ศาลฯ พิพากษา ‘อติรุจ’ จำคุก 3 ปี 2 เดือน กรณีตะโกน “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จฯ

(12 ธ.ค. 66) ทวิตเตอร์ (X) ‘TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ โพสต์ข้อความระบุว่า…

“ศาลอาญากรุงเทพใต้จำคุก 3 ปี 2 เดือน ‘อติรุจ’ คดี #ม112 และ ขัดขวางเจ้าพนักงาน กรณี ตะโกน "ไปไหนก็เป็นภาระ" ใส่ขบวนเสด็จ ร.10 และ ราชินีฯ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 15 ต.ค. 2565

ศาลพิพากษาว่า การตะโกน "ไปไหนก็เป็นภาระ" เป็นคำที่มิสมควร เป็นการใส่ความว่า การเสด็จเป็นการสร้างปัญหาภาระ ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา 

ขณะนี้กำลังยื่นประกันตัว เพื่อสู้ต่อชั้นอุทธรณ์”

โดยก่อนหน้านี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า..

สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565 เวลาประมาณ 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดําเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทรงเปิดอาคารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หลังจากเสร็จสิ้นพิธี ได้เสด็จกลับเวลาประมาณ 18.00 น. ในขณะที่ขบวนรถยนต์พระที่นั่งของทั้งสองพระองค์เสด็จกลับออกไป มีประชาชนต่างพร้อมใจนั่งเฝ้ารับเสด็จตรงบริเวณเส้นทางเข้าและเส้นทางออกอาคารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และต่างพากันเปล่งเสียงว่า “ทรงพระเจริญ” แต่นายอติรุจซึ่งยืนอยู่บริเวณที่รถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนขบวนผ่านได้ตะโกนเสียงดังหันหน้าไปทางขบวนเสด็จว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ”

ซึ่งจากคำฟ้องของอัยการ ได้ระบุว่า เป็นถ้อยคํากล่าวที่มิบังควร จาบจ้วง มุ่งหมายใส่ความให้ประชาชนที่เฝ้ารับเสด็จและบุคคลทั่วไปเห็นว่าการเสด็จพระราชดําเนินนั้น เป็นการสร้างปัญหา สร้างภาระให้ประชาชน ก่อให้เกิดความเกลียดชังและเป็นภัยคุกคามต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ทําให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี อันเป็นการฝ่าฝืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

นอกจากนี้หลังจากที่นายอติรุจ ได้ตะโกนประโยคดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยในบริเวณนั้นประมาณ 5 นาย ได้เข้าจับกุมจำเลยทันที เพื่อให้จําเลยหยุดการกระทําดังกล่าว แต่จําเลยได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้เท้าถีบเจ้าพนักงานตํารวจอย่างแรง ทำให้ได้รับบาดเจ็บเกิดบาดแผลถลอก และได้รับบาดเจ็บฟกช้ำบริเวณกลางหลังช่วงเอว อัยการจึงได้สั่งฟ้องใน 2 ข้อกล่าวหาแก่อติรุจ ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหา ‘ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138