กล่าวหา ‘ร.9’ จะตั้งพระองค์เจ้าธานีนิวัต เป็นนายกฯ แทน จอมพล ป. 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

การตรวจสอบการใช้หลักฐานอ้างอิงในการเขียนงานวิชาการของ ผศ. ดร. ณัฐพล ใจจริง โดย ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

ประเด็นที่ 5 เรื่อง การอ้างเอกสารสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยอย่างบิดเบือนเกินจริงว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะตั้งให้พระองค์เจ้าธานี พระยาศรีธรรมาธิเบศ และหลวงสินาดโยธารักษ์เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ป. ในปี พ.ศ. 2494 รวมถึงการอ้างถึง หม่อมเจ้านักขัตรมงคลว่า ทรงมีบทบาทในการให้คำแนะนำในหลวงให้มีท่าทีไม่พอใจรัฐบาล

1. ข้อความของณัฐพล 
ณัฐพลได้ระบุข้อความไว้ในหน้า 113 ของหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี (2563) ว่า “พระองค์ [ในหลวง ร.9] ทรงวิจารณ์คณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรี อีกทั้งมีพระราชดำริที่จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ภายหลังเสด็จนิวัติพระนครในปลายปี 2494 โดยมีพระราชประสงค์ให้พระองค์เจ้าธานีนิวัต เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ ผู้เป็นแกนนำสำคัญของกลุ่มรอยัลลิสต์เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนจอมพล ป.”

ณัฐพล ใจจริง ได้เขียนประโยคดังกล่าวโดยอ้างอิงจากรายงานสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

และณัฐพลยังยืนยันถึง ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของข้อมูลนี้ไว้ในเชิงอรรถที่ 70 โดยเอกสารของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศที่เขานำมาอ้าง คือ NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Sang Pathanotai and N.B. Hannah, “29 November 1951 Coup d’Etat” 

ซึ่งเอกสารนี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับบันทึกการสนทนาเป็นการส่วนตัว (Memorandum of Conversation) ระหว่าง นายสังข์ พัธโนทัย คนสนิทของ จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี กับ นายเอ็น บี ฮันนาห์ (N. B. Hannah) เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม พ.ศ. 2494 (หลังการปฏิวัติ 2494 เป็นเวลา 1 วัน)

นอกจากนี้แล้ว ณัฐพลได้ขยายความในเชิงอรรถว่า “รายงานการทูตฉบับนี้ระบุว่า สังข์ พัธโนทัย บุคคลใกล้ชิดจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ให้ข่าวกับฮันนาห์ว่า บุคคลที่อยู่เบื้องหลังการให้คำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ให้มีท่าทีไม่พอใจรัฐบาลคือ ม.จ. นักขัตรมงคล กิติยากร ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ” 

สังเกตให้ดีและกรุณาจำไว้ กับข้อความที่ว่า “ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ”

และในวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม. ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) ของณัฐพลก็ได้ปรากฏข้อความเช่นเดียวกันในหน้าที่ 114 เชิงอรรถที่ 101 แต่ข้อความแตกต่างเล็กน้อย โดยระบุว่า…
“รายงานฉบับนี้ รายงานว่า สังข์ พัธโนทัย บุคคลใกล้ชิดจอมพล ป. พิบูลสงครามได้แจ้งกับฮันนาห์ว่า บุคคลที่อยู่เบื้องหลังในแนะนำให้พระมหากษัตริย์กลับมาต่อต้านรัฐบาล คือ ม.จ. นักขัตรมงคล กิติยากร ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ เขาได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ” 

ยังจำได้นะครับ ข้อความที่ว่า "ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ เขาได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ” 

2. ข้อค้นพบ
2.1 จากการตรวจสอบเอกสารชั้นต้นซึ่งเป็นรายงานสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยฉบับดังกล่าวอย่างละเอียด (ฉบับเดียวกับที่ณัฐพลใช้เขียนวิทยานิพนธ์และแต่งหนังสือ) พบว่า มีข้อความที่ระบุว่าในหลวงทรงวิจารณ์รัฐบาล, คณะรัฐประหาร 2490, จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือ เผ่า ศรียานนท์ จริง รวมไปถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่นำโดยนายกรัฐมนตรีที่ทรงปรารภ (mentioned) ไว้ 3 รายชื่อ ได้แก่ พระองค์เจ้าธานี พระยาศรีธรรมาธิเบศ และหลวงสินาดโยธารักษ์ ก็ได้มีการระบุไว้ในเอกสารนี้ด้วย 

แต่ทว่า ท้ายที่สุด นายเอ็น บี ฮันนาห์ (N. B. Hannah) เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐ (ผู้เขียนรายงานฉบับนี้) ได้มีคำวิจารณ์ในวงเล็บต่อท้ายข้อมูลข้างต้นไว้อย่างชัดเจนว่า…

“รายงานนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าว/แหล่งข้อมูลอื่น หากเป็นจริงดังว่า คงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าคณะรัฐประหารโดยเฉพาะพิบูล (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) คงรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก” (This report has not yet been confirmed by any other sources. If there is any truth to this report it is obvious that the coup party and even Phibun would be intensely displeased.) 

นั่นหมายความว่า นายฮันนาห์ (ผู้เขียนรายงานนี้) ก็ยังไม่เชื่อข้อมูลที่สังข์เล่านี้เลย 

แม้เขาจะโปรยในตอนต้นของรายงานนี้ว่า ข้อมูลของสังข์ ‘บางส่วน’ (some respects) มีความถูกต้อง (valid) และได้รับการยืนยัน (confirmed) มาแล้วก็ตาม (ข้อมูลที่ได้รับการยืนยันคือกรณีสาเหตุของการรัฐประหารตัวเองของรัฐบาลจอมพล ป. ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 (โปรดดูย่อหน้าแรกในหน้าแรกของบันทึกการสนทนาประกอบ) 

แต่ข้อมูลในกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะมีพระราชประสงค์จะตั้งนายกรัฐมนตรีนี้ นายฮันนาห์ก็สารภาพไว้เองว่า “เป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน” (has not yet been confirmed by any other sources) และควรบันทึกด้วยว่าข้อมูลเรื่องในหลวงนี้ สังข์เองอ้างว่าเขารู้มาจากเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจอีกทอดหนึ่งด้วย (Phao reported/stated that…..)

สังเกตให้ดีนะครับว่า “สังข์รู้มาจากเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจอีกทอดหนึ่งด้วย (Phao reported/stated that…..)

2.2 ส่วนข้อความที่พาดพึงไปถึง ม.จ. นักขัตรมงคล (พระบิดาของสมเด็จพระพันปีหลวง {หรือ พระบิดาของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง})

นายฮันนาห์ได้เขียนโดยอ้างจากคำพูดของสังข์ พัธโนทัย ว่า…“สังข์กล่าวโทษ ม.จ. นักขัตรมงคล อดีตเอกอัครราชทูตลอนดอน ผู้เป็นพ่อตาและที่ปรึกษาปัจจุบันของในหลวง, ว่าโน้มน้าวให้ในหลวงต่อต้านรัฐบาล” (Sang blames the King’s father-in-law Momchao Nakhat MONGKON, former Ambassador in London and now advisor to the King, for turning him against the Government.) 

ข้อความในส่วนนี้จึงเป็นทัศนคติส่วนบุคคลของสังข์ พัธโนทัย คนสนิทของจอมพล ป. แต่เพียงผู้เดียว ผ่านรอยน้ำหมึกปากกาของนายฮันนาห์ผู้บันทึกการสนทนา 

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงในประเด็น ม.จ. นักขัตรมงคล จะเป็นอย่างไรนั้นไม่มีใครทราบ 

แต่การที่ ณัฐพล ใจจริง นำกรณี 2.1 กับ 2.2 มารวมกันแล้วขยายด้วยข้อความในเชิงอรรถในลักษณะที่ทำให้ผู้อ่านหนังสือ/วิทยานิพนธ์ของเขาเชื่อว่าข้อความเหล่านั้น ‘เป็นความจริง’ เพราะได้รับการยืนยันจากฮันนาห์เอง

ด้วยข้อความที่ณัฐพลเขียนสำทับลงไปเองว่า…“ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ”  

แต่แท้ที่จริงแล้วข้อมูลในประเด็นทั้ง 2.1 และ 2.2 กลับตรงข้ามที่ฮันนาห์ได้ระบุไว้ในตัวเอกสารเลย ดังที่อธิบายไปข้างต้นแล้ว

ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ ฮันนาห์ได้ระบุย้ำเตือนถึงความ ‘บิดเบือนความจริง’ (misrepresentation) หรือ ‘ความเข้าใจคลาดเคลื่อน’ (misinterpretation) ของสังข์ไว้ในบันทึกหน้าสุดท้ายไว้อีกด้วยว่า…

“โดยทั่วไปแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่ารายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ ในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ค่อนข้างแม่นยำ แต่ก็ยังปรากฏบางกรณีที่ชัดเจนว่า เป็นการบิดเบือนความจริง หรือ การความเข้าที่ใจคลาดเคลื่อนของสังข์เช่นกันด้วย ซึ่งกรณีที่ผิดพลาดเหล่านั้น ส่วนใหญ่ได้ถูกระบุข้อสังเกตไว้ในบันทึกนั้นแล้ว” (In general I believe that this description of the specific events surrounding the November 29 coup is fairly accurate. There are certain obvious cases of misrepresentation and of misinterpretation by Sang. Most of these have been pointed out in the text of the memorandum itself.)

สรุปข้อผิดพลาดของณัฐพล ใจจริง ในประเด็นนี้มีความหนักหนามาก 

เพราะถือว่าเป็นการนำเอกสารชั้นต้นที่มาขยายความเกินจริงในงานวิชาการ รวมถึงการยืนยันข้อความดังกล่าวในเชิงอรรถด้วยข้อมูลที่แทบจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่หลักฐานให้ไว้แทบทั้งสิ้น 

การอาศัยความน่าเชื่อถือของเอกสารการทูตของสหรัฐมาใช้เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในวงการวิชาการ ซึ่งการกระทำนี้อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลวงรัชกาลที่ 9


ที่มา: ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย