MI ชี้!! ปี 67 ‘อินฟลูเอนเซอร์’ แบกอุตฯ โฆษณา เข้าถึง ‘กลุ่มย่อย-ทรงประสิทธิภาพ’ มากกว่าสื่ออื่น

(18 ธ.ค. 66) นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานและกรรมการบริหาร บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ กรุ๊ป จำกัด หรือเอ็มไอ กรุ๊ป เผยผลการประเมินของทีม MI Learn Lab ของบริษัท โดยคาดว่าเม็ดเงินโฆษณาในปี 2567 จะมีมูลค่าประมาณ 87,960 ล้านบาท หรือเท่ากับการเติบโต 4% จากปี 2566 นี้ ซึ่งจากข้อมูลช่วง 11 เดือน เชื่อว่าสิ้นปี 2566 มูลค่าเม็ดเงินโฆษณาจะอยู่ที่ 84,500 ล้านบาท และเติบโต 4.4% จากปีก่อนหน้า โดยตัวเลขนี้น้อยกว่าการเติบโตในปี 2565 ที่เม็ดเงินเพิ่มขึ้น 6.3% 

นายภวัต กล่าวอีกว่า เม็ดเงินที่เติบโต 4% นี้ จะกระจุกอยู่ในกลุ่มสื่อออนไลน์ และสื่อนอกบ้าน ขณะที่สื่ออื่น ๆ ทั้งทีวี สิ่งพิมพ์ ยังหดตัวต่อเนื่องโดยเป็นผลจากฟังก์ชั่ันใหม่อย่าง Affiliate หรือการแบ่งรายได้จากการขายสินค้า-บริการให้กับ KOL (Key Opinion Leader) หรืออินฟลูเอนเซอร์ เมื่อผู้บริโภคซื้อผ่านลิงก์ในโพสต์หรือวิดีโอ ร่วมกับพฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภคที่ย้ายไปออนไลน์อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าในปี 2567 สื่อทีวีจะมีเม็ดเงินโฆษณาลดจาก 36,199 ล้านบาทในปี 2566 เป็น 35,475 ล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินในสื่อออนไลน์ จะเพิ่มจาก 28,999 ล้านบาทเป็น 31,899 ล้านบาท เช่นเดียวกับสื่อนอกบ้านที่จะได้เม็ดเงินเพิ่มจาก 12,101 ล้านบาทเป็น 13,311 ล้านบาท ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ส่วนแบ่งของสื่อออนไลน์กับทีวีขยับเข้าใกล้กันเป็น 36.3% และ 40.3% ตามลำดับ 

นายภวัต กล่าวต่อไปอีกด้วยว่า KOL (Key Opinion Leader) หรือ อินฟลูเอนเซอร์ จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของอุตฯ โฆษณาในปี 2567 และมีบทบาทในการทำการตลาดและสร้างยอดขายให้กับแบรนด์มากขึ้น โดยเฉพาะ KOL ระดับไมโครและนาโน ที่แม้มีฐานแฟนน้อยแต่เฉพาะกลุ่มนั้น เนื่องจากเป็นเครื่องมือการตลาดที่สามารถตอบโจทย์ท้าทายของตลาด ทั้งการโฟกัสกับการสร้างยอดขายของบรรดาธุรกิจเพื่อรับมือปัญหาสภาพเศรษฐกิจ และการเข้าถึงผู้บริโภคที่แตกเป็นกลุ่มย่อยลงไปเรื่อย ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าสื่ออื่น

เนื่องจาก KOL ทยอยหันไปสร้างรายได้ผ่าน Affiliate กันมากขึ้น ทำให้แบรนด์สามารถใช้งาน KOL โดยหวังผลได้แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ อย่างสร้างการรับรู้ ไปจนถึงปิดการขายและสร้างฐานแฟนคลับให้กับแบรนด์ซึ่งนำไปสู่การซื้อซ้ำ ซึ่งเป็นปลายน้ำในช่องทางเดียว ขณะเดียวกันความสามารถเข้าถึงผู้บริโภคแต่ละกลุ่มย่อย ได้ช่วยให้แบรนด์รับมือกับตลาดที่แยกย่อยเป็นหลายกลุ่มหลายเซ็กเมนต์ได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการใช้-ทำงานกับ KOL จะเปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน ทั้งการคัดเลือกและสร้างคอนเทนต์กับ KOL ให้ตรงกับโจทย์ของธุรกิจและฐานแฟนของ KOL ซึ่งต้องละเอียดมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าค่าใช้จ่ายในการใช้ KOL จะเพิ่มขึ้นตามไป