รู้จัก ‘กิจการไฟฟ้ากองทัพเรือ’ คุณค่าที่ถูกนักการเมืองหยิบมาโจมตี ทั้งที่ ‘เงินขายไฟ’ ช่วยต่อลมหายใจทางการศึกษามากว่า 50 ปี

เรียกว่าเป็นอีกด้านที่น้อยคนจะได้รู้!! กับ ‘กิจการไฟฟ้ากองทัพเรือ’ ที่โดนนักการเมืองโจมตีอย่างหนัก แต่น้อยคนนักที่รู้ ‘เงินขายไฟ’ คือ ลมหายใจ ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้บุตรหลานข้าราชการและประชาชน ผ่าน ‘โรงเรียนสัตหีบ’ ทั้ง 2 แห่ง มากว่า 50 ปี

จากกรณีที่มีนักการเมืองได้หยิบยก ประเด็นกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ซื้อกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มาจ่ายให้แก่หน่วยราชการและประชาชนในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ว่า การดำเนินกิจการดังกล่าว ไม่ใช่ภารกิจของกองทัพเรือ เพราะเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง และไม่ควรจะมีกิจกรรมทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่ทว่า นอกจากมิติด้านความมั่นคงแล้ว การรายได้ที่เกิดขึ้นจากกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือนั้น ทางกองทัพเรือ ได้นำกำไรส่วนหนึ่งไปเป็นสวัสดิการให้กับข้าราชการและทหารชั้นผู้น้อย โดยเฉพาะในด้านการศึกษาของบุตรหลานข้าราชการทหารเรือและประชาชนทั่วไปในพื้นที่สัตหีบ

ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ทราบว่า กองทัพเรือ ได้บริหารกิจการโรงเรียนที่ชื่อว่า ‘โรงเรียนสัตหีบ’ ซึ่งได้ก่อตั้งอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 เพื่อให้การศึกษาแก่บุตรหลานของข้าราชการ ลูกจ้าง และคนงาน ในสังกัดกองทัพเรือที่ย้ายมารับราชการที่สัตหีบ จากนั้นในปี พ.ศ. 2480 จึงได้จดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์ชื่อ ‘โรงเรียนสถานีทหารเรือสัตหีบ’ 

และได้ เปลี่ยนชื่อโรงเรียนใหม่ตามมติของสภากองทัพเรือเป็น ‘โรงเรียนสัตหีบ’ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2502 ในช่วงแรกจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจัดการศึกษาระดับอนุบาล ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มี 2 แห่ง ได้แก่...

1. โรงเรียนสัตหีบ เขตฐานทัพเรือสัตหีบ
- เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้น อนุบาล 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 3
- ผู้บริหาร ครู และบุคลากร จำนวน 127 คน
- นักเรียนจำนวน 1,498 คน

2. โรงเรียนสัตหีบ เขตกองเรือยุทธการ
- เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้น อนุบาล 1 - ประถมศึกษาปีที่ 6
- ผู้บริหาร ครู และบุคลากร จำนวน 96 คน
- นักเรียนจำนวน 963 คน
รวมนักเรียนทั้ง 2 เขต เป็นจำนวน 2,461 คน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรงเรียนทั้ง 2 แห่งนี้ จะบริหารงานจดทะเบียนเป็นโรงเรียนราษฎร์ และมีการบริหารงานแบบเอกชน แต่การเก็บค่าเล่าเรียนจากผู้ปกครองนั้นถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับโรงเรียนเอกชนทั่วไป นั่นเพราะนักเรียนส่วนใหญ่ เป็นบุตรหลานของข้าราชการในสังกัดกองทัพเรือ 

ทั้งนี้ อดีตครูที่เคยสอนในโรงเรียนสัตหีบ ได้ให้ข้อมูลว่า ค่าใช้จ่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือในแต่ละปีนั้น ทราบมาว่า ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ได้จากกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ทำให้โรงเรียนทั้ง 2 แห่ง ได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านการเรียนการสอน และอาคารสถานที่ ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ที่กิจการไฟฟ้าฯ ได้ดำเนินงานมา

แน่นอนว่า งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนในส่วนนี้ ได้ก่อเกิดประโยชน์และเพิ่มโอกาสทางด้านการศึกษาให้กับคนในพื้นที่สัตหีบ นับตั้งแต่อดีตจวบถึงปัจจุบัน มีนักเรียนที่จบการศึกษาไปแล้วหลายหมื่นคน ทั้งที่เป็นบุตรหลานข้าราชการและบุตรหลานของคนทั่วไป ซึ่งหลายคนเติบใหญ่เป็นคนคุณภาพและเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ได้จาก ‘เงินขายไฟ’ ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้