Thursday, 9 May 2024
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

‘ยานพาหนะไร้คนขับ’ ตัวช่วยส่งพัสดุด่วน-หนุนชอปออนไลน์โต รุกคืบเข้าไทย ‘KMITL’ เริ่มใช้ให้บริการอาจารย์-นักศึกษาแล้ว

(13 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า หลังเทศกาลชอปปิง 11.11 (Double Eleven) ซึ่งเป็นมหกรรมลดราคาสินค้าออนไลน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกสิ้นสุดลง ช่วงเวลาที่คึกคักที่สุดสำหรับการขนส่งพัสดุด่วนก็หวนกลับมาอีกครั้ง ในครั้งนี้ ผู้บริโภคชาวจีนเริ่มพบเห็นยานพาหนะขนส่งพัสดุไร้คนขับที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามามีบทบาทในชีวิต สร้างความตื่นตาตื่นใจไม่น้อย

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา เมืองหยางเฉวียน มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน ซึ่งเปิดให้มีการขับขี่อัตโนมัติทั่วทุกพื้นที่ มีการใช้รถขนส่งพัสดุด่วนไร้คนขับ 12 คันขนส่งพัสดุให้ผู้บริโภค โดยปริมาณการขนส่งสูงถึงเกือบ 10,000 รายการต่อวัน

เฝิงไห่ปิน เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จีนกล่าวว่ารถขนส่งเหล่านี้ช่วยลดเวลาการทำงานของเขาลงได้ 1 ชั่วโมง แถมช่วยให้ขนส่งพัสดุด่วนได้มากกว่าร้อยละ 30

ยานพาหนะเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติระดับ 4 (L4) มีขนาดตัวรถใกล้เคียงกับสมาร์ต (Smart) แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในเครือเมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) ทำงานด้วยความเร็ว 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รับน้ำหนักได้ 600 กิโลกรัม และสามารถขนส่งพัสดุได้สูงสุดเกือบ 800 ชิ้นต่อวัน

นอกจากนี้ยังติดตั้งเทคโนโลยีไลดาร์ (lidar) 2 ตัว พร้อมกล้อง 11 ตัว ทำให้ตรวจจับไฟจราจร ยานพาหนะ คนเดินเท้า ฯลฯ ภายในระยะ 120 เมตรได้ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งชิปสมรรถนะประมวลผล 254 TOPS หรือประมวลผลเทระต่อวินาที (tera operations per second) จึงสามารถปรับแผนการเดินทางให้เข้ากับสถานการณ์บนท้องถนน แต่หากเผชิญเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ประจำการอยู่ก็ยังสามารถควบคุมยานพาหนะฯ จากระยะไกลได้แบบเรียลไทม์ผ่านสัญญาณ 5G

รายงานระบุว่าตลาดขนส่งพัสดุของจีนมีขนาดใหญ่มาก โดยในปี 2022 ปริมาณการขนส่งด่วนของจีนพุ่งทะลุ 1.1 แสนล้านชิ้น ครองอันดับหนึ่งของโลก 9 ปีติดต่อกัน และการใช้งานยานพาหนะไร้คนขับได้ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังช่วยขยายโอกาสทางการตลาด

ไชน่า อินเตอร์เนชันนัล แคปิตัล คอร์ปอเรชัน (CICC) คาดการณ์ว่าตลาดการขนส่งด้วยเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติของจีนจะสูงถึง 1.7 แสนล้านหยวน (ราว 8.51 แสนล้านบาท) นอกจากนี้ ในเมืองต่าง ๆ อาทิ ปักกิ่ง เซินเจิ้น และเหอเฝยต่างกำลังพัฒนาเทคโนโลยียานพาหนะไร้คนขับอย่างแข็งขันเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ยานพาหนะไร้คนขับของจีนได้ออกเดินทางสู่ทั่วโลกแล้ว หนึ่งในนั้นคือที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการใช้งานยานพาหนะไร้คนขับเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คณาจารย์และคณะนักศึกษา สามารถส่งของกินเล่นมาถึงที่แบบไม่ต้องเดินไปไหนไกล

คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ กล่าวว่ายานพาหนะคันนี้ไม่เพียงแค่ช่วยให้นักศึกษาและบุคลากรของสถาบันฯ มีช่องทางจับจ่ายซื้อสินค้าได้สะดวกสบายขึ้นเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีในการพัฒนาชีวิตนักเรียนและบุคลากรในรั้วมหาวิทยาลัย อีกทั้งระบบนำทางอัจฉริยะและระบบรักษาความปลอดภัยของรถ ช่วยให้ความมั่นใจในการใช้งาน 

จ้าวซินสุย รองประธานของนีโอลิกซ์ (Neolix) ผู้ผลิตยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ กล่าวว่าปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ถูกส่งออกไปยัง 12 ประเทศในเอเชีย ยุโรป และถูกใช้งานครอบคลุมทั้งในโรงเรียน ชุมชน โรงพยาบาล และสถานประกอบการ โดยบริษัทฯ คาดการณ์ว่าภายในปี 2025 จะมียานพาหนะไร้คนขับเช่นนี้เข้าสู่ไทยมากกว่า 50 คัน และเข้าสู่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 100 คัน

ผลสัมฤทธิ์จากการพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ครบวงจรอย่างการสื่อสาร 5G การผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ช่วยให้ต้นทุนการผลิตยานพาหนะขนส่งไร้คนขับของจีนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานระบุว่านับตั้งแต่ยานพาหนะไร้คนขับรุ่นแรกออกจากสายผลิตเมื่อปี 2018 ความเร็วออกแบบสูงสุดของรถเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นจาก 5 กิโลเมตรเป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวนเรดาร์ลดลงจาก 5 ตัวเป็น 2 ตัว และต้นทุนรวมของยานพาหนะลดลงมากกว่าร้อยละ 50

จ้าวทิ้งท้ายว่าโมเดลการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรจะกลายเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพแก่ผู้ประกอบการ พร้อมย้ำว่าบริษัทฯ จะเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์อย่างรอบด้านต่อไป

‘สจล.’ เดินหน้าผลักดันเครือข่าย ‘ไทย-เนเธอร์แลนด์’ นำนวัตกรรม ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ หนุนการเกษตร-อาหาร

(30 พ.ย. 66) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ระดมเครือข่ายนักวิชาการนานาชาติจากมหาวิทยาลัย ชุมชนธุรกิจ สถาบันวิจัยและพัฒนา และหน่วยงานภาครัฐ ผลักดันความร่วมมือในงาน ‘เนเธอร์แลนด์-ไทย : เทคโนโลยีอวกาศ 2023 เพื่อการเกษตรยั่งยืนและระบบอาหารที่มั่นคง’ (The Netherlands – Thailand Space Technology Forum 2023 : Space Technology for Resilient Agriculture and Food System) เพื่อเป้าหมายยกระดับการทำเกษตรและระบบอาหารที่ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว พัฒนาการเกษตรดาวเทียม โดยมี รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. และนายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ฯ ร่วมเป็นประธานเปิดงาน ณ ห้อง The Crystal Box เกษตรทาวเวอร์ ราชประสงค์

