เปิดกลยุทธ์พรรคส้ม ยึดครองโซเชียลมีเดียปูทางโกยแต้มเลือกตั้งเบ็ดเสร็จ เน้นชูเรื่อง 'รัก-ครอบครัว-ไลฟ์สไตล์' ผ่านเพจที่ไม่สามารถยืนยันตัวผู้ดูแลได้ 

(11 ก.ย. 66) จากมุมมอง ‘คุณนฤพันธ์ โชติช่วง’ อดีตนักเรียนวิทยาลัยยามชายฝั่งญี่ปุ่น ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก 'Naruphun Chotechuang' เกี่ยวกับการเลือกตั้งซ่อมที่ระยองของไทยเมื่อวานไว้ว่า...

ผลการเลือกตั้งซ่อมที่ระยองเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ครับว่า จะออกมาเหมือนเดิม จากผลงานจากการระดมอัดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งผ่านเพจและกลุ่มต่างๆ ทั้งแพลตฟอร์มเฟสบุ๊ก, X (ทวิตเตอร์) และติ๊กต็อกเป็นเวลานานแล้ว ตัวอย่างล่าสุดที่พึ่งเกิดกับผมคือ ด้วยความที่ตอนนี้อาศัยอยู่แถวภาคตะวันออก ทำให้มีโฆษณาจากเพจต่างๆ ของพรรคสีส้มโผล่มาให้ผมเห็นจำนวนมากกว่าปกติ (และไม่เห็นพรรคสีน้ำเงินเลย) แต่เมื่อถามเพื่อนๆ ที่อยู่ภาคอื่นกลับไม่เคยเจอเหมือนกับผม แสดงว่ามีการอัดโฆษณาอย่างแน่นอน ซึ่งผมได้รวบรวมเพจที่โฆษณาเพจตัวเอง แต่เนื้อหาของโพสที่โฆษณาจะเป็นเรื่องของหัวหน้าพรรคเท่านั้นในภาพที่ *1

และสิ่งที่น่าสนใจคือกลยุทธ์ที่พรรคสีส้มใช้ คือให้เพจที่ไม่สามารถยืนยันตัวผู้ดูแลได้ และเพจข่าวบันเทิงโฆษณาเพจตัวเอง โดยพูดถึงหัวหน้าพรรคสีส้มในเรื่องราวต่างๆ เช่น ความรัก ครอบครัว หรือชีวิตประจำวัน โดยไม่พูดถึงการเลือกตั้งซ่อมเลย เพราะตอนนี้หัวหน้าพรรคสีส้มกลายเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคลไปเป็นแล้ว เพียงแค่พูดถึงหัวหน้าพรรคสีส้ม เท่ากับหาเสียงให้พรรค โดยที่ไม่จำเป็นต้องพูดถึงนโยบายหรือคุณสมบัติของผู้สมัครใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเวอร์ชั่นใหม่ของการส่งเสาไฟฟ้าก็ชนะได้

จากพฤติกรรมที่พรรคสีส้มทำ ผมมองว่ากฎหมายเลือกตั้งของไทยมีปัญหาไม่ก็ตกยุคหรือเปล่า? จึงขอลองนำเอากฎหมายเลือกตั้งของญี่ปุ่นที่น่าสนใจมาเทียบเคียงกับประเทศไทยอย่างที่เคยทำดูครับ

1. กฎหมายเลือกตั้งญี่ปุ่น อนุญาตให้หาเสียงผ่าน หรือแนะนำตัวผู้สมัครผ่านเว็บไซต์ Blog และแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ แต่ห้ามมิให้มีค่าใช้จ่ายในการโฆษณา ไม่ว่าผู้โฆษณาจะเป็นพรรคการเมือง ผู้สมัคร หรือบุคคลทั่วไป (ภาพที่ *2) กล่าวคือสามารถใช้แพลตฟอร์มยอดนิยม เช่น เฟซบุ๊กหาเสียงด้วยเพจทางการของพรรค เพจผู้สมัคร หรือเพจผู้สนับสนุนพรรคได้อย่างอิสระ แต่ห้ามจ่ายเงินเพื่อให้คนทั่วไปมองเห็น (หรือในเฟซบุ๊กจะเขียนว่า แนะนำสำหรับคุณ) มากขึ้น โดยเมื่อเทียบกับการหาเสียงของประเทศไทย พรรคสีส้มใช้วิธีนี้เป็นวิธีหลักในการหาเสียง เพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด และจากประสบการณ์ของตัวเอง ไม่เคยเห็นโฆษณาของพรรคอื่นเลย (ถ้าใครเคยเห็นมาแลกเปลี่ยนความเห็นได้นะครับ) จากภาพที่ *1 จะเป็นว่าการโฆษณาไม่ได้ทำเพียงแค่เพจเดียว แต่กระจายไปหลายเพจเพื่อให้เข้าถึงคนให้มากที่สุด 

