จีนอยู่ตรงไหน? ในความขัดแย้ง 'อิสราเอล-ปาเลสไตน์'

ปัจจุบัน 'จีน' ถือหนึ่งในผู้เล่นที่มีบทบาทสูงในเวทีโลกทั้งในมิติเศรษฐกิจและในมิติความมั่นคง เชื่อว่า จีนไม่ได้เลือกข้างที่จะสนับสนุนด้านใด ไม่ว่าจะเป็น อิสราเอล ปาเลสไตน์ และ/หรือ ฮามาส แต่จีนเลือกข้างการสนับสนุนการสร้างสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ ‘จีน’ ดำเนินนโยบายเช่นนี้มาแล้วอย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างน้อยก็ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

โดยจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงก็เริ่มสร้างสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีกับโลกมุสลิมผ่านประเด็นที่เปราะบางที่สุดในโลกมุสลิม ซึ่งก็คือ ประเด็นปาเลสไตน์ โดยเชิญทั้ง มาห์มูด อับบาส (Mahmoud Abbas) ประธานาธิบดีแห่งรัฐปาเลสไตน์ และ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลให้เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาเดียวกัน แม้จะเป็นคนละพื้นที่ก็ตาม (จีนเชิญ เนทันยาฮูไปยังมหานครเซี่ยงไฮ้ และเชิญอับบาสไปยังกรุงปักกิ่ง) 

จีนยังใช้ความเป็นเจ้าภาพในการนำเสนอแผนการสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ใน ค.ศ.2013 (Four-Point Peace Proposal) ซึ่งมีข้อเสนอคือ...

1) เรียกร้องให้มีการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่มีอิสระเสรีภาพทุกประการอยู่ร่วมควบคู่ไปกับรัฐอิสราเอล โดยยึดแผนที่และเขตแดนตามที่ตกลงกันไว้ใน ค.ศ. 1967 (ซึ่งปัจจุบันฝ่ายอิสราเอลเข้าไปครอบครองดินแดนเกือบทั้งหมดของปาเลสไตน์) โดยให้เมืองหลวงของปาเลสไตน์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเยรูซาเล็ม 

2) อิสราเอลยังมีสิทธิในการรักษาความมั่นคงของตนเอง แต่ต้องเริ่มต้นกระบวนการเจรจาสันติภาพเพื่อสันติสุขที่ยั่งยืนโดยมีประชาชนของทั้งสองรัฐเป็นที่ตั้ง 

3) เรียกร้องให้ฝ่ายอิสราเอลยุติการเข้าไปตั้งถิ่นฐาน การปิดล้อมและยึดครองพื้นที่ฉนวนกาซา และทั้ง 2 ฝ่ายต้องยุติการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน รวมทั้งต้องแสวงหาทางออกสำหรับนักโทษชาวปาเลสไตน์ร่วมกัน โดยเชื่อว่านี่คือเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นการเจรจาสันติภาพ และ 

4) เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนเพื่อให้การเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายเกิดขึ้นได้อีกครั้ง รวมทั้งเรียกร้องให้นานาชาติให้ความช่วยเหลือแก่ชาวปาเลสไตน์เพิ่มขึ้น 

สิ่งนี้คือการแสดงความพยายามครั้งแรกของจีนที่จะเข้ามามีบทบาทในการไกล่เกลี่ยเพื่อกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง และนั่นทำให้คะแนนนิยมและความชื่นชมจีนในกลุ่มประชาคมความร่วมมือสันนิบาตอาหรับ (Arab League) อันประกอบไปด้วยสมาชิก 22 ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ได้แก่ แอลจีเรีย, บาห์เรน, คอโมโรส, จิบูตี, อียิปต์, อิรัก, จอร์แดน, คูเวต, เลบานอน, ลิเบีย, มอริเตเนีย, โมร็อกโก, โอมาน, ปาเลสไตน์, กาตาร์, ซาอุดิอาระเบีย, โซมาเลีย, ซูดาน, ซีเรีย, ตูนิเซีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน มีความนิยมต่อจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

อีกทั้งจีนเองก็ยังดำเนินการผลักดันข้อเสนอสันติภาพนี้อย่างต่อเนื่อง 

โดยล่าสุดใน ค.ศ.2021 (ก่อนที่จะมีการปะทะกันครั้งล่าสุดในวันที่ 7 ตุลาคม 2023) หวัง อี้ (王毅 Wáng yì) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นก็ยังคงเดินหน้าผลักดันข้อเสนอเพื่อสันติภาพ 4 ประการข้างต้น โดยจีนเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดปฏิบัติการทางทหารและหยุดการเป็นศัตรูกันโดยทันที และกล่าวว่า “อิสราเอลต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจเป็นพิเศษ” รวมถึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการดำเนินการแผนการสร้างสันติภาพ ค.ศ. 2013

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการออกมาเรียกร้องของจีนใน ค.ศ. 2021 นี้ก็เป็นการตอบโต้แนวทางการขับเคลื่อนปัญหาตะวันออกกลางของสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมา เพราะก่อนหน้านั้นสหรัฐฯ เพิ่งจะขัดขวางมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในพื้นที่ขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ รวมทั้งสหรัฐฯ ยังอนุมัติการขายอาวุธมูลค่า 735 ล้านดอลลาร์แก่อิสราเอล ท่ามกลางการโจมตีอย่างต่อเนื่องของอิสราเอลต่อ ศูนย์พักพิงพลเรือนในฉนวนกาซา 

การแสดงความจริงใจ และการผลักดันสันติภาพในดินแดนปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่องของจีนถือเป็นการซื้อใจประชาคมโลกมุสลิมซึ่งรู้สึกเจ็บแค้นและชิงชังในท่าทีรุกรานของอิสราเอล รวมถึงแนวทางของโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ที่มักจะใช้การสร้างความแตกแยกระหว่างรัฐต่าง ๆ ในโลกมุสลิมเพื่อเข้าไปครอบงำ และ/หรือครอบครองการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง

และนี่คือข้อความบางส่วนจาก บทที่ 19 พันธมิตรซุนกวน-เล่าปี่ แห่งศตวรรษที่ 21: พันธมิตรจีน โลกมุสลิม และเศรษฐกิจเกิดใหม่ จากหนังสือ Amidst the Geo-Political Conflicts #สมรภูมิพลิกอำนาจโลก โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม และ รองศาสตราจารย์ ดร.จักรี ไชยพินิจ เผยแพร่โดย สำนักพิมพ์มติชน 


ท่านใดสนใจหนังสือ ทดลองอ่านก่อนได้ที่: https://bit.ly/3PWGEfm