‘รองผู้ว่าฯ’ สงสัย!! เพราะ ‘โครงสร้างพัง’ หรือ ‘ขนหนักเกิน’ หลังเกิดเหตุ ‘ถนนยุบ’ กลืนรถบรรทุกหายไปเกือบทั้งคัน

(8 พ.ย.66) ที่ปากซอยสุขุมวิท 64/1 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุฝาท่อปิดถนนทรุด ซึ่งมีรถสิบล้อตกลงไป เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ ซึ่งบ่อดังกล่าวเป็นบ่อร้อยสายไฟของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งต้องตรวจสอบว่าเป็นเพราะสาเหตุใดถึงยุบตัว โดยอาจเกิดจากการบรรทุกน้ำหนักเกิน ได้ติดต่อประสานทางหลวง มาตรวจวัดว่ารถบรรทุกดังกล่าวน้ำหนักเกินหรือไม่ รวมทั้งปัญหาของการปิดเปิดฝาที่เปิดไว้ เพื่อดำเนินการร้อยสายไฟลงดิน อาจมีปัญหาเรื่องความแข็งแรง

บรรยากาศช่วงหนึ่งของการลงพื้นที่ นายวิศณุ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า บทสรุปตอนนี้จะมีการยกรถขนดินออก โดยมีการคุยว่าเราต้องชั่งน้ำหนักรถก่อน แต่เนื่องจากรถมีน้ำหนักเยอะ จึงจะต้องแยกชั่งน้ำหนักดินออกแล้วนำไปเก็บไว้อีกคัน ซึ่งตอนนี้สงสัยเรื่องการบรรทุกน้ำหนักเกิน ทำให้โครงสร้างถนนพัง หรือน้ำหนักปกติ แต่โครงสร้างเกิดการพังเอง ก็ต้องพิสูจน์กัน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เราก็จะเก็บข้อมูล โดยการเอาตาชั่งเข้ามาวัด แต่เร่งด่วนที่สุดตอนนี้ คือเร่งเปิดการจราจร จะต้องมีการยกรถออก เสร็จแล้วการไฟฟ้านครหลวง ก็จะเสริมเสาบ่อใหม่ โดยใช้คานเหล็กใหม่เป็น 2 ตัว จากเดิมที่มีตัวเดียว ซึ่งตามการออกแบบมันเพียงพอ แต่ต้องเผื่อไว้ และปิดฝาบ่อ ซึ่งอาจจะเปิดการจราจรได้เร็วที่สุดภายในเย็นนี้ ให้ทัน เพราะรถจะติดมาก แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยงการจราจรเส้นนี้ ถ้าไม่จำเป็นก็หลีกเลี่ยงไปก่อน ตอนนี้จะรีบยกออกก่อน แล้วก็ปิดฝาบ่อให้ได้ เสริมโครงสร้าง แล้วก็เปิดการจราจร อันนี้คือเรื่องด่วนที่สุดแล้ว” นายวิศณุกล่าว

นายวิศณุ กล่าวอีกว่า เรื่องการดำเนินการเอาผิด ตอนนี้ก็ต้องดูเรื่องน้ำหนักรถบรรทุก ต้องเอาเครื่องชั่งที่กำลังเข้ามาชั่งว่า รถบรรทุกคันนี้น้ำหนักเท่าไหร่ เราก็เข้มงวดในเรื่องของการ ควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก ความจริงแล้วตั้งแต่เกิดเหตุที่มักกะสันมา เราได้รับแจ้งเหตุจาก กรมทางหลวง แต่ กทม.ไม่มีเครื่องมือวัดน้ำหนักรถบรรทุก

“ช่วงระยะสั้น เร่งด่วนที่สุดเลย ก็ประสานงานขอความร่วมมือจากกรมทางหลวง และจะขอความร่วมมือไปยังกรมทางหลวงชนบทด้วย เพื่อขอทีม Mobile Unite หรือ หน่วยวัดเคลื่อนที่ ไปวัดตามจุดเสี่ยงที่จะเกิด เช่น ใกล้ไซต์งานก่อสร้าง ที่เราจะเข้มงวดกวดขันมากขึ้น” นายวิศณุ กล่าว

นายวิศณุ กล่าวอีกว่า บทลงโทษค่อนข้างแรง ตามกฎหมายพ.ร.บ.ทางหลวง การบรรทุกน้ำหนักเกินมีโทษรุนแรง ด้านเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่อยู่ภายความดูแลของ กทม. ก็คือเจ้าหน้าที่ทางหลวงท้องถิ่น หรือ เส้นทางที่อยู่ในพื้นที่ของกรมทางหลวง ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงจะเป็นคนกำกับดูแล เราตรวจจับได้แล้วส่งตำรวจ ซึ่งตำรวจจะเป็นคนทำสำนวนเพื่อแจ้งข้อหาต่อไป โทษรุนแรง