เสียดาย!! 'พรหมลิขิต' ทั้งที่นักแสดงแบกบทของตนอย่างเต็มที่  แต่เส้นเรื่องตามบท ส่งให้ละครด้อยลงจากมาตรฐานเดิม

(20 ธ.ค. 66) นายภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'พรหมลิขิต ep. สุดท้ายยับเยินอย่างไร' ระบุว่า...

พรหมลิขิต ep. สุดท้ายยับเยินอย่างไรคงไม่ต้องบอก อ่านเอาจาก #พรหมลิขิตตอนจบ ได้ว่าคนดูรู้สึกอย่างไร ผมเองก็อยากจะพูดความในใจตัวเองที่ดูทนดูอึดจนมาถึงตอนสุดท้าย 

คนที่ดูบุพเพสันนิวาสจะรู้สึกไม่ต่างกันว่าพรหมลิขิตมาตรฐานตกไปเทียบไม่ได้กับตอนเก่า ทั้งที่นักแสดงบทนำทุกคนต่างก็แบกบทของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ทีมบ่าวทั้งทีมใหม่ทีมเก่าก็เล่นกันเกินร้อย ตัวหลักของเรื่องก็ช่วยละครใส่อินเนอร์กันสุด ๆ นักแสดงทุกคนแบกละครกันเต็มกำลัง แต่เส้นเรื่องตามบทมันทำให้ละครด้อยลงจากมาตรฐานเดิมที่เคยทำเอาไว้

ผมอยากจะบ่นเรื่องการสร้างละครที่ตัดต่อบทจากหนังสือได้ไม่ต่อเนื่อง การกำกับตามบทที่เอาไม่อยู่มือ และการยำบทเรื่องเพี้ยนจากหนังสือไปจนเส้นเรื่องไทม์ไลน์บวมบ้างเหี่ยวบ้างเพี้ยนไปหมด ถ้าเดินเส้นเรื่องตามหนังสือแล้วเพิ่มสิ่งที่อยากจะเพิ่มเพื่อสีสันของละครอีกสักเล็กน้อย น่าจะดีกว่าไปตัดเรื่องในหนังสือทิ้งและเพิ่มอะไรมาก็ไม่รู้ที่ทำให้ละครดูน่าเบื่อ

ยิ่งตอนสุดท้ายเหมือนยัดเยียดตบให้จบเหมือนดูสปอยหนังบนยูทูปมากกว่าดูละครที่เดินเรื่องมายี่สิบกว่าตอน คนดูส่วนมากจะถามว่ายี่สิบตอนที่ผ่านมายืดเรื่องจนน่าเบื่อ เดินล้ม เดินล้ม แล้วกอดกัน สลับกับทะเลาะกับหลานยายกุย แต่วันสุดท้ายวันเดียว ย่าตาย พี่ตาย คนในครอบครัวแต่งงานสามคน บรรดาเมีย ๆ ทั้งหลายก็ท้องแล้วท้องอีก หลานเต็มบ้าน และตัดสินใจอพยพครอบครัวหนีไปเพชรบุรี สามารถขยายเรื่องให้ดูดีได้อีกสามสี่ตอนได้แบบสบาย ๆ ทั้งคนสร้างและคนดู

เสน่ห์ของละครบุพเพสันนิวาสนั้นคือ เกร็ดของประวัติศาสตร์จริงที่สอดแทรกไปตลอดเวลา แต่สิ่งนี้ขาดไปและมีน้อยเกินไปในพรหมลิขิต ถ้าตัดเอาฉากขาอ่อนเดินล้มเดินล้มแล้วกอดกันออกไปบ้าง เอาฉากทะเลาะกับหลานยายกุยออกไปบ้าง จะมีเวลาที่สอดแทรกประวัติศาสตร์ลงไปให้เติมเต็มเหมือนในหนังสืออีกไม่น้อย

คนส่วนมากคิดว่าประวัติศาสตร์ช่วงแผ่นดินพระนารายณ์มีอะไรให้เล่นมากกว่าช่วง พระเพทราชา, พระเจ้าเสือ, พระเจ้าท้ายสระ จนถึงแผ่นดินพระบรมโกศ แต่ที่จริงแล้วประวัติศาสตร์ช่วงนี้เข้มข้นไม่น้อยกว่ากัน เป็นการปูทางให้เข้าใจถึงจุดเสื่อมของอยุธยาด้วยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ในหนังสือนั้นได้เขียนเรื่องนี้สอดแทรกนัยเอาไว้ไม่ขาดเกิน แต่พอกลายเป็นบทละครแล้วกลับกลายเป็นหายไปเกือบหมด 

ละคร ep. สุดท้ายยัดเรื่องเข้ามาเหมือนหนังเกรด 2 ทุนหมด ต้องปิดกล้องให้ได้ในห้านาทีสุดท้าย นักแสดงเลยต้องแบกหนังให้จบแบบสุดฝีมือ ฉากที่แม่อุ้มห่อกระดูกลูก บ่าวไพร่ร้องไห้กันทั้งเรือน ผมให้คะแนนเกินร้อย ฉากนี้แบกให้คุณค่าของตอนนี้ดีที่สุดฉากหนึ่ง แต่นอกจากนั้นรวบรัดเดินเรื่องกันอย่างน่าหงุดหงิด ย่าตายแบบให้เวลาน้อยมากทั้งที่เป็นตัวหลักมาตลอดสองภาค ลวกก๋วยเตี๋ยวเสร็จคนดูเดินเข้าห้องน้ำรีบออกมาดูต่อก็คลอดลูกกันแล้ว หรือฉากตายของพ่อเรืองก็นอนป่วยอยู่สองนาทีก็ตาย ฉากแต่งงานที่พิษณุโลก และที่อยุธยาอีกสองคนก็หายไปทั้งที่ควรจะมี ฉากคุณยายนวลที่เป็นต้นเรื่องให้ยกครัวหนีไปอยู่เพชรบุรีก็น่าจะทำได้ดีกว่านี้ และที่น่าเสียดายคือจุดจบของคนที่โกงกินอย่างพระยาคลังที่โดดข้ามไป ทั้งที่เรื่องนี้น่าจะต่อยอดได้เข้มข้นมากตามประวัติศาสตร์จริง และเป็นการเริ่มต้นของพระยาคลังหนุ่มอีกคนตามประวัติศาสตร์ อะไรทำนองนี้

