอร์ แจ้งรายละเอียดภาพบุคคลที่ใช้สำหรับการขายและโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย พร้อมแสดงเครื่องหมายกำกับ เพื่อลดปัญหาความกดดันทางสังคมต่อมาตรฐานความงามที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน”นายดนุชา กล่าว

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ขณะนี้มีกฎหมายควบคุม อาทิ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ที่มีความพยายามปรับปรุงการกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลให้เท่าทันสื่อปัจจุบัน แต่ยังไม่มีกฎระเบียบสำหรับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์อย่างชัดเจน

“นอกจากนี้ แนวทางการกำกับดูแลส่วนใหญ่เน้นไปที่การตรวจสอบ เฝ้าระวังการนำเสนอ และการตักเตือน/แก้ไข ซึ่งหากไทยจะขยายการกำกับดูแลให้ครอบคลุมกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์อาจต้องทบทวนการกำหนดนิยามของสื่อออนไลน์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับการผลิตเนื้อหาของสื่อกลุ่มต่าง ๆ โดยอาจศึกษาจากกรณีตัวอย่างของกฎหมายและมาตรการของต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมต่อไป” นายดนุชากล่าว