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ระบบการเกษตรและอาหารทั่วโลกอยู่ภายใต้แรงกดดัน เนื่องจากจำนวนประชากรโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Climate Change) ความท้าทายของระบบเกษตรกรรมและอาหารของประเทศ ไม่เพียงต้องผลิตอาหารด้วยวิธีที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพเท่านั้น แต่จะต้องมุ่งเป้าประกันความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ได้อย่างเพียงพอสำหรับทุกคนด้วย ‘งานเนเธอร์แลนด์-ไทย: เทคโนโลยีอวกาศ 2023 เพื่อการเกษตรยั่งยืนและระบบอาหารที่มั่นคง’ ตอกย้ำความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างไทย-เนเธอร์แลนด์ ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์เชิงพื้นที่ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ (Space Technology) และ ‘เกษตรกรรมดาวเทียม’ (Satellite Agriculture) เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของทั้งสองประเทศ นับเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศ และผู้มีส่วนกำหนดนโยบาย 140 คน ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยโซลูชั่นที่ก้าวล้ำ และกำหนดภูมิทัศน์ใหม่ของ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ และ ‘เกษตรกรรมที่ชาญฉลาดต่อสภาพภูมิอากาศ’ อาทิ การใช้ข้อมูลและภาพจากดาวเทียมเพื่อการพยากรณ์อากาศ การวิเคราะห์ดิน และการจัดการพืชผลแบบเรียลไทม์ได้ปฏิวัติการเกษตรกรรมสู่ยุคใหม่ เพิ่มขีดความสามารถสร้าง ‘มาตรฐานสากลเกษตรยืดหยุ่นและยั่งยืน’ ในการทำ ‘เกษตรอัจฉริยะ’ ผ่านปัญญาประดิษฐ์ IoT และการวิเคราะห์ข้อมูล โดยสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ SDG2 - ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security), SDG3 - ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ตลอดจน SDG11 – ชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน เราจะร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ ด้วยนวัตกรรมและสร้างแรงบันดาลใจของความร่วมมือไทย - เนเธอร์แลนด์ ในการผลักดันขยายองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นความท้าทายระดับโลก

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (Remco van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ‘วิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศ’ มีความสำคัญมากขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา การวางแผนการเดินทาง พยากรณ์อากาศ และอื่นๆ ข้อมูลเชิงพื้นที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายภาคส่วน เช่น เกษตรกรรม การวางผังเมือง การจัดการทรัพยากร (ป่าไม้ น้ำ แร่ธาตุ) และเพื่อการออกแบบระบบที่จะลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภัยพิบัติ อันเป็นความท้าทายของโลกปัจจุบัน เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น ภัยแล้ง น้ำท่วม การตัดไม้ทำลายป่า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลภาวะทางอากาศ ฯลฯ ล้วนเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และต้นกำเนิดและผลที่ตามมามักจะทับซ้อนกันทางภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ภูมิสารสนเทศช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเราในการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาและการตัดสินใจที่ดีขึ้นเพื่อสังคมและโลกอีกด้วย การประชุมเทคโนโลยีอวกาศเนเธอร์แลนด์ - ไทย 2023 ครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การนำ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ เข้ามามีส่วนในการทำ ‘ระบบการเกษตรและอาหาร’ ที่มีความยืดหยุ่นคล่องตัวและยั่งยืนมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสารสนเทศจึงมีบทบาทสำคัญในการทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้

ดร. นพดล สุกแสงปัญญา ผู้เชี่ยวชาญ วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการวิเคราะห์และติดตามสังเกตการณ์ ‘ภัยแล้ง’ ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1. ภัยแล้งเชิงอุตุนิยมวิทยา 2. ภัยแล้งเชิงอุทกภัย 3. ภัยแล้งเชิงเกษตรกรรม เพื่อให้หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลและภาพไปใช้ในการวางแผนและบริหารจัดการภัยแล้งได้ดียิ่งขึ้น โดยใช้องค์ประกอบต่างๆ อาทิ ระดับปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิของหน้าดิน สภาพอากาศความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์พืช ระบบชลประทาน และความชื้นของดิน เพื่อใช้ในการวางแผนทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ผลักดันเครือข่ายในประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ในการใช้ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ มาช่วยทางด้าน ‘เกษตรแม่นยำ’ และระบบอาหารที่มั่นคงเพียงพอ หากเกษตรกรสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้จริงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพียงแต่ในปัจจุบันยังขาดการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ใช้ นอกจากนี้ควรออกมาตรการเพื่อความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ เสริมสร้างเกษตรกรที่ไม่ทำลายป่าและไม่ทำการเพาะปลูกมากเกินจนล้นความต้องการของผู้บริโภค