2. กฎหมายเลือกตั้งญี่ปุ่น อนุญาตให้บุคคลทั่วไปโพสต์ แชร์ รีทวิต กดไลก์ พรรคหรือผู้สมัคร แนะนำตัว ผลงาน และนโยบายต่างๆ ผ่านเแพลตฟอร์มต่างๆ (รวมถึงไลน์) แต่ห้ามมิให้พรรคหรือผู้สมัครแสดงข้อความให้ลงคะแนนกับพรรค หรือผู้สมัครคนใดคนหนึ่งใน SNS หรือโพสต์ แชร์ รีทวิตวีดีโอหรือภาพที่มีข้อความ หรือเสียงที่บอกให้ลงคะแนนกับพรรค หรือผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง แต่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ (ภาพที่ *3) เมื่อเทียบกับการหาเสียงของประเทศไทย ในเคสนี้สำหรับพรรคหรือผู้สมัคร ผมเห็นทุกพรรคทำเหมือนกันหมด

ต้องเข้าใจก่อนว่าในบัตรเลือกตั้งของญี่ปุ่นใช้ระบบการเขียนชื่อนามสกุลของผู้สมัครที่ต้องการเลือก (ภาพที่ *4) โดยอนุโลมให้เขียนในเป็นอักษรฮิราคานะ หรือคันจิก็ได้ แต่จะไม่มีการกากบาทหมายเลขแทนพรรค หรือผู้สมัครใดๆ ทั้งสิ้น เพราะญี่ปุ่นถือว่า คนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องมีความรู้ที่ควรจะรู้ อย่างชื่อนามสกุลผู้แทนที่ต้องการเลือก ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาอำนวยความสะดวกแค่เพียงกากบาท หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อลดความยากในการชี้นำเลือกพรรค หรือผู้สมัคร แต่ก็ยังมีปัญหาที่ควรแก้ไขคือ เพจที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ทันทีว่า ผู้โพสต์แชร์ข้อความเป็นคนของพรรค คนของผู้สมัครหรือไม่ (หรือที่พรรคสีส้มเรียกว่าหัวคะแนนธรรมชาติ) ถือว่าทำได้หรือไม่? และตรวจสอบอย่างไร? สมาชิกพรรคถือเป็นคนของพรรคหรือไม่? และญาติของสมาชิกพรรคถือว่าเป็นบุคคลทั่วไปหรือเปล่า? จะเห็นว่ายังมีความไม่ชัดเจนเหลืออยู่

3. กฎหมายเลือกตั้งญี่ปุ่น ห้ามหาเสียงแบบเดินถึงหน้าบ้าน เมื่อเทียบกับประเทศไทย มีการเดินถึงบ้านกันทุกพรรค (ภาพที่ *5)

4. กฎหมายเลือกตั้งญี่ปุ่น กำหนดขนาดโปสเตอร์หาเสียง 42x30 ซม. และขนาด 42x10 (สามารถเอามาต่อกันได้มากสุด 42x40) ต้องติดในพื้นที่ที่กำหนดให้เท่านั้น และโปสเตอร์ที่มีชื่อผู้สมัครต้องมีสัญลักษณ์ทุกแผ่นอนุญาตจากคณะกรรมการเลือกตั้ง เมื่อเทียบกับประเทศไทย กำหนดแค่ห้ามเกินขนาดที่กำหนดไว้เท่านั้น และยังติดตั้งได้ทุกที่ที่อนุญาต จนทำให้ช่วงเลือกตั้งของประเทศไทยรกเต็มฟุตบาทไปหมด (ภาพที่ *6 และ *7)

5. กฎหมายเลือกตั้งญี่ปุ่น ห้ามผู้ที่ยังมีอายุไม่ถึง 18 ปีเข้าร่วมกิจกรรมหาเสียงโดยเด็ดขาด เมื่อเทียบกับประเทศไทย เท่าที่เห็นในข่าว การเลือกตั้งรอบนี้มีอยู่พรรคเดียวที่ทำ (ภาพที่ *8)

อันที่จริงแล้วยังมีอีกหลายข้อที่น่าสนใจ บางข้อก็อาจจะมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นแล้ว ข้อไหนที่ดูแล้วดีก็ควรนำมาปรับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยัดเหยียดแบบที่ผมโดน (ภาพที่ *1) มันรู้สึกเหมือนตัวเองโดนละเมิดสิทธิยังไงก็ไม่รู้ ไม่ได้ต้องการเห็นแต่โดนบังคับให้เห็น ปรับออกก็เห็นตัวอื่นที่คล้ายกัน

แล้วยังมีเรื่องของบัตรเลือกตั้งที่อยากได้แบบเขียนชื่อ และโปสเตอร์หาเสียงที่ควรกำหนดขนาดให้มันเล็กลงอีก จำกัดพื้นที่ติดแบบญี่ปุ่นก็ดี จัดเป็นสถานทีรวมกันเลย (ภาพที่ *9) และเรื่องของจำนวนด้วย เพื่อความเท่าเทียมระหว่างพรรคใหญ่และพรรคเล็กๆ

ปล. 1 สังเกตไหมว่าภาพที่ *1 ไม่ซ้ำเลยสักเพจ แต่บางเพจใช้รูปซ้ำกัน เนื้อหาเหมือนกัน สลับนิดหน่อย

ปล. 2 ก่อนหน้าเลือกตั้งซ่อม จะเป็นโฆษณาอีกแบบหนึ่งอย่างเช่น เพจของสส.ไม่ก็สมาชิกพรรคสีส้ม เริ่มโฆษณาตัวเองจากโพสภาพการทำงานหรือกิจกรรมของตัวเองต่างๆ (ภาพที่ *10) สังเกตว่าทุกภาพเป็นโฆษณาจ่ายเงินทั้งสิ้น