ศาลเจ้ากวนอู หลักสอง!! ศาลเจ้าดังคู่เมืองตรัง  'คนจีน-สิงคโปร์' ต่างนิยมมาทำพิธีแก้ชงประจำปี

'ศาลเจ้ากวนอู หลักสอง' ตั้งอยู่ที่ถนนห้วยยอด ตรงข้ามโชว์รูมโตโยต้าเมืองตรัง จ.ตรัง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 นาที ซึ่งคนตรังจะคุ้นกันในชื่อ 'โรงพระ หลักสอง' เนื่องจากศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 2 ก่อนเข้าตัวเมืองตรังพอดิบพอดี

ที่มาของศาลเจ้าแห่งนี้ เริ่มจากชาวจีนกวางตุ้งนามว่า นายจุงหว่าซัน ซึ่งมาอาศัยอยู่ในเมืองตรังเกิดล้มป่วยเรื้อรังอยู่นาน ต่อเมื่อขอพรจากเทพกวนอูก็สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยจนหายได้อย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยความศรัทธานับถืออย่างมาก นายจุงหว่าซัน พี่ชายของนายพาก วัฒนะจันทร์ (ตระกูลวัฒนะจันทร์ในปัจจุบัน) จึงบริจาคที่ดินสวนมะพร้าวริมถนนห้วยยอดของตนเอง เพื่อสร้างเป็นศาลเทพเจ้ากวนอู และได้อัญเชิญเทพกวนอูเข้าประทับในปี พ.ศ.2515 จากนั้นมาศาลเจ้าพ่อกวนอูหลักสอง ก็กลายเป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยเชื้อสายจีนและชาวบ้านในท้องถิ่นมาจนถึงทุกวันนี้

ในอดีต ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยและเดินทางมาให้เทพกวนอูได้รักษา จะพำนักค้างแรมที่เรือนคุณธรรม ซึ่งเป็นอาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น ที่ทางศาลเจ้าสร้างไว้บริการประชาชนที่เดินทางมาจากสถานที่ไกลๆ เพื่อมาขอพรและเคารพสักการะ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  60 ปีผ่านไป ปัจจุบันเรือนคุณธรรมได้ถูกบูรณะปรับปรุงใหม่ด้วยเงินบริจาคของลูกหลานและผู้มีจิตศรัทธา เพื่อรองรับการช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบต่างๆ 

จากประตูทางเข้าศาลเจ้ากวนอูหลักสอง เมื่อเดินเข้ามาจากประตูหน้าทางเข้าศาลเจ้า เราจะเห็นต้นงิ้วสูงใหญ่โดดเด่นเป็นสง่า ซึ่งขึ้นเองตามธรรมชาติเด่นตระหง่านอยู่ทางขวามือทางเข้า และเนื่องจากองค์เทพเจ้ากวนอู หรือ กวน ยฺหวี่ (關羽) ผู้มีใบหน้าสีแดงนั้นเป็นเทพแห่งความซื่อสัตย์ ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าต้นงิ้วใหญ่ต้นนี้เป็นเครื่องเตือนใจให้ทุกคนมีความซื่อสัตย์สุจริตในการดำรงชีวิต

แม้ในจังหวัดตรังจะมีศาลเทพกวนอูอยู่ด้วยกันหลายแห่ง แต่ศาลเจ้าพ่อกวนอูหลัก 2 ก็ถือเป็นศาลเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งก่อสร้างตามสถาปัตยกรรมแบบจีนตอนใต้ ภายในศาลนั้นเป็นที่ประดิษฐานของเทพเจ้าและพระโพธิสัตว์หลายพระองค์ ซึ่งได้แก่เทพกวนอู ที่อยู่ในปางสำเร็จเป็นเง็กเซียนฮ่องเต้ รายล้อมด้วยบริวาร คือ 'กวนเป๋ง' ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม (ขวา) และ 'จิวฉอง หรือ จิวชัง' ซึ่งเป็นขุนศึกคู่ใจ (ซ้าย) ประทับอยู่ในศาลองค์ประธาน ตามด้วยศาลรองประธานซึ่งเป็นที่ประทับของเทพไฉ่สิ่งเอี๊ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ และเทพฮั่วท้อเซียงซือ หรือหมอฮูโต๋ อีกทั้งบริเวณรอบๆ ยังมีจุดไหว้พระและองค์เทพอื่นๆ อีก เช่น พระม้าเช็กเทา ศาลเจ้าแม่กวนอิม และพระสังกัจจายน์ เป็นต้น

ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีน เทพกวนอูได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ ความกตัญญูรู้คุณ ความกล้าหาญ และคุณธรรม โดย กวนอู เป็นหนึ่งในยอดขุนพลในวรรณกรรมเรื่องสามก๊กที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว 1,800 ปีก่อน ตามประวัติเล่าว่า องค์กวนอูเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์พิชัยสงคราม ต่อมาได้ร่วมสาบานเป็นพี่น้องกับเล่าปี่ และร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาจนสร้างวีรกรรมมากมาย 

ภายหลังกวนอูพลาดท่าโดนฝ่ายซุนกวนจับตัวได้ ซุนกวนพยายามหว่านล้อมให้ท่านยอมสวามิภักดิ์ แต่ด้วยความซื่อสัตย์และภักดีต่อเล่าปี่ทำให้ท่านปฏิเสธ ท่านจึงถูกประหารพร้อมกับกวนเป๋งผู้เป็นบุตรบุญธรรม

ด้วยคุณธรรมตามตำนานที่กล่าวมา ชาวจีนจึงยกย่ององค์กวนอูขึ้นเป็นเทพแห่งความซื่อสัตย์และจงรักภักดี โดยมักทำพิธีบูชาก่อนออกทะเลไปค้าขายต่างบ้านต่างเมืองเสมอ เพราะเชื่อกันว่าการยึดถือความกล้าหาญ ซื่อสัตย์ รักเพื่อนพ้อง และยึดมั่นในคุณความดี จะช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัยและทำการค้าขายสำเร็จดังหวัง 

นอกจากความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้ากวนอูอันเป็นที่เลื่องชื่อลือชาให้คนมากราบไหว้แล้ว ศาลเจ้ากวนอูแห่งนี้ ยังโด่งดังในเรื่องการทำพิธีแก้ชง เพื่อสะเดาะเคราะห์ประจำปี ตามแบบฉบับจีนโบราณ ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีนและชาวสิงคโปร์เป็นอย่างมาก ซึ่งชาวสิงคโปร์บางคณะได้เดินทางมาเพื่อสักการะศาลเจ้าแห่งนี้เป็นประจำทุกปีอีกด้วย

ศาลเจ้ากวนอูหลักสองแห่งนี้ จึงถึงเป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่ลูกหลานชาวตรังได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ปัจจุบัน ได้มีการบูรณะหอเทวดาและการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่หอเทวดา ด้วยศิลปะแบบจีนโบราณ โดยจิตรกรมือหนึ่งของ จ.ตรัง อายุ  80 ปี เพื่อสืบทอดศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน

ท่านใดที่อยากแวะมาไหว้เทพเจ้ากวนอูเพื่อขอพรเพื่อเสริมสิริมงคล หรือสนใจมาเที่ยวชมศิลปะและวัฒนธรรมแบบจีน สามารถมาได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00 น. จนถึง 17.00 น.