กล่าวหา ‘รัชกาลที่ 9’ ท้าทายอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ การตรวจความถูกต้องทางวิชาการของ ณัฐพล ใจจริง

กรณี ‘แผนการเสด็จเยือนชนบทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ณัฐพล ใจจริงอ้างว่ากระทำไปเพื่อท้าทายอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม’

1.ข้อความของณัฐพล
อีกประเด็นหนึ่งที่พวกเราทุ่นดำ-ทุ่นแดง เห็นว่าควรหยิบยกนำมาพูดถึง เพราะประเด็นนี้มีลักษณะโน้มน้าวให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  

นั่นก็คือ ‘แผนการเยี่ยมชนบท’ ของพระราชวงศ์และกลุ่มรอยัลลิสต์ ซึ่ง ณัฐพล ใจจริง ได้อ้างว่ากระทำเพื่อ ‘สร้างความนิยมให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ในการท้าทายอำนาจกับรัฐบาลจอมพล ป.’ 

โดยปรากฏในวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500) ในหน้า 156  ณัฐพลเขียนว่า…“สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า ไม่เพียงแต่ สถาบันกษัตริย์เริ่มต้นการท้าทายอำนาจของ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเท่านั้น แต่ ‘กลุ่มรอยัลสสต์’ ยังมีแผนการสร้างกระแสความนิยม ในพระมหากษัตริย์ให้เกิดในหมู่ประชาชนเพื่อท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. ในอีกทางหนึ่ง ด้วยการให้จัดโครงการให้พระองค์เสด็จเยี่ยมประชาชนในชนบท” 

และในหนังสือขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (2563) ในหน้า 163 ณัฐพลได้กล่าวว่า…“สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เพียงเริ่มต้นท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. เท่านั้น กลุ่มรอยัลลิสต์เองยังมีแผนการสร้างกระแสความนิยมในองค์พระมหากษัตริย์ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเพื่อท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. ในอีกทางหนึ่งด้วย”

ทั้งสองส่วนนี้ ณัฐพล ใจจริง ได้อ้างที่มาจากเอกสารชั้นต้นชิ้นเดียวกันจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้แก่ NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4187, Memorandum of Conversation; Kukrit Pramote, George M. Widney, 29 April 1954

2. ข้อค้นพบ
เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเด็นของณัฐพลที่พวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ได้ทำการตรวจสอบมา การอ้างอิงหลักฐานของ ณัฐพล ในชิ้นนี้ ก็ผิดพลาดเช่นเคย กล่าวคือ เอกสาร NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4187, Memorandum of Conversation; Kukrit Pramote, George M. Widney, 29 April 1954 มีเนื้อหาระบุเพียงว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชย์ เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรง ‘เสด็จออกชนบท’ (gone to the country) เพื่อไปหาเสียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับทรรศนะของพระองค์เองเกี่ยวกับกรณีหรือนโยบายใด ๆ (views on an issue) และไม่เคยคิดที่จะทรงแสวงหาชื่อเสียง (publicity กระแสความสนใจจากสาธารณะ) จากการเสด็จออกชนบทด้วย แต่ความคิดของพระองค์เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลก็เป็นที่รับรู้โดยอ้อมผ่านการที่ทรงชะลอการลงพระปรมาภิไธยในร่างกฎหมายฉบับต่าง ๆ (ซึ่งเป็นพระราชอำนาจปกติของระบอบพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ - ทุ่นดำทุ่นแดง)

ข้อความต้นฉบับ (NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4187, Memorandum of Conversation; Kukrit Pramote, George M. Widney, 29 April 1954) คือ 

“I [Geroge M. Widney] asked Kukrit if the general public got to know of the King’s actions and views in such cases where he withheld or delayed royal approval. He was emphatic in saying that the public does, and that this is a source of strength for the King. Kukrit asserted, however, that the King had never “gone to the country” to justify his views on an issue nor had he ever sought to generate publicity for such actions. But his views nevertheless have become well known”

จะเห็นได้ว่าไม่มีข้อความในส่วนใดในเอกสารชิ้นนี้ที่ระบุเนื้อความหรือเบาะแส (hint/clue) ที่ว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เพียงเริ่มต้นท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. เท่านั้น กลุ่มรอยัลลิสต์เองยังมีแผนการสร้างกระแสความนิยมในองค์พระมหากษัตริย์ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเพื่อท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป.” ตามที่ณัฐพลได้กล่าวในผลงานวิชาการทั้ง 2 เล่มของเขาเลย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประโยคจากเอกสารชั้นต้นที่ระบุว่า “the King had never ‘gone to the country’ to justify his views on an issue nor had he ever sought to generate publicity for such actions” ซึ่งแปลได้ว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ได้เสด็จไปชนบทเพื่อสร้างความชอบธรรมหรือความนิยมในหมู่ประชาชนแต่อย่างใดเลย”  

คำแปลดังกล่าวเรียกได้ว่า พลิกจากหน้าเมือเป็นหลังมือเลยทีเดียว 

และถ้าณัฐพลยังยืนยันแนวคิดของเขาในประเด็นนี้ ตามหลักวิชาการแล้ว เขาควรจะต้องอ้างเอกสารชิ้นอื่น ที่ไม่ใช่ชิ้นนี้ 

สรุป จุดนี้เองทำให้พวกเชื่อว่า แม้ว่าเอกสารที่ ณัฐพล ใช้อ้างอิง ‘มีอยู่จริง’

แต่เอกสารดังกล่าวกลับมีเนื้อหาที่ ‘ตรงกันข้าม’ กับสิ่งที่เขาได้บรรยายไว้ทั้งในวิทยานิพนธ์และหนังสือ 
หรือเรียกว่าเป็น ‘หนังคนละม้วน’ เลยก็ว่าได้ (เพราะม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในฐานะกลุ่มรอยยัลลิสต์เองยืนยันเองว่าในหลวงไม่ได้ต้องการเสด็จชนบทเพื่อสร้างความนิยม) 

ทั้งนี้ เราไม่แน่ใจว่าเหตุใด ณัฐพล จึงกระทำการเช่นนี้ และอาจารย์ที่ปรึกษา หรือ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ ได้ปล่อยให้ประเด็นดังกล่าวหลุดรอดมาได้อย่างไรเกือบ 10 ปี ?

นอกจากนี้แล้ว เอกสารชั้นต้นฉบับนี้ก็น่าจะให้คำตอบที่หักล้างกับข้อเสนอทางวิชาการของณัฐพลที่ว่า ‘การเสด็จชนบทของในหลวงเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของสหรัฐ’ 

เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีข้อความใด ๆ ในเอกสารชิ้นนี้ที่สามารถตีความหรือโยงใยไปในเรื่องการเสด็จชนบทคือ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์และรอยัลลิสต์กระทำการดังกล่าวในแผนการต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามที่งานวิชาการของณัฐพลพยายามโน้มน้าวให้คนอ่านเชื่ออยู่เลย


ที่มา: ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย