'อาจารย์อุ๋ย' จี้!! กสทช. กำชับสื่อหยุดสร้างอาชญากรเป็นไอดอล แนะ!! ควรนำเสนอสิ่งที่ผู้รับสาร 'ต้องรู้' ไม่ใช่แค่สิ่งที่ผู้รับสาร 'อยากรู้'

'อาจารย์อุ๋ย-ปชป.' จี้ กสทช. ใช้อำนาจตามกฎหมายกำกับดูแลสื่อให้นำเสนอข่าวอย่างมีจรรยาบรรณ จำกัดการให้พื้นที่สื่อแก่ผู้กระทำผิด เน้นนำเสนอแง่มุมของผู้เสียหายและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำผิด 

จากกรณีที่ศาลมุกดาหารมีคำพิพากษาสั่งจำคุก 20 ปี นายไชย์พล วิภา หรือ ลุงพล ใน 2 ข้อหา คือ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรืออาจารย์อุ๋ย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่า...

ในฐานะที่ตนเคยเป็นอนุกรรมการ กสทช. ในชุดที่แล้วที่ดูแลด้านกฎหมาย ขอเรียกร้องไปยัง กสทช. ชุดปัจจุบันให้ใช้อำนาจกำกับดูแลสื่อตามมาตรา 27 แห่ง พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และมาตรา 37 แห่ง พรบ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดทิศทางการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปในแนวทางตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. 2564 ข้อ 9 ซึ่งกำหนดว่า “สื่อมวลชนพึงเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และเนื้อหาทั่วไป โดยตระหนักถึงความสำคัญและอรรถประโยชน์ของข่าวต่อสาธารณะ และไม่เสนอข่าวในทำนองชวนเชื่อหรือเร้าอารมณ์ให้คนสนใจในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” 

นอกจากนี้ สื่อควรลดพื้นที่การเสนอข่าวเกี่ยวกับตัวผู้กระทำผิด เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้ผู้กระทำความผิดกลายเป็นต้นแบบ (Idolization) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาชญากรรมเลียนแบบ (Copycat Crime) จากผู้ที่บริโภคสื่อ ซึ่งอยากมีชื่อเสียงโด่งดังหรืออยากเป็นจุดสนใจของสังคมเหมือนผู้กระทำผิด และยังเป็นการเบียดบังพื้นที่ในการนำเสนอข่าวที่สร้างสรรค์สังคมอื่นๆ หรือสื่ออาจเลือกที่จะนำเสนอข่าวในแง่มุมอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น ผลกระทบที่ผู้เสียหายได้รับจากการกระทำผิด กลไกการเยียวยา หรือวิธีป้องกันตนเองหรือคนใกล้ชิดไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมในทุกรูปแบบ คือ สื่อควรนำเสนอสิ่งที่ผู้รับสาร ‘ต้องรู้’ ไม่ใช่นำเสนอแต่สิ่งที่ผู้รับสาร ‘อยากรู้’

ซึ่งตนหวังว่าคดีนี้จะเป็นบทเรียนให้กับสังคมและสื่อมวลชนว่า ควรนำเสนอข่าวโดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในสังคมตามมา ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่กับการทำให้ผู้ต้องหาคนหนึ่งที่สมควรได้รับมาตรการเชิงลงโทษจากสังคมกลับกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ได้ออกงานออกสื่อ กอบโกยประโยชน์ได้มากมาย โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพจิตใจของครอบครัวผู้เสียหายหรือความรู้สึกของวิญญูชนในสังคมเลย และขอย้ำว่าการใช้อำนาจ กสทช. ในลักษณะนี้ ไม่ใช่การแทรกแซงเสรีภาพของสื่อ แต่เป็นการกำกับดูแลสื่อมวลชนให้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. โดยตรง