‘รัฐบาล’ ตั้ง ‘คณะกรรมการ PM 2.5 แห่งชาติ’ แก้ปัญหาฝุ่นพิษ รอ ‘พ.ร.บ.อากาศสะอาด’ ผ่านสภาฯ

เมื่อวานนี้ (13 ธ.ค. 66) ณ บริเวณหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ซึ่งได้รับบัญชาจากนายกรัฐมนตรีให้แถลงข่าวประเด็น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ซึ่งค่าฝุ่นพิษสูงมากในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงภาคเหนือว่า นายกรัฐมนตรีให้ความใส่ใจและตั้งใจในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ โดยทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศจะมีวาระหนึ่งที่นำเข้าที่ประชุม คือ การให้ความร่วมมือกันในกลุ่มหมอกควันข้ามพรมแดน พร้อมกับพูดคุยกับกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) เพื่อยกระดับการพูดคุยเรื่องหมอกควันข้ามพรมแดน รวมถึงพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ฉบับของคณะรัฐมนตรี ที่ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้บรรจุผ่านเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว 

ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกาในการหารือและนำเข้าวิปรัฐบาลก่อนจะนำเข้าสู่รัฐสภาต่อไป ซึ่งจะทำงานควบคู่กับพระราชบัญญัติอากาศสะอาดของพรรคเพื่อไทยในแง่ของนิติบัญญัติ ส่วนฝ่ายบริหารจะเป็นพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ฉบับของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความครบถ้วนมากที่สุดในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ระหว่างการแก้กฎหมายจนแล้วเสร็จนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาฝุ่นพิษอย่างยั่งยืน คือ คณะกรรมการ PM 2.5 แห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะเป็นการทำงานแบบ Quick Win ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ระหว่างที่กฎหมายหรือพระราชบัญญัติกำลังพิจารณาอยู่ในสภา

นายจักรพล กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าว่ากรุงเทพมหานครติดอันดับ 12 ของโลก เชียงใหม่ติดอันดับ 23 ของโลก ค่า AQI ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) อยู่ที่ 154 - 156 อยู่ในโซนสีแดง ทั้งนี้ ทุกปีประเทศไทยจะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะวางแผนที่จะทำการรับมืออย่างครบถ้วนและครบทุกมิติ ด้วยการเพิ่มมาตรการภาษีบริเวณเขตชายแดนของการนำเข้าสินค้า การใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV การเพิ่มโทษ (Polluters Pay Principle: PPP) ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย มาตรการเหล่านี้จะเป็นการปลุกระดมให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคเกษตรกร ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคสังคม ที่ทำการศึกษาและพยายามจะฝ่าฟันปัญหาฝุ่นพิษให้ลุล่วงไปอย่างยั่งยืน

นอกจากนั้นระหว่างการเดินทางช่วงเช้าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยกับภาวะ PM 2.5 จะรุนแรงขึ้นอีกในปลายปีนี้ รวมถึงไตรมาสหนึ่งของปีหน้า อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกคนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำทุกวิถีทางให้ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่ค่า AQI ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) จะสูงระดับนี้ และอยากให้เป็นปีสุดท้ายที่จะทำให้ประชาชนทุกพื้นที่ต้องเผชิญฝุ่นพิษนี้ เราตระหนักดีถึงพิษทางเศรษฐกิจและพิษทางสุขภาพ ยืนยันรัฐบาลจะตั้งใจแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่

นายจักรพล กล่าวย้ำว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเปิดแนวกั้นไฟที่จังหวัดเชียงใหม่ และประชุมร่วมผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมทั้งประชุมกับภาคภาคีสังคม พร้อมทั้งมอบนโยบายการดูแลป่า 11 แปลงใหญ่ รวมถึงการเผาพืชผลทางการเกษตรหรือเผาเพื่อเอาผลิตผลต่าง ๆ และการเพิ่มโทษของ Contract Farming ในการที่จะทำสิ่งใดก็ตามที่จะนำมาซึ่งฝุ่นควัน โดยนายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการพูดถึงค่าฝุ่นพิษที่สูงขึ้นนั้นเกิดจากการเผาไร่อ้อยในปริมณฑล ซึ่งได้มีการเฝ้าระวัง และติดตามอย่างเข้มข้นแล้ว ขณะที่ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เดินทางไปร่วมการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ที่นครดูไบ ได้มีการใส่สารัตถะในการให้ความสำคัญเรื่อง PM 2.5 เพื่อจะนำมาเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการพูดคุยกับกรอบประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเผาและเกิดมลพิษข้ามพรมแดน ตรงนี้จะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับปัญหา PM 2.5 เป็นอย่างมาก โดยมอบหมายกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข เข้ามากำกับดูแลปัญหา PM 2.5 รวมทั้งในส่วนฝ่ายนิติบัญญัติได้มีการพูดคุยพรรคร่วมกับรัฐบาลที่จะพยายามขับเคลื่อนพระราชบัญญัติอากาศสะอาดในภาคของนิติบัญญัติอย่างครบถ้วน พร้อมทั้งมีการหารือกับนักวิชาการและนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง โดยในวันพรุ่งนี้ (14 ธันวาคม 2566) จะเดินทางไปที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อทำโมเดลในเรื่องของการเลี่ยงการเผา เปลี่ยนจากการเผาให้เป็นฟางให้เป็นมูลค่าทางหน้าดินให้เกิดนวัตกรรมทางการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป

นอกจากนั้น นายจักรพล ได้ตอบข้อซักถามสื่อมวลชนถึงปัญหาฝุ่นพิษที่สูงในวันนี้ว่าไม่ได้เกิดจากจังหวัดปทุมธานี แต่เป็นเขตปริมณฑล โดยฝุ่นพิษที่สูงในวันนี้เกิดจากการเผาเพื่อเตรียมหน้าดินในเรื่องของการทำไร่อ้อย โดยจะมีมาตรการของ ธกส. ในการที่จะเปลี่ยนการเผาให้เป็นทุน รวมถึงมีการพิจารณาเรื่อง คาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตพริ้นท์ การเปลี่ยนจากการเผามาเป็นการรับซื้อเพื่อเพิ่มมูลค่าจากการเผาให้มาเป็นมูลค่าแทน ทั้งนี้ สิ่งที่ทำได้ทันทีนั้น คือ ใครเผาหรือก่อมลพิษ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจับได้เลยซึ่งมีโทษอยู่แล้ว หากเป็นในต่างจังหวัดก็จะมีเกษตรจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการซึ่งจะทำงานร่วมกับนายอำเภอของแต่ละจังหวัด โดยได้มีการเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำงานอย่างเข้มข้นในการตรวจจับ ตรวจสอบ เฝ้าระวัง นอกจากนั้นต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยยังไม่เด็ดขาด โดยในการผลักดันครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย ทั้งในเรื่องของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเข้าใจและมีความเห็นตรงกันในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง ตลอดเวลาที่ผ่านมาปัญหา PM 2.5 ไม่เคยถูกปฏิบัติอย่างจริงจัง หากเราไม่ขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหานี้ในทุกมิติก็จะสร้างผลกระทบเป็นอย่างมากเพราะฉะนั้นครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ดีในการที่จะขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน