‘ยานพาหนะไร้คนขับ’ ตัวช่วยส่งพัสดุด่วน-หนุนชอปออนไลน์โต รุกคืบเข้าไทย ‘KMITL’ เริ่มใช้ให้บริการอาจารย์-นักศึกษาแล้ว

(13 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า หลังเทศกาลชอปปิง 11.11 (Double Eleven) ซึ่งเป็นมหกรรมลดราคาสินค้าออนไลน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกสิ้นสุดลง ช่วงเวลาที่คึกคักที่สุดสำหรับการขนส่งพัสดุด่วนก็หวนกลับมาอีกครั้ง ในครั้งนี้ ผู้บริโภคชาวจีนเริ่มพบเห็นยานพาหนะขนส่งพัสดุไร้คนขับที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามามีบทบาทในชีวิต สร้างความตื่นตาตื่นใจไม่น้อย

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา เมืองหยางเฉวียน มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน ซึ่งเปิดให้มีการขับขี่อัตโนมัติทั่วทุกพื้นที่ มีการใช้รถขนส่งพัสดุด่วนไร้คนขับ 12 คันขนส่งพัสดุให้ผู้บริโภค โดยปริมาณการขนส่งสูงถึงเกือบ 10,000 รายการต่อวัน

เฝิงไห่ปิน เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จีนกล่าวว่ารถขนส่งเหล่านี้ช่วยลดเวลาการทำงานของเขาลงได้ 1 ชั่วโมง แถมช่วยให้ขนส่งพัสดุด่วนได้มากกว่าร้อยละ 30

ยานพาหนะเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติระดับ 4 (L4) มีขนาดตัวรถใกล้เคียงกับสมาร์ต (Smart) แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในเครือเมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) ทำงานด้วยความเร็ว 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รับน้ำหนักได้ 600 กิโลกรัม และสามารถขนส่งพัสดุได้สูงสุดเกือบ 800 ชิ้นต่อวัน

นอกจากนี้ยังติดตั้งเทคโนโลยีไลดาร์ (lidar) 2 ตัว พร้อมกล้อง 11 ตัว ทำให้ตรวจจับไฟจราจร ยานพาหนะ คนเดินเท้า ฯลฯ ภายในระยะ 120 เมตรได้ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งชิปสมรรถนะประมวลผล 254 TOPS หรือประมวลผลเทระต่อวินาที (tera operations per second) จึงสามารถปรับแผนการเดินทางให้เข้ากับสถานการณ์บนท้องถนน แต่หากเผชิญเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ประจำการอยู่ก็ยังสามารถควบคุมยานพาหนะฯ จากระยะไกลได้แบบเรียลไทม์ผ่านสัญญาณ 5G

รายงานระบุว่าตลาดขนส่งพัสดุของจีนมีขนาดใหญ่มาก โดยในปี 2022 ปริมาณการขนส่งด่วนของจีนพุ่งทะลุ 1.1 แสนล้านชิ้น ครองอันดับหนึ่งของโลก 9 ปีติดต่อกัน และการใช้งานยานพาหนะไร้คนขับได้ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังช่วยขยายโอกาสทางการตลาด

ไชน่า อินเตอร์เนชันนัล แคปิตัล คอร์ปอเรชัน (CICC) คาดการณ์ว่าตลาดการขนส่งด้วยเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติของจีนจะสูงถึง 1.7 แสนล้านหยวน (ราว 8.51 แสนล้านบาท) นอกจากนี้ ในเมืองต่าง ๆ อาทิ ปักกิ่ง เซินเจิ้น และเหอเฝยต่างกำลังพัฒนาเทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับอย่างแข็งขันเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ยานพาหนะไร้คนขับของจีนได้ออกเดินทางสู่ทั่วโลกแล้ว หนึ่งในนั้นคือที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการใช้งานยานพาหนะไร้คนขับเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คณาจารย์และคณะนักศึกษา สามารถส่งของกินเล่นมาถึงที่แบบไม่ต้องเดินไปไหนไกล

คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ กล่าวว่ายานพาหนะคันนี้ไม่เพียงแค่ช่วยให้นักศึกษาและบุคลากรของสถาบันฯ มีช่องทางจับจ่ายซื้อสินค้าได้สะดวกสบายขึ้นเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีในการพัฒนาชีวิตนักเรียนและบุคลากรในรั้วมหาวิทยาลัย อีกทั้งระบบนำทางอัจฉริยะและระบบรักษาความปลอดภัยของรถ ช่วยให้ความมั่นใจในการใช้งาน 

จ้าวซินสุย รองประธานของนีโอลิกซ์ (Neolix) ผู้ผลิตยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ กล่าวว่าปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ถูกส่งออกไปยัง 12 ประเทศในเอเชีย ยุโรป และถูกใช้งานครอบคลุมทั้งในโรงเรียน ชุมชน โรงพยาบาล และสถานประกอบการ โดยบริษัทฯ คาดการณ์ว่าภายในปี 2025 จะมียานพาหนะไร้คนขับเช่นนี้เข้าสู่ไทยมากกว่า 50 คัน และเข้าสู่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 100 คัน

ผลสัมฤทธิ์จากการพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ครบวงจรอย่างการสื่อสาร 5G การผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ช่วยให้ต้นทุนการผลิตยานพาหนะขนส่งไร้คนขับของจีนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานระบุว่านับตั้งแต่ยานพาหนะไร้คนขับรุ่นแรกออกจากสายผลิตเมื่อปี 2018 ความเร็วออกแบบสูงสุดของรถเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นจาก 5 กิโลเมตรเป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวนเรดาร์ลดลงจาก 5 ตัวเป็น 2 ตัว และต้นทุนรวมของยานพาหนะลดลงมากกว่าร้อยละ 50

จ้าวทิ้งท้ายว่าโมเดลการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรจะกลายเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพแก่ผู้ประกอบการ พร้อมย้ำว่าบริษัทฯ จะเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์อย่างรอบด้านต่อไป


ที่มา: XinhuaThai