‘สุทิน’ พบ ‘สุกำพล’ ขอคำแนะนำคุมกลาโหม เผย!! กองทัพพร้อมปรับลดกำลังพล แต่ต้องไม่กระทบต่อศักยภาพ

(4 ก.ย. 66) นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าพบ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 ของนายทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านสุวรรณทัต จังหวัดปทุมธานี เพื่อพูดคุยขอคำแนะนำในการทำงานร่วมกับกองทัพ โดยนายสุทินได้นำพวงมาลัยดอกมะลิมามอบให้ พล.อ.อ.สุกำพล ก่อนเข้าไปภายในบ้าน

ระหว่างการหารือ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่พลเรือนแท้ ๆ มาคุมกระทรวงกลาโหม นายสุทินได้ตอบว่า มาทำงานตรงนี้เลือกไม่ได้ จึงอยากจะขอคำแนะนำ เพราะพลเรือนแม้จะศึกษามามาก แต่ก็ไม่สู้คนที่ทำมาก่อน โดยเฉพาะความเป็นรัฐมนตรี จึงต้องมาขอคำแนะนำ ซึ่งพล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่มาขอคำแนะนำ เพราะบางคนอยากทำก็ทำเลย ทำไปแล้วผิดก็ไปเลย

ภายหลังการพูดคุย นายสุทินกล่าวกับสื่อมวลชนว่า วันนี้มาหาอดีตรัฐมนตรีได้ทั้งความรู้และสิ่งที่สำคัญคือกำลังใจ ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพลได้ให้ความเชื่อมั่นและคำแนะนำ เรื่องการลำดับความสำคัญในการบริหาร การวางตัวต่อกองทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ให้รายละเอียดที่เป็นประโยชน์มาก

ส่วนกำหนดการเข้ากระทรวงกลาโหม นายสุทินกล่าวว่ายังไม่ได้กำหนด ต้องไปหารือกับที่ประชุมของพรรคเพื่อไทยก่อน และอาจจะต้องรอความชัดเจนหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คาดว่าจะเป็นช่วงหลังวันที่ 11 ก.ย.

นายสุทินกล่าวอีกว่า การเดินสายพบผู้นำเหล่าทัพก่อนหน้านี้เป็นไปด้วยดี ทั้งการพูดคุยแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผย ได้เห็นสัญญาณจากกองทัพเองว่า กองทัพเปิดใจกว้างที่จะรับพลเรือน ซึ่งถ้าเราเข้าใจเขาและมีความชัดเจนถึงแนวปฏิบัติต่าง ๆ และเขาเชื่อว่าเราทำเพื่อชาติจริง ๆ กองทัพก็จะไม่มีปัญหา

นายสุทินกล่าวว่า การทำงานในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตนเองไม่ได้รู้สึกลำบากใจ แต่ก็ไม่ได้ประมาท หมายความว่าจะเข้าไปบริหารแบบไม่เตรียมตัวใด ๆ จะวางใจมากเกินไป คิดว่าเราชำนาญรู้ดีแล้วไม่ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องการรัฐประหารเหมือนที่พรรคเพื่อไทยเคยโดนมาแล้ว เรื่องอย่างนั้นไม่ได้เป็นประเด็นที่ต้องมาคิด

นายสุทินเปิดเผยอีกว่า เรื่องการปรับการเกณฑ์ทหารให้เป็นระบบสมัครใจและงบประมาณกองทัพเกี่ยวกับเรือดำน้ำนั้น ได้มีการพูดคุยกับผู้นำเหล่าทัพไปแล้ววานนี้ (3 ก.ย.) แต่ไม่ได้ลงรายละเอียด ซึ่งเรื่องการเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจทางกองทัพคิดมานานและก็ทำมาอย่างเป็นขั้นตอน เพียงแต่ว่าถ้าจะทำให้รวดเร็วให้ทันกับที่สังคมต้องการ รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนกองทัพ อย่างไรก็ดี การเกณฑ์ทหารระบบสมัครใจสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่เดือนนี้ เมื่อได้พลทหารระบบสมัครใจเต็มจำนวน เดือนเมษายนก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการเกณฑ์ทหารอีก

ส่วนการปรับลดกำลังพล ทางกองทัพเองมีแผนในการดำเนินการอยู่ และมีเป้าหมายว่าปี 2570 ขนาดกองทัพจะเปลี่ยนไป ตนในฐานะรัฐมนตรีก็ต้องให้การสนับสนุนกองทัพไปสู่เป้าหมายนั้น ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงที่สังคมต้องยอมรับ คือประเทศต้องมีทหาร และกองทัพมีการประเมินจำนวนกำลังพลที่เหมาะสมไว้ ซึ่งยอดกำลังพลตอนนี้มากไป ทางกองทัพก็ยินดีจะปรับลด เพียงแต่จะต้องไม่กระทบกับศักยภาพของกองทัพ

นายสุทินกล่าวอีกว่า สำหรับการจะส่งเสริมให้คนมาสมัครเป็นพลทหารจำนวนมากๆ นั้น ต้องสร้างแรงจูงใจ ซึ่งในความคิดของตนจะต้องทำ 2 อย่าง คือ 1.ปรับสวัสดิการให้ทหาร 2.ปรับทัศนคติเชิงลบของสังคมต่อทหารเกณฑ์ เช่น ผู้ปกครองของพลทหารมักมีภาพจำต่อการฝึกของกองทัพว่ามีความโหดร้ายทารุณ ส่งผลให้พลทหารบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แม้จะมีกรณีตัวอย่างไม่มาก แต่เรื่องเหล่านี้มักจะเป็นข่าว หรือเงินเดือนที่พลทหารได้รับจริงถูกหักออก ไม่เป็นไปตามที่เสนอไว้ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับความเชื่อ และทำให้ระบบโปร่งใสยิ่งขึ้น

นายสุทินกล่าวได้กล่าวถึงเรื่องการพิจารณาเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำที่สั่งซื้อจากจีนว่า มีทางออกที่ดีอยู่ เพียงแต่ต้องรอความชัดเจนหลังแถลงการนโยบาย คำว่าดีก็คือ กองทัพต้องพอใจ และประชาชนและสังคมรับได้ มีเหตุผลอธิบายได้ และต้องพูดคุยกับกองทัพให้ละเอียด ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ก่อน โดยต้องคุยกับ ผบ.ทร.และคณะ ต้องฟังคนที่เขาจะใช้ด้วย ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะยกเลิกเพื่อเปลี่ยนไปใช้ของชาติอื่นหรือจะเดินหน้า

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หากมีโอกาสจะไปพูดคุยกับ 2 ป. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) หรือไม่ นายสุทินตอบว่า หากมีโอกาสก็อยากเข้าพบ เพราะไม่ได้ถือตนว่าเป็นฝ่ายใด

ทั้งนี้ ในลำดับถัดไป นายสุทินมีกำหนดการเข้าพบ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และอดีต รมว.กลาโหม พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ สว. และ อดีต รอง ผบ.ทบ. ส่วนสายวิชาการ จะมีการหารือกับ นายสุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์อาวุโส และ นายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง