Thursday, 9 May 2024
ออนไลน์

'ดีอีเอส' เตือนอย่าเชื่อ 'คลิป-เสียง-รูปปลอม' สร้างเรื่องเสมือนจริง หลอกลวงประชาชน

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเทคโนโลยีปลอมเสียง ปลอมแชต ปลอมคลิป (Deepfake, Social Maker และ Fake voice) ซึ่งเป็นการปลอมแปลงข้อมูล การตัดต่อภาพ ตัดต่อข้อความ ตกแต่งเสียงพูด หรือแม้แต่การตัดต่อวิดีโอคลิปให้เหมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งประชาชนควรรู้ เพื่อให้เข้าใจ รู้เท่าทัน และป้องกันการถูกใช้เป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ หรือพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และทรัพย์สินของผู้อื่น

“จากเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพนำมาใช้ในการแชตปลอม โพสต์ปลอม ผ่าน 'Social Maker' ที่สร้างโพสต์ปลอม, ข้อความปลอม, ความคิดเห็นปลอม และสร้างโปรไฟล์ปลอม ใน 3 แพลตฟอร์ม ในโซเชียลมีเดีย คือ Facebook, Instagram และ Twitter รวมถึงโปรแกรมแชต Messenger, Message ต่าง ๆ สร้างความเข้าใจผิดและหลอกลวง เป็นภัยสังคมอยู่ในขณะนี้” นางสาวนพวรรณกล่าว

โดยการปลอมภาพคลิปด้วย Deepfake สร้างภาพความคมชัดสูง และท่าทางที่เสมือนจริงมากขึ้น การแปลงเสียง Voice changer / Jokesphone  ปลอมเสียงได้ง่ายๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เปลี่ยนน้ำเสียง เช่น ชายเป็นหญิง หญิงเป็นชาย ผู้ใหญ่เป็นเด็ก ซึ่งการแชตปลอม, โพสต์ปลอม, ปลอมภาพคลิป, การเลียนเสียงและแปลงเสียง ที่ผู้ไม่ประสงค์ดีใช้เป็นเครื่องมือในการแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์บางอย่าง หลอกลวงให้โอนเงิน ดังนั้นขอให้ประชาชนควรตรวจสอบข้อมูลทุกครั้งก่อนที่จะเชื่อ หรือแชร์ต่อ เพื่อให้มั่นใจว่า สิ่งที่คุณเห็นเป็นเรื่องจริง

รุกติดอาวุธทางปัญญาชาว ต.วังหินลาด สร้างเครือข่าย “นักข่าวชาวบ้าน” รู้เท่าทันกลโกงสื่อออนไลน์

พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน เปิดเผยว่า แนวโน้ม การรับรู้ และเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในปัจจุบันมีมากขึ้น ประกอบกับการเติบโตของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้พื้นที่การเสนอข้อมูลข่าวสารสังคมทั่วโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับสื่อดั้งเดิม หรือนักข่าวกระแสหลัก จากสำนักข่าว หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์อีกต่อไป ปรากฏการณ์ของ “นักข่าวชาวบ้าน” ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ผลิตและเผยแพร่ข่าว ทำให้เกิดปรากฏการณ์ว่า “ใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้” ดูจะไม่ใช่คำพูดเกินจริงสำหรับยุคนี้ ด้วยความที่อุปกรณ์การสื่อสารทุกวันนี้ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้หลากหลายหน้าที่ และสามารถพกพาติดตัวได้ตลอด บวกกับทิศทางของข่าวในกระแสหลัก มักจะให้น้ำหนักไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ข่าวของคนธรรมดา หรือเรื่องเล่าจากชุมชน จึงไม่ได้รับนำเสนอผ่านสื่อหลัก

