‘หมอชลน่าน’ ลาออก ‘หัวหน้าพรรคเพื่อไทย’ เซ่นปมจับมือพรรคลุงจัดตั้งรัฐบาล

(30 ส.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการประชุมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน และหัวหน้าพรรค พท. จะลาออกจากกก.บห. จากนั้นเวลา 16.20 น. นพ.ชลน่าน พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค ร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุม

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จากการประชุมกก.บห.ครั้งนี้ ถือว่าเป็นจุดสุดท้าย ที่ตนเคยระบุไว้ว่า ถ้าตนทำหน้าที่หัวหน้า ในฐานะประธานกก.บห. พิจารณารับผิดชอบในการตั้งรัฐบาลของพรรค พท. เสร็จเรียบร้อย ตนจะมาประกาศกับสื่อมวลชนผ่านไปยังประชาชนว่า เรื่องที่ตนจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ตามที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ในเวลาดีเบตหาเสียงเลือกตั้ง สส. วันนี้ภารกิจก็เสร็จเรียบร้อย

“ผมนพ.ชลน่าน ขอทำตามที่เคยประกาศไว้ เป็นสัจจะที่ผมเคยลั่นวาจาไว้ว่า ถ้าพรรคเพื่อไทย ถ้ากก.บห. มีมติจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีมติจับมือดีลกับลุงป้อม ผมในฐานะหัวหน้าพรรคพร้อมที่จะลาออก และขออนุญาตประกาศ ณ ตรงนี้ว่า ขอลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อไทยตามที่ผมได้ประกาศเอาไว้ ณ บัดนี้” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า เหตุผลความจำเป็นที่ตนเลือกมาประกาศในวันนี้ เพราะเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้อยู่ในสถานการณ์พิเศษ ที่พรรค พท. มีความจำเป็นจาก กก.บห. และสมาชิกพรรคที่ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำรายชื่อทูลเกล้าฯ ก็ถือว่าภารกิจสำเร็จเรียบร้อย

ขณะที่นายประเสริฐ กล่าวว่า ในที่ประชุมกก.บห.นั้น นพ.ชลน่าน ได้กล่าวขอบคุณกก.บห.ทุกท่าน และชี้แจงประชาชนตามข้อบังคับเมื่อหัวหน้าพรรคลาออก กก.บห.ที่เหลือทั้งหมด ต้องหมดสภาพกก.บห. แต่ กก.บห. อื่น ๆ นอกจากหัวหน้าพรรคยังรักษาการอยู่ ซึ่ง ที่ประชุม กก.บห. วันนี้มีมติเลือกนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรค ขึ้นมาเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคแทน ส่วนการสรรหา กก.บห.ชุดใหม่นั้น จะต้องทำในระยะเวลา 60 วัน

เมื่อถามว่า หากมีสมาชิกเสนอชื่อให้กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคจะรับหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตนต้องนำเรื่องนี้ไปพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อน ยืนยันว่าการทำหน้าที่หัวหน้าที่ผ่านมา ตนทำงานด้วยความสุข ความภาคภูมิใจ ภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากพรรคในวันที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 โดยทำให้พรรคเป็นสถาบันการเมืองเพื่อประชาชน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากสมาชิกและบุคลากรภายในพรรคเป็นอย่างดี

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ช่วงวิกฤตรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพวกเราทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง แต่สิ่งที่เราได้รับคือบทเรียนอันยิ่งใหญ่มาก หลังเลือกตั้งยิ่งทำให้ผมรู้สึกเองว่าผูกพัน มีความรัก มีความยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค และเห็นผู้คนของพรรคทุ่มเทเสียสละเพื่อประชาชนและประเทศชาติ ฉะนั้น คำกล่าวอ้างวาทกรรม ข้อโจมตีหรือข้อที่เห็นแย้งต่าง ๆ เราล้วนเห็นว่าเป็นมิติหนึ่งทางการเมือง แต่ความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเราคือทำเพื่อประชาชน

“ถามว่ารู้ผมรู้สึกอะไร ผมไม่มีความรู้สึกที่จะเสียใจ โกรธเคือง หรืออะไรต่าง ๆ ผมไม่มีครับ เพราะผมถือว่าเป็นหน้าที่ ผมพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เมื่อทุกอย่างมีข้อจำกัด ทุกอย่างมีสิ่งต้องรับและผูกมัดไว้มันก็ต้องปฏิบัติตามแบบนั้น ผมไม่ได้หนีไปไหนยังอยู่กับพรรคเพื่อไทย และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามว่า การลาออกจากหัวหน้าพรรค แต่ยังคงเป็น สส. และว่าที่รัฐมนตรี ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า “มันไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่ผมประกาศเอาไว้ ผมพูดไว้เพียงแต่จะลาออกจากหัวหน้าพรรค”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าวเสร็จสิ้น ทั้ง 3 ท่านได้ต่างไหว้ พร้อมทั้งลุกขึ้นมาจับมือให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า อยากฝากถึงประชาชนที่หมดศรัทธากับตัวเองหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องศรัทธาและความเชื่อไปสิทธิส่วนบุคคล เป็นเสรีภาพบนพื้นฐานที่เขาได้รับ ซึ่งหวังว่าประชาชนที่มีความรู้สึกแม้จะแตกต่างกัน หรือจะมีความเชื่อหรือศรัทธาหรือไม่อย่างไรหากได้พิจารณาข้อมูล ข้อเท็จจริง เชื่อว่าพี่น้องประชาชนจะไม่ต้องมาบอกว่าศรัทธาหรือไม่ศรัทธา แต่เราพร้อมที่จะหันหน้าเข้าหากัน และมองจุดสำคัญของแต่ละคนที่เป็นประโยชน์ของบ้านเมือง ตรงนั้นน่าจะเป็นมุมที่ดีที่สุด

“เราไม่สามารถตอบสนองความพึงพอใจของทุกคนได้ มีเพียงระดับหนึ่งที่เราสามารถตอบสนองได้ และเป็นเรื่องธรรมดา หน้าที่ของเราคือการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนของประชาชน สมาชิกพรรคการเมือง อยู่ในมิติทางการเมือง ก็แสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องให้เหมาะสมที่สุด ภายใต้สิทธิเสรีภาพของกฎหมาย” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามว่า จะเป็นเหมือนพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ที่ลาออกจากหัวหน้าพรรค แล้วมีการเสนอชื่อเข้ามาใหม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขอให้ไปดูกระบวนการ เพราะระหว่างพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองกับบุคคลต้องแยกกัน ตนแสดงความรับผิดชอบในฐานะบุคคล ไม่ได้เอาพรรคมาเกี่ยวข้อง เกี่ยวเพียงเล็กน้อยที่เป็นเหตุเป็นผลเท่านั้น