'ไบเดน' คืนเงินสำรอง 6 พันล้านให้อิหร่านแลก 5 นักโทษมะกันกลับบ้าน ฝ่ายค้าน งง!! มาตรการคว่ำบาตรในประเทศ 2 มาตรฐาน

ในที่สุด สหรัฐอเมริกาก็ยอมบรรลุข้อตกลง ยอมลดเพดานการคว่ำบาตรอิหร่าน ด้วยการอนุมัติการปล่อยเงินสำรองต่างประเทศของอิหร่านที่ถูกอายัดไว้ในเกาหลีใต้กว่า 6 พันล้านเหรียญคืน เพื่อแลกกับการปล่อยนักโทษสหรัฐฯ จำนวน 5 คน ท่ามกลางเสียงคัดค้านของฝ่ายค้าน และความย้อนแย้งสับสนของมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เอง ว่าเข้าตำรา 2 มาตรฐานหรือไม่

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เซ็นยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรกับอิหร่านเมื่อสัปดาห์ก่อน และได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรซแล้ว โดยรัฐบาลไบเดนจะปลดล็อกคำสั่งอายัดเงินสำรองต่างประเทศของอิหร่าน ที่ฝากไว้ที่เกาหลีใต้กว่า 6 พันล้านเหรียญ โดยมีเงื่อนไขว่า เงินสำรองจำนวนนี้ห้ามโอนไปยังอิหร่านโดยตรง แต่ต้องทยอยโอนไปฝากไว้กับบัญชีธนาคารกลางของประเทศกาตาร์ และต้องใช้เพื่อซื้อสิ่งของเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเท่านั้น

นั่นหมายความว่า นอกจากอาหาร ยารักษาโรค หรือของใช้ที่จำเป็นกับประชาชนแล้ว ไม่สามารถถอนเป็นเงินสด หรือนำไปซื้ออาวุธ หรือวัตถุดิบในการผลิตอาวุธได้

ส่วนข้อแลกเปลี่ยนคือ อิหร่านต้องปล่อยตัวนักโทษสหรัฐฯ ที่ถูกจับกุมในอิหร่านจำนวน 5 คน แต่ในขณะเดียวกัน ทางสหรัฐฯ ก็ต้องยอมปล่อยตัวนักโทษอิหร่านในสหรัฐจำนวน 5 คนด้วยเช่นกัน

เงินสำรอง 6 พันล้านของอิหร่านนี้ คือรายได้จากการขายน้ำมันให้กับเกาหลีใต้ แต่โดนรัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์ และกลับมาคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ ทำให้ชาติพันธมิตรสหรัฐอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และ สหภาพยุโรป ถูกกดดันให้อายัดทรัพย์สิน และ เงินสำรองต่างประเทศของอิหร่าน ที่ฝากไว้ในธนาคารทั่วโลกรวมแล้วมากกว่า 1 แสนล้านเหรียญ  แค่เฉพาะในเกาหลีใต้ มีเงินของอิหร่านว่า 7 พันล้านเหรียญ

แต่ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุน แจ-อิน ได้เริ่มทยอยคืนเงินสำรองให้กับรัฐบาลอิหร่านไปแล้วบางส่วน ซึ่งมุน แจ-อิน ได้ส่งนายกรัฐมนตรี จุง เซ-คยุง ไปเยือนกรุงเตหะรานเป็นครั้งแรกในรอบ 44 ปี ให้รู้ว่าเกาหลีใต้ยังต้องการรักษาระดับความสัมพันธ์กับอิหร่านอยู่

แต่พอเกาหลีใต้เปลี่ยนผู้นำมาเป็น ยุน ซ็อก-ย็อล ที่ได้ชื่อว่าเป็นสายเหยี่ยว เรื่องการคืนเงินสำรองให้อิหร่านเลยเงียบไปด้วย จนกระทั่งวันนี้ รัฐบาลไบเดนออกมาไฟเขียว ให้ปล่อยเงินคืนอิหร่านได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ก็สร้างความประหลาดใจไม่น้อย และมาพร้อมกับเสียงคัดค้านจากฝ่ายรีพับลิกัน ที่มองว่า ทำไมข้อตกลงนี้ สหรัฐฯ ดูเสียเปรียบ อิหร่านได้เงินคืน พร้อมนักโทษของตัวเอง แล้วสหรัฐฯ ได้อะไรที่สมน้ำ สมเนื้อกว่านี้บ้าง?

เนื่องจากในอิหร่าน ไม่ได้มีพลเมืองอเมริกันที่ถูกจับตัวในอิหร่านแค่ 5 คน แต่เมื่อดีลมาได้แค่ 5 คน ทำให้ญาติของนักโทษในอิหร่านที่เหลือรู้สึกว่าพวกเขาถูกทอดทิ้ง

อย่างกรณีของ Jamshid Sharmahd วิศวกรชาวเยอรมัน เชื้อสายอิหร่าน แต่ไปตั้งรกรากที่แคลิฟอร์เนีย ถูกจับกุมโดยสายลับอิหร่านขณะที่เขาไปเยือนดูไบ ล่าสุดโดนศาลอิหร่านตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาคอร์รัปชัน ก็ไม่ได้รวมอยู่ในรายชื่อนักโทษอเมริกัน 5 คน ที่ได้รับการปล่อยตัว

อีกทั้งยังมีคำถามมากมายจากกลุ่มการเมืองในสหรัฐ ที่มองว่าทำไมรัฐบาลไบเดน ถึงยอมผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในตอนนี้ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าอิหร่านยกเลิกโครงการนิวเคลียร์แล้ว แถมเพิ่งจะขายโดรนพิฆาตให้รัสเซียไปถล่มยูเครนอีกต่างหาก

แต่ในขณะเดียวกัน กับ คิม จอง-อุน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่กำลังมุ่งหน้าไปเยือนรัสเซีย ซึ่งเชื่อว่าไปเพื่อทำข้อตกลงขายอาวุธให้กับปูติน สหรัฐก็ออกมาแยกเขี้ยวขู่แล้วว่าจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร กดดันเกาหลีเหนือยิ่งขึ้นอีก นี่ขนาดยังไม่ทันขายเลย แต่อิหร่านนั้นขายให้แล้วเห็นๆ กลับยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรให้เฉย ไม่ลักลั่นย้อนแย้งไปหน่อยหรือ???

แต่ว่า นี่เป็นรัฐบาลของปู่โจ ความพอใจของปู่โจ แกจะทำอะไรก็ได้ ซึ่งมาตรการของสหรัฐฯ ก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรตายตัวอยู่แล้ว ลื่นไหลไปตามสถานการณ์ รัฐบาลนี้คืน เดี๋ยวรัฐบาลหน้าก็อาจจะยึดใหม่ก็ได้นาจ๊า