“นักข่าวชาวบ้าน” คือ ปรากฏการณ์ที่ประชาชนจากหลายกลุ่ม หันมาจับกล้องสวมบทบาทเป็นนักข่าว บอกเล่าเรื่องราวในท้องถิ่นของตน แนวคิดนี้กำลังอยู่ในกระแสความสนใจ โดยมีการขยายแนวคิดนี้ ให้คนธรรมดาที่สนใจได้เปลี่ยนบทบาทเป็นนักข่าวชาวบ้าน ทำให้เกิดคำถามว่า “นักข่าวชาวบ้าน” มีมโนทัศน์เกี่ยวกับจริยธรรมสื่อในการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างไร การรายงานข่าวสาร ข้อมูล เรื่องราวเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสนใจของประชาชนผ่านทางสื่อออนไลน์อย่างเป็นอิสระ โดยไม่ได้ผ่านการฝึกฝนหรืออบรมวิชาชีพสื่อสารมวลชน ผลิตเนื้อหาข่าวเผยแพร่ไปสู่สาธารณะด้วยตัวเอง การรายงาน ข้อมูลข่าวที่เน้นความรวดเร็วของนักข่าวชาวบ้านผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่มีการตรวจสอบโดยกองบรรณาธิการ ทำให้เกิดปัญหาข่าวสารที่มีลักษณะไม่รอบด้าน หรืออาจมีการเผยแพร่รูปภาพที่ไม่สมควรออกไป นำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การละเมิดลิขสิทธิ์ หมิ่นประมาท และโฆษณาแฝง

'ตำรวจ' รวบ นักลวงผ่านแอปฯ ไลน์ พบประวัติหลอกเหยื่อออนไลน์โชกโชน

วันที่ 12 พ.ย. พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผบช.น.ดูแลงานสืบสวน พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. สั่งการให้ พ.ต.อ.ฤตวีร์ สุขเจริญ ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. พ.ต.ท.พัชรพงษ์ กาญจนวัฎศรี รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. พ.ต.ต.สมพงษ์ เกตุระติ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. จับกุมนายเอกชัย คนึงคิด อายุ 26 ปี ชาวจ.พะเยา ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลแขวงธนบุรี ที่ 271/2564 ลงวันที่ 5 ต.ค. พ.ศ.2564 ข้อหา 'ฉ้อโกง' จับกุมตัว บริเวณลานจอดรถ ภูผาทองอพาตเม้นท์ หมู่ 6 ทางคู่ขนาน ถนนพหลโยธิน ต. เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2565 เวลา 18.30 น. ที่ผ่านมา      

สืบเนื่องจากชุดลาดตระเวนออนไลน์สืบสวนนครบาล IDMB กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. ทำการสืบสวนจับกุมตัวคนร้ายที่เป็นตัวการในการก่อเหตุใช้แอปพลิเคชันไลน์ชื่อบัญชี 'รับจำนำรถยนต์' ทักไปลวงผู้เสียหายซึ่งได้มีการไปโพสต์ประกาศตามหารถยนต์ส่วนตัวซึ่งหายไปเมื่อประมาณปี 2562 ในเพจซื้อขายรถยนต์มือสองต่างๆ พร้อมกับให้ข้อมูลติดต่อกลับไว้ 

เมื่อผู้ต้องหาเห็นโพสต์ประกาศตามหารถยนต์ของผู้เสียหาย จึงได้ใช้แอปพลิเคชันไลน์ชื่อบัญชี 'รับจำนำรถยนต์' ทักไปแจ้งกับผู้เสียหายว่ารถยนต์คันที่ผู้เสียหายตามหานั้น ณ เวลานั้นอยู่กับตนโดยเป็นรถที่มีคนนำมาจำนำและหลุดจำนำแล้ว ถ้าผู้เสียหายอยากได้รถคือให้ผู้เสียหายมาติดต่อรับด่วน โดยได้ให้ผู้เสียหายส่งเอกสารเกี่ยวกับรถคันดังกล่าวให้ แต่ต้องโอนเงิน จำนวน 75,000 บาท (โดยแบ่งเป็นเงินต้น 70,000 บาท และดอก 5,000 บาท) มาให้เพื่อรับรถคืน เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินจำนวน 75,000 บาท ให้คนร้ายครบ คนร้ายจึงได้ทำการปิดกั้นการติดต่อกับผู้เสียหาย 

จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ตลอดจนการซักปากคำรับสารภาพของผู้ต้องหายังพบข้อมูลว่า ณ ปัจจุบัน คนร้ายที่ถูกจับกุมยังมีพฤติกรรมสร้างบัญชีเฟซบุ๊กเข้าไปหลอกขายอาวุธปืนผิดกฎหมายในกลุ่มคนเล่นปืนกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มสมาคมคนรักปืน, กลุ่มสมาคมคนรักอาวุธปืน V.1, กลุ่มสหายคนรักปืน, กลุ่มชมรมคนรักลูกโม่, กลุ่มสมาคมคนรักGUN 

‘ตร.ไซเบอร์’ เตือน ‘ผูกบัตรเครดิต’ ในแอปฯ เสี่ยงถูก ‘มิจฉาชีพ’ สวมรอยใช้จ่ายเงินแบบไม่รู้ตัว

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยกรณีการผูกบัญชีธนาคาร บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ไว้ชำระค่าสินค้ากับแอปพลิเคชันต่าง ๆ รวมถึงระมัดระวังการกรอกข้อมูลทางการเงินผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม

จากกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับมีผู้เสียหายผูกบัญชีธนาคารไว้กับแอปพลิเคชันขายของออนไลน์ ต่อมาทราบว่าเงินในบัญชีถูกนำไปชำระค่าสินค้าหลายรายการ ความเสียหายกว่า 50,000 บาท โดยไม่ทราบสาเหตุนั้น

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ และการซื้อขายของออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พร้อมสร้างการรับรู้แนวทางป้องกันให้ประชาชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการ ที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ‘โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน’ ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กตู่' สั่ง ทุกฝ่ายจัดการอาชญากรรมไซเบอร์เด็ดขาด พร้อมเร่งพัฒนาระบบป้องกันบริการธุรกรรมออนไลน์

(22 ก.พ. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ของไทย ที่สร้างความเสียหายให้ประชาชนคนไทยเพิ่มขึ้นทุกปี เชื่อมั่นว่า เมื่อร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.... มีผลบังคับใช้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยธนาคารสามารถระงับธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือต้องสงสัยได้ทันที

นายอนุชา กล่าวว่า จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 มีการแจ้งความอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 192,031 คดี เท่ากับมีสถิติคดีแจ้งความประมาณ 1,000 รายต่อวัน มูลค่าความเสียหาย 29,546,732,805 บาท สามารถติดตามอายัดบัญชี 65,872 บัญชี อายัดได้ทัน 445,265,908 บาท มีผู้เสียหายสูงสุดมูลค่าถึง 100 ล้านบาท จึงเป็นสถานการณ์ขั้นวิกฤต ส่วนรูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพ 5 อันดับแรก ได้แก่

1.) การหลอกลวงซื้อสินค้า
2). การโอนเงินหารายได้พิเศษ
3.) การหลอกให้กู้เงิน
4.) คอลเซ็นเตอร์
5.) การหลอกให้ลงทุน

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้พิจารณาแนวทางดำเนินการเพื่อแก้ไข ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอออกพระราชกำหนดปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพิ่มอำนาจในการสืบสวนสอบสวนให้มีประสิทธิภาพ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้เท่าทัน

ซึ่งการร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership PPP) เป็นการบูรณาการความร่วมมือเพื่อเป็นเครือข่ายในการยับยั้ง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชน เพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ล่าสุดได้ร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ... ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

อย่าหลงเชื่อ!! ‘ตำรวจไซเบอร์’ แนะ 10 แนวทางระวังภัย ‘เพจปลอม’ สวมรอยเฟซบุ๊กจริง ลวงขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

โฆษก บช.สอท. เตือนภัยระวังมิจฉาชีพหลอกลวงขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ระวังเจอเพจเฟซบุ๊กปลอม สวมรอยลอกเลียนแบบเพจเฟซบุ๊กจริง อย่าหลงเชื่อ

(12 มี.ค.66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัย กรณีการหลอกลวงขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ระวังเจอเพจในเฟซบุ๊กปลอม ลอกเลียนแบบของเพจในเฟซบุ๊กจริง ดังนี้

ที่ผ่านมาได้รับรายงานจากกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) พบว่ามีประชาชนตกเป็นเหยื่อจากการซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้าเฉลี่ยกว่า 1,900 รายต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่สินค้าที่มักถูกหลอกลวง ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ ผลไม้ บัตรคอนเสิร์ต รถจักรยานยนต์มือสอง และปลาแซลมอน เป็นต้น

โดยภัยจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่การซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า หรือซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือได้ไม่ตรงปก หรือซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไปจนถึงการใช้หลักฐานการโอนเงินปลอมเพื่อหลอกลวงผู้ขาย เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มิจฉาชีพมักจะสร้างความน่าเชื่อถือของร้านค้า การการันตีสินค้า การรีวิวสินค้าปลอม รวมไปถึงการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง

นอกจากนี้ยังมีการสร้างเพจในเฟซบุ๊กปลอมตั้งชื่อลอกเลียนแบบให้เหมือน หรือคล้ายคลึงกับเพจในเฟซบุ๊กที่มีการซื้อขายสินค้าจริง โดยการคัดลอกรูปภาพสินค้า และเนื้อหาจากเพจจริงมาใช้ เมื่อหลอกลวงผู้เสียหายได้หลายรายก็จะเปลี่ยนชื่อเพจ หรือสินค้าไปเรื่อยๆ หรือสร้างเพจปลอมขึ้นมาใหม่ ยกตัวอย่างเช่น มีผู้เสียหายถูกหลอกลวงซื้อโทรศัพท์มือถือโทรศัพท์ซิมเน็ตรายปี ผ่านเพจปลอม Moblie2you ซึ่งเพจจริงคือ Mobile2youmbk หรือกรณีปลอมเพจหลายเพจขายทุเรียนของดาราท่านหนึ่ง เป็นต้น

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้เร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง มีปฏิบัติการสำคัญเมื่อต้นเดือน มี.ค.66 ระดมตรวจค้นกว่า 40 จุด ทั่วประเทศภายใต้ยุทธการ “ ปิด Job - Shop ทิพย์ ” หลอกขายสินค้าและบริการผ่านโลกออนไลน์ มีประชาชนหลายรายได้ความเสียหายหลายล้านบาท สามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับกว่า 30 ราย ตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงแม้จะมีข้อดีหลายๆ ประการ ไม่ว่าจะสะดวกสบาย มีให้เลือกหลากหลาย สามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าแต่ละแหล่งได้ ติดตามโปรโมชันต่าง ๆ ได้ ที่สำคัญสามารถสั่งซื้อได้ตลอดเวลา แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ

สรุป 'ครีเอเตอร์ตัวท็อป' ของไทย 'คอนเทนต์' หมวดไหน 'ครีเอเตอร์' เยอะสุด

2 อันดับแรก ก็ไม่ถือว่าผิดคาดมาก เพราะมีครีเอเตอร์อยู่โซเชียลแพลตฟอร์มต่างๆ เยอะ จนมักจะหลุดมาอยู่ทุกหน้า Feed แรกๆ เป็นประจำ

ส่องจำนวนผู้ใช้งาน 'โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม' ในไทย ...มีจำนวนเท่าไรกันบ้าง?

จากงาน iCreator Conference 2023 ได้รวบรวมข้อมูลจำนวนผู้ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียตัวท็อปในไทยไว้ โดยที่น่าสนใจคือยอดการใช้งาน LINE ที่จ่อติด Facebook รวมถึง TikTok ที่มีอัตราการเติบโตที่มากเลยทีเดียว

 

พุ่งเป้า!! 'ไทย' จ่อทบทวน กม.คุม 'อินฟลูเอนเซอร์' เทียบเกณฑ์ ตปท.  หลังพบทำคอนเทนต์เชิงลบ สร้างกระแส หวังเพิ่มยอดวิว

(4 มี.ค.67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2566 และภาพรวมปี 2566 ว่า ด้านสถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องอินฟลูเอนเซอร์ (influencer) ข้อมูลจาก Nielsen ในปี 2565 พบว่า ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ รวมกันมากถึง 13.5 ล้านคน โดยประเทศไทยมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ซึ่งการขยายตัวของอินฟลูเอนเซอร์ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นช่องทางสร้างรายได้ ทั้งจากการโฆษณาหรือ รีวิวสินค้า โดยในปี 2566 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับทั่วโลกถึง 19.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 140.33 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 7.4 เท่า ภายใน 7 ปี

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับไทย อินฟลูเอนเซอร์ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก เนื่องจากสามารถสร้างรายได้ได้ค่อนข้างสูง เฉลี่ยตั้งแต่ 800-700,000 บาทขึ้นไปต่อโพสต์ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันผลิตคอนเทนต์ และการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม (Engagement) ของอินฟลูเอนเซอร์มักมีการสร้างคอนเทนต์ให้เป็นกระแสโดยไม่ได้คำนึ่งถึงความถูกต้องเหมาะสมก่อนเผยแพร่ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมหลายประการ

อาทิ การนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง เช่น การเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ จากรายงานผลการดำเนินงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พบจำนวนยอดละสมผู้โพสต์ที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอม 7,394 บัญชี โดยเป็นจำนวนข่าวปลอมและข่าวบิดเบือนรวมกันกว่า 5,061 เรื่อง

นายดนุชา กล่าวว่า การชักจูงหรือชวนเชื่อที่ผิดกฎหมาย อาทิ การโฆษณาเว็บพนันออนไลน์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ข้อมูลจากผลการสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ในปี 2566 พบว่าคนรุ่นใหม่เล่นพนันออนไลน์ประมาณ 3 ล้านคน โดย 1 ใน 4 เป็นนักพนันฯ หน้าใหม่ หรือคิดเป็นจำนวนกว่า 7.4 แสนคน โดยส่วนใหญ่ 87.7% พบเห็นการโฆษณาหรือได้รับการชักชวนทางออนไลน์ ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 1 ล้านคน
.
การละเมิดสิทธิพบว่าอินฟลูเอนเซอร์บางรายมีการเสนอข่าวอาชญากรรมราวกับละคร เพื่อสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ และไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เสียหาย ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังพบการทำข่าวโดยใช้ภาพผู้คนหรือ วิดีโอของผู้อื่นมาตัดต่อลงคอนเทนต์ของตน โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มา
.
นายดนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาบางประเภทที่ไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย แต่อาจนำไปสู่การสร้างค่านิยมที่ผิดต่อสังคม อาทิ คอนเทนต์ การอวดความรำรวย จากการศึกษาของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบกลุ่มเจนซี (Gen Z) จำนวน 74.8% เป็นผู้ที่ชอบแสดงตัวตนในรูปแบบนี้มากที่สุด หรือการนำเสนอภาพบุคคลที่ได้รับการปรับแต่งให้ดูดี จนกลายเป็นมาตรฐานความงามที่ไม่แท้จริง ซึ่งอาจสร้างค่านิยมที่ผิดให้กับเด็กและเยาวชนในสังคม และอาจกระทบต่อการก่อหนี้เพื่อนำมาซื้อสินค้าและบริการ

“ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลเชิงลบของอินฟลูเอนเซอร์ต่อสังคมหลายแง่มุม ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีการออกกฎหมายเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์อย่างชัดเจน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ออกระเบียบห้ามเผยแพร่ผิดกฎหมาย นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร กำหนดให้อินฟลูเอนเซอร์ แจ้งรายละเอียดภาพบุคคลที่ใช้สำหรับการขายและโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย พร้อมแสดงเครื่องหมายกำกับ เพื่อลดปัญหาความกดดันทางสังคมต่อมาตรฐานความงามที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน”นายดนุชา กล่าว

นายดนุชา กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ขณะนี้มีกฎหมายควบคุม อาทิ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ที่มีความพยายามปรับปรุงการกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลให้เท่าทันสื่อปัจจุบัน แต่ยังไม่มีกฎระเบียบสำหรับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์อย่างชัดเจน

“นอกจากนี้ แนวทางการกำกับดูแลส่วนใหญ่เน้นไปที่การตรวจสอบ เฝ้าระวังการนำเสนอ และการตักเตือน/แก้ไข ซึ่งหากไทยจะขยายการกำกับดูแลให้ครอบคลุมกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์อาจต้องทบทวนการกำหนดนิยามของสื่อออนไลน์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับการผลิตเนื้อหาของสื่อกลุ่มต่าง ๆ โดยอาจศึกษาจากกรณีตัวอย่างของกฎหมายและมาตรการของต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมต่อไป” นายดนุชากล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top