SET ส่งเสริมปลูกป่าชายเลน-ลดขยะทะเลชุมชนมอแกน สร้างแบบอย่าง สู่ วิถีองค์กรตระหนักลดคาร์บอนเครดิต

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รักษ์โลกสู่วีถียั่งยืน หนุนแนวคิด ESG (Environment, Social, และ Governance) ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยเน้นรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล แนวคิดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากนักลงทุนทั่วโลก 

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญได้ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางด้านความยั่งยืน หรือ ESG ด้วยการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ พร้อมผู้บริหาร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ใน 3 ปีข้างหน้าเข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน เพื่อสร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพ สู่การเติบโตที่ยั่งยืน รวมถึงยกระดับความเชื่อมั่นตลาดทุน และเสริมศักยภาพการแข่งขัน 

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สร้างแพลตฟอร์ม SET Social Impact เพื่อเป็นแนวร่วมการแก้ไขปัญหาสังคม โดยสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมตื่นรู้ ผ่านการริเริ่ม สร้างความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยมุ่งหวังให้คนไทยเกิดการเรียนรู้ ร่วมรับรู้ ร่วมปรับพฤติกรรม และร่วมผลักดัน แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้

1.Care the Bear เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยระบบตรวจวัดการปล่อยก๊าซจากการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมการบริโภคคุ้มค่า ภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

2.Care the Whale เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการบริหารจัดการของเสีย และสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการทำงานเชิงพื้นที่ในถนนรัชดาภิเษก โดยร่วมกับอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และศูนย์การค้าบนถนน

3.Care the Wild เพื่อส่งเสริมการสร้างพื้นที่ป่า เพื่อสร้างสมดุลในระบบนิเวศ

ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ นำผู้บริหาร เจ้าหน้าที่องค์กร และสื่อมวลชน ร่วมมอบถุงยังชีพแก่ชาวชุมชนมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา และร่วมกันเก็บขยะทะเล ภายใต้โครงการ Care the Whale โดยมีอันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์ ซึ่งเป็น SE ด้านพัฒนาชุมชน ในโครงการ SET Social Impact Gym ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้นำกิจกรรม

โดยการเก็บขยะทะเลที่หน้าหาดชุมชนมอแกน ในครั้งนี้ได้จำนวนกว่า 204 กิโลกรัม ตีเป็นมูลค่า 1,000 กว่าบาท ที่ถือว่าเป็นรายได้เสริมให้กับชาวชุมชนมอแกนและเป็นการช่วยลดปริมาณขยะทะเลที่เป็นพลาสติก เพราะถือว่า อันตรายที่สุดที่ทำให้ทะเลเกิดไมโครพลาสติกต่าง ๆ และสัตว์ทะเลต้องตายลงไป เพราะกินพวกพลาสติกที่อยู่ในท้องทะเล

โครงการนี้ถือว่าได้ผลดีมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ขยะทะเลค่อนข้างมาก กระทั่งช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่เกิดวิกฤตโควิด ชุมชนมอแกนไม่มีนักท่องเที่ยว ชุมชนมอแกนจึงได้รวมกลุ่มกันประมาณ 6 - 7 คน เพื่อจะเก็บขยะทะเล เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่หมู่บ้านมอแกน

อย่างไรก็ตาม จากความร่วมมือกันของหลายหน่วยงานทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทจดทะเบียน และอันดามันดิสคอฟเวอรี่ส์ ได้ร่วมกันให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ชุมชนมอแกนในการแยกขยะประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแยกฝา แยกขวด และแยกฉลาก เพื่อเพิ่มเสริมสร้างมูลค่าของขยะทะเลให้เป็นรายได้ที่มากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน Care the Wild เพื่อส่งเสริมการสร้างพื้นที่ป่า เพื่อสร้างสมดุลในระบบนิเวศ เพื่อการทำซ้ำและขยายผลเชิงพื้นที่ต่อไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเช่นกัน จึงได้มีการเข้าร่วมปลูกป่าโกงกาง ที่ท่าดินแดง จังหวัดพังงา จำนวน 300 ต้น เนื่องจากป่าโกงกาง หรือป่าที่เกิดจากทะเลจะช่วย จะช่วยลดคาร์บอนเครดิต หรือ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อมได้เป็นจำนวนมาก และสามารถผลิตก๊าซออกซิเจนได้สูงกว่าป่าทั่วไปที่เกิดขึ้นตามภูเขา อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนบ้านท่าดินแดงอีกด้วย

ทั้งนี้หากย้อนไปช่วงปี 2547 ที่เกิดเหตุการณ์สึนามิ ที่ซัดถล่มชายฝั่งอันดามัน ทำให้หลายหมู่บ้านได้รับความเสียหายในครั้งนั้นค่อนข้างมาก แต่หมู่บ้านท่าดินแดง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกป่าโกงกางค่อนข้างหนาแน่น ทำให้สามารถปกป้องหมู่บ้านไว้ได้ และหลังจากนั้นจึงได้มีการรณรงค์ปลูกป่าโกงกางโดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนและเข้ามาดูแล

และ Care the Bear ได้มีการคำนวณปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากเกิดขึ้นโดยการพยายามที่จะใช้รถโดยสารให้น้อยที่สุดหรือบรรจุคนในเรือให้เต็มลำ และคำนวณระยะทางของการใช้ยานพาหนะ โดยคำนวณเรือที่เดินทางไปหมู่เกาะสุรินทร์กี่กิโลเมตร รวมถึงวิเคราะห์ถึงอาหารที่รับประทานว่า เหลือทิ้งเท่าไร เป็นจำนวนกี่กิโลกรัม และขยะที่เกิดขึ้นบนหมู่เกาะสุรินทร์ เช่น กระดาษ ขวด กระเป๋า ก็จะเก็บนำมาคำนวณ ในการช่วยลดจำนวนคาร์บอนไดออกไซด์ได้

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังขับเคลื่อนวาระสำคัญของตลาดทุนไทยและประเทศสู่ความยั่งยืน มุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายในปี 2050 สอดคล้องมาตรฐาน SBTi และเข้าร่วมการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (TCFD) โดยมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการด้าน ESG ภายในองค์กรอย่างเข้มข้น เช่น การต่อยอดโครงการ SET’s Journey Towards Net Zero เพื่อมุ่งสู่การเป็น Net Zero Organization การพัฒนาองค์กรให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (Culture transformation) พร้อมกับการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงและการกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ (Risk management & Enhancing governance)