หนึ่งปีแปดเดือนที่นักแสดงทุกคนต้องแบกรับ แสดงกันแบบเกินร้อย แต่มาตกม้าตายกับงานที่ตัดต่อออกมาเป็นบทละครและโพสโปรดักชั่น น่าผิดหวังเมื่อเทียบกับงานภาคแรก แต่ผมเองก็ทำใจเอาไว้แล้วว่าภาคสองดีกว่าภาคหนึ่งคือสิ่งที่หายากในวงการหนังและละคร

ผมอยากจะเล่าเรื่องสักเรื่องที่มีการเปลี่ยนไปจากประวัติศาสตร์ อาจจะเป็นเพราะละครไม่อยากไปแตะต้องหรือต้องการเว้นว่างเอาไว้ เช่นบทของ ทองคำ ที่วางบทเอาไว้เพียงแค่มีตัวตนไปไหนไปกันกับกลุ่มบอยแบนด์ในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ แต่ไม่ได้มีบทเด่นอะไรเหมือนโกษาปานผู้เป็นพ่อและปู่ เพราะ ทองคำ ทองดี ทองด้วง อีกสามรุ่นคนทั้งก่อนและหลังกรุงศรีอยุธยาแตกคือปฐมชนกและปฐมกษัตริย์ของราชวงค์จักรี เรื่องแบบนี้ละครทำได้ดีแล้วที่ทำบทแต่พองาม ไม่มากไปน้อยไป ไม่มีเรื่องรักใคร่เหมือนกับบอยแบนด์ตัวจี๊ดของอยุธยาเช่นคนอื่น ๆ 

และอีกเรื่องที่ละครสร้างเส้นไทม์ไลน์ให้ย้ายครัวไปอยู่เมืองเพชรบุรีเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามครั้งกรุงแตกนั้น เป็นการเลี่ยงที่จะพูดถึงสาเหตุจริงที่ต้องรีบย้ายครัว เพราะขุนหลวงท้ายสระครองราช 24 ปี เวลานั้นถ้าดูตามอายุลูก ๆ ของพุดตานเทียบกับไทม์ไลน์ของตัวละครแล้ว รัชสมัยของขุนหลวงท้ายสระน่าจะอยู่ไปอีกไม่ต่ำกว่าสิบปีหรือเวลาใกล้เคียง หลังจากนั้นก็เป็นรัชกาลของขุนหลวงบรมโกศอีก 26 ปี และรัชสมัยสุดท้าย ขุนหลวงเอกทัศอีก 9 ปี 

นั่นหมายความว่าการย้ายครัวไปอยู่เมืองเพชรบุรีนั้นไปกันก่อนกรุงแตกถึงกว่า 40 ปี สิ่งที่ละครเลี่ยงออกไปว่าเป็นการย้ายครัวหนีก่อนกรุงแตก แต่เหตุผลจริง ๆ นั้นคือการหนีสงครามกลางเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อของรัชสมัยขุนหลวงท้ายสระและขุนหลวงบรมโกศที่ข้าราชการฝ่ายวังหลวงโดนวังหน้ากวาดล้างตัดหัวเสียจนเกือบหมดสิ้น 

ซึ่งแน่นอนว่าครอบครัวของออกญาวิสูตรสาครและคุณหญิงการะเกด รวมถึงรุ่นลูกหมื่นมหาฤทธิ์ ที่เป็นคนใกล้ชิดของขุนหลวงท้ายสระ โดนวังหน้ากวาดล้างหมดแน่นอน เพราะเมื่อขุนหลวงบรมโกศขึ้นครองราชย์จากการปราบดาภิเษกนั้นก็ทำพิธีกันที่วังหน้าไม่สนใจวังหลวงที่กำลังรบกันอยู่ และหลังจากนั้นขุนนางในวังหลวงก็โดนกวาดล้างไปเสียจำนวนมาก เหลือแต่ตำแหน่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เท่านั้นที่ได้ไปต่อในแผ่นดินใหม่

นี่คือเหตุผลที่ละครยกเอาเรื่องเสียกรุงที่ไกลตัวไปอีกชั่วอายุคนบนเส้นไทม์ไลน์จริง แทนที่จะเป็นการบอกว่าหนีภัยการเมืองที่มีโอกาสโดนกุดหัวยกเรือนในสงครามซีวิลวอร์ช่วงเปลี่ยนรัชกาลในอีกสิบปีข้างหน้า เพราะมันดูเบากว่า อีกทั้งไม่ต้องไปแตะต้องอะไรมากนักกับกษัตริย์ทั้งสองพระองค์และการเปลี่ยนแผ่นดินแบบเลือดท่วมของกรุงศรีอยุธยา