ศาสตราจารย์ ดร. วิคเตอร์ เจตเทน คณะวิทยาศาสตร์สารสนเทศภูมิศาสตร์และการสังเกตการณ์โลก (ITC) มหาวิทยาลัยทเวนเต้ (University of Twente) เนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า การวิเคราะห์ความมั่นคงทางอาหารใน ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ (Extreme Climatic Conditions) ด้วยเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล หรือ Remote Sensing จากดาวเทียม สามารถช่วยระบุปริมาณผลิตผลที่ชัดเจน ปัญหาการผลิตในเวลาและสถานที่ได้อย่างแน่นอน เราสามารถระบุพื้นที่มีปัญหาเพื่อวางแผนรับมือกับจุดอ่อนได้ทันท่วงทีและแม่นยำ ทั้งนี้เราต้องเข้าใจความซับซ้อนของระบบการเกษตร ความยืดหยุ่น ความเป็นจริงและข้อจำกัดของเกษตรกร จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

งานครั้งนี้ ประกอบด้วยความร่วมมือของ 11 องค์กร ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL), คณะวิทยาศาสตร์สารสนเทศภูมิศาสตร์และการสังเกตการณ์โลก (ITC) มหาวิทยาลัย Twente, สำนักงานภูมิภาค FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ประเทศไทย (GISTDA), กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมป่าไม้ ประเทศไทย, ศูนย์ภูมิสารสนเทศสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT), คาดาสเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เนเธอร์แลนด์, ปีเตอร์สัน เทคโนโลยี เนเธอร์แลนด์ และชมรมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ - สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้  จับมือ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  จัดกิจกรรม Art of life สถาปัตย์เพื่อการท่องเที่ยวทุ่งสมุนไพรป่าชายเลน แห่งแรกของประเทศไทย

วันนี้(7 ธ.ค.66)  นางสาวกมลชญา  ประเสริฐสิน นายอำเภอบางปะกง   พร้อมด้วย นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา  ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้  นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนักเรียนในพื้นที่ อ.บางปะกง  ร่วมกันเปิดกิจกรรม  Art of life   สถาปัตย์เพื่อการท่องเที่ยวทุ่งสมุนไพรป่าชายเลน แห่งแรกของประเทศไทย  ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา  เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นางสาวกุลพรภัสร์  วงศ์มาจารภิญญา  ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้  กล่าวว่า โครงการพัฒนาทุ่งสมุนไพรป่าชายเลนนี้ จะเป็นบันไดขั้นแรกที่จะสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคม ทำให้เยาวชนและชุมชนเกิดการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรที่ตนมีอยู่ เป็นแหล่งเรียนรู้ความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมและภูมิปัญญา สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน พร้อมทั้งต่อยอดความหลากหลายทางชีวภาพ วิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น นำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน  ซึ่งในอนาคต บลูเทค จะสร้างพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นฮับสมุนไพรป่าชายเลน  โดยทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา และท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว ต่อยอดอาชีพ รายได้ ให้กับคนในชุมชน 

โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ นักเรียนที่เข้าร่วมงาน จะได้ชมนิทรรศการนวัตกรรมพลังงานสะอาด พลังงานบริสุทธิ์ นิทรรศการปูทองขาว ชมสินค้าภูมิปัญญาชาวบ้าน จาก 4 วิสาหกิจชุมชน  การนิเทศผลงานนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และลงพื้นที่ปล่อยปูทะเลจำนวน 1,000  ตัว และร่วมกิจกรรมสถาปัตย์เพื่อท่องเที่ยวทุ่งสมุนไพรป่าชายเลน ใน 5 ฐานกิจกรรม  ซึ่งนักเรียน จะได้รับความรู้ เกี่ยวกับสรรพคุณพืชสมุนไพรชายทะเล การแปรรูปสมุนไพร และสินค้าจากสมุนไพร  สร้างความรักและตระหนักในการอนุรักษ์ป่าชายเลน ควบคู่การสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ชุมชน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top