‘อุ๊งอิ๊ง’ โผล่รายชื่อผู้เข้าฝึกอบรม ‘วปอ.บอ.รุ่นที่ 1’ ทายาทนักการเมือง-นามสกุลดัง ร่วมคลาสเพียบ

หลังจากเว็บไซต์วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ประกาศรายชื่อผู้ที่มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ในหลักสูตรผู้บริหารยุคใหม่ในอนาคต วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ.บอ. หรือที่เรียกว่า หลักสูตร ‘มินิ วปอ.’ ซึ่งปรากฏชื่อของ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่คืออภิสิทธิ์ชนหรือไม่นั้น

ล่าสุดทาง วปอ.บอ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการเข้าฝึกอบรม ‘วปอ.บอ.รุ่นที่ 1’ แล้ว โดยมีชื่อของ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ร่วมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่ แพทองธาร ได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าศึกษาหรือไม่นั้น ทาง วปอ. ก็ได้มีการยืนยันว่า หลักสูตรดังกล่าวไม่ได้เปิดขึ้นมาเพื่อรองรับแพทองธารตามที่มีการตั้งข้อสังเกต เพราะการจัดทำหลักสูตรเพื่อเปิดรับบุคคลเข้ารับการศึกษาต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ และผ่านการพิจารณาจากสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (สปท.) ก่อนเข้าสู่ความเห็นชอบจากสภา วปอ. ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ทุกอย่างทำตามระเบียบ และผ่านการพิจารณามาร่วม 3 ปี ตั้งแต่ยุคที่ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) แต่ยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องของหลักสูตรและข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ แต่มาเดินหน้าต่อในยุคที่ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนปัจจุบัน

สำหรับการเปิดรับสมัครเข้าหลักสูตรมินิ วปอ. จะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงาน กลุ่มการทหาร กลุ่มตำรวจ กลุ่มข้าราชการพลเรือน กลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มการเมือง จะให้ผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั้งหมด 492 คน เข้ามาสอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 200 คน จากนั้นจะประกาศรายชื่อ และเปิดภาคการศึกษาในเดือนเมษายน ระยะเวลาของการศึกษาทั้งหมด 6 เดือน ในส่วนข้าราชการจะมีการอุดหนุนงบประมาณให้ ส่วนภาคเอกชนจะต้องจ่ายเงินในการเข้ารับการศึกษาเอง

ขณะที่ ‘วปอ.บอ. 67’ จะถือเป็นรุ่นที่ 1 หรือรุ่นแรก ผู้เข้ารับการศึกษาต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ ได้แก่ อายุตั้งแต่ 35-42 ปีในภาคราชการ มีทั้งข้าราชประจำ และข้าราชการการเมือง ส่วนข้าราชการทหาร-ตำรวจ ทหารต้องมีชั้นยศ พ.อ. - พ.อ. (พิเศษ) หรือเทียบเท่า ตำรวจต้องมีชั้นยศ พ.ต.อ. – พ.ต.อ. (พิเศษ) หรือเทียบเท่า และต้องจบหลักสูตรเสนาธิการทหารของโรงเรียนเสนาธิการทหารเหล่าทัพ เป็นต้น

ส่วนภาคเอกชนต้องเป็นนักธุรกิจ เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ของหน่วยงาน ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการโรงงาน หรือผู้จัดการภูมิภาค หรือเทียบเท่าบุคคลทั่วไปคือ บุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมายมีชื่อเสียงในด้านความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ บนโซเชียลมีเดียมีผู้ติดตามและเป็นที่รู้จักจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเจเนอเรชัน Y, Z และ Alpha สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดีต่อสังคม เช่น นักแสดงในวงการบันเทิง นักเขียนในวงการหนังสือ นักจัดรายการ โปรแกรมเมอร์ในวงการไอที ที่ปรึกษาในวิชาชีพต่างๆ เช่น ที่ปรึกษากฎหมายแรงงาน โดยมีประสบการณ์หรือทำงานเกี่ยวข้องกับความมั่นคงระดับชาติอย่างน้อย 3 ปี เป็นต้น

เมื่อกางดูรายชื่อพบว่ามีการสมัครเข้าอบรมหลักสูตร วปอ.บอ. รุ่นที่ 1 จำนวนมาก แต่สามารถสอบเข้าสู่รอบสอบสัมภาษณ์ได้ทั้งสิ้น 492 คน โดยมีทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน นักการเมือง และนักธุรกิจ เช่น ชัยชนะ เดชเดโช สส.ประชาธิปัตย์, รัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกรัฐบาล, คณาพจน์ โจมฤทธิ์ หรือ เอิง ทีมงานนายกฯ

นอกจากนั้นยังมีลูกหลานคนดังและทายาทนักการเมืองหลายคน เช่น พชร นริพทะพันธุ์, ศิรินันท์ ศิริพาณิชย์, ภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์, อาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล, ศศิยาพัชร์ เลาหพงศ์ชนะ, พิมพ์ศิริ จีนะวิจารณะ, พสุ ลิปตพัลลภ, ณัฐธิดา เทพสุทิน, สงกรานต์ เตชะณรงค์, รวิศ สอดส่อง, พัฒนา พร้อมพัฒน์ และ ปิยะชาติ อิศรภักดี เป็นต้น

สำหรับหลักสูตรดังกล่าว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เคยพูดไว้ว่า การเรียนวปอ. เป็น แหล่งพบปะสมาคม สานสัมพันธ์อันดี ความแข็งแกร่งของศิษย์เก่าเป็นที่ประจักษ์ สายสัมพันธ์-คอนเนกชันในประเทศ ทำให้พวกท่านเป็นบุคคลพิเศษ เป็นท็อป 1% หรือน้อยกว่านั้นของประเทศนี้ และในสถาบันที่ทรงคุณค่าอย่างมากแห่งนี้ หลายคนอยากเข้ามา แต่ก็ไม่มีโอกาสได้รับการคัดเลือก