'นักวิจัยญี่ปุ่น' เผย!! 'ตาข่ายสีแดง' ปกป้องพืชผลจากแมลงได้ดีที่สุด บังตาพืชผล ลดใช้สารเคมี เพิ่มโอกาสพืชรับ 'แสง-น้ำ-อากาศถ่ายเท'

(20 ก.พ. 67) จาก TNN Tech เผยข้อมูลจากนักวิจัยประเทศญี่ปุ่นที่ค้นพบว่า 'ตาข่ายสีแดง' สามารถปกป้องพืชผลจากแมลงได้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งแตกต่างจากตาข่ายที่ใช้กับแปลงปลูกผักแบบกางมุ้งในปัจจุบันที่มักเป็นสีดำ สีขาว สีเขียวหรือสีน้ำเงิน

แม้ว่าการปลูกพืชในมุ้งจะเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ผักปลอดจากสารเคมีกำจัดแมลงมากที่สุด แต่ยังคงมีแมลงบางชนิดที่สามารถหลุดรอดผ่านมุ้งเข้าไปทำลายแปลงผักของเกษตรกรได้ โดยเฉพาะ 'เพลี้ยไฟหัวหอม' ซึ่งนอกจากกินต้นพืช มันยังมีเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายทิ้งเอาไว้ด้วย

งานวิจัยตาข่ายสีแดงปกป้องพืชชิ้นนี้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญหลังมีการตรวจพบว่าเพลี้ยไฟหัวหอม มักอยู่ห่างจากพืชที่ถูกฉายรังสีด้วยแสงสีแดง ทำให้ศาสตราจารย์ มาซามิ ชิโมดะ และทีมงานนักวิจัยมหาวิทยาลัยโตเกียว ตั้งสมมติฐานว่าหากใช้ตาข่ายสีแดงอาจสามารถกันแมลงได้ 

ทีมงานได้ใช้ตาข่ายสีแดงผสมกับสีอื่นๆ สามสี ประกอบด้วย แดง-ขาว แดง-ดำ และแดง-แดง โดยตาข่ายแต่ละสีมีขนาดรูแตกต่างกัน เช่น 2, 1 และ 0.8 มม. เพื่อให้ได้คำตอบของงานวิจัยที่แม่นยำทั้งในด้านของการใช้สีและขนาดของรูตาข่าย

ตาข่ายทั้ง 3 แบบ ถูกนำมาคลุมแปลงต้นหอมคูโจ หรือหัวหอมเวลส์ และเริ่มทำการทดลองปล่อยให้ต้นหอมเจริญเติบโต ผลการทดลองพบว่าแม้ตาข่ายสี 'แดง-แดง' จะมีรูตาข่ายขนาดใหญ่แมลงลอดผ่านได้ง่ายมากกว่าตาข่ายสีอื่น แต่ผักกลับมีร่องรอยการโจมตีของแมลงที่น้อย แสดงว่าให้เห็นว่าแมลงอาจมองไม่เห็นตาข่ายสีแดง

นักวิจัยได้ทำการค้นคว้าเพิ่มเติมและพบคำตอบว่า แมลงส่วนใหญ่รวมถึงเพลี้ยไฟหัวหอม ไม่มีเซลล์รับแสงสีแดงในดวงตาไม่สามารถมองเห็นสีแดงได้เช่นเดียวกับดวงตาของมนุษย์ ทำให้พวกแมลงไม่สามารถมองเห็นตาข่ายสีแดง รวมไปถึงผักที่โดนตาข่ายสีแดงปกป้องเอาไว้ 

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังคงทำการทดลองต่อไป เพื่อให้เข้าใจคุณสมบัติของตาข่ายสีแดงที่มีผลต่อแมลงและพฤติกรรมของเพลี้ยไฟหัวหอมอย่างแท้จริง รวมไปถึงศึกษาพฤติกรรมของแมลงสายพันธุ์อื่นๆ เนื่องจากตาข่ายสีแดงยังไม่สามารถป้องกันแมลงทุกสายพันธุ์ได้อย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว นับว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญและอาจปูทางไปสู่การลดใช้สารเคมีปราบแมลงในการทำเกษตร นอกจากนี้การใช้ตาข่ายสีแดงและรูตาข่ายที่ใหญ่ขึ้น ยังเพิ่มโอกาสให้พืชสามารถรับแสงแดด น้ำและการไหลเวียนของอากาศได้ดีมากขึ้นยิ่งขึ้น