'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! หลังสหรัฐฯ ถูกลดระดับความน่าเชื่อถือเรื่อง Governance สัญญาณไม่ดีต่อระบบการเงินระหว่างประเทศที่อิงค่า USD เป็นเสาหลัก

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นการเงินระหว่างประเทศและบทบาทนำของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ระบบการเงินระหว่างประเทศมีวิวัฒนาการมายาวนาน แต่เริ่มที่จะมีกฎเกณฑ์ชัดเจนเมื่ออังกฤษจัดตั้งมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) ขึ้นราวปี 1815 ภายใต้ Gold Standard อัตราแลกเปลี่ยนและปริมาณเงินของทุกประเทศอิงอยู่กับปริมาณทองคำของประเทศนั้นแบบคงที่ หากดุลการค้าดุลการชำระเงินเกินดุล/ขาดดุล จะต้องมีการเคลื่อนย้ายทองคำระหว่างประเทศเพื่อปรับตัวเข้าสู่สมดุล ทองคำจึงทำหน้าที่เป็น Reserve Currency 

ระบบ Bretton Woods ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กำหนดให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) ทำหน้าที่เป็น Reserve Currency แทนทองคำ แต่ก็ยังอิงทองคำเป็นฐานของค่าเงิน USD อยู่ จนกระทั่งประธานาธิบดี Nixon ประกาศยกเลิก Gold Convertibility ในปี 1971 นับแต่นั้นเป็นต้นมาระบบการเงินโลกได้เปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนเสรี (Flexible or Floating Exchange Rates) โดย USD ทำหน้าที่เป็นเงิน Reserve สกุลหลัก และอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของธนาคารกลาง ระบบดังกล่าวจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อโลกมีความเชื่อมั่นในเงิน USD

การลดระดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Downgrade) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย Fitch ซึ่งเป็นหนึ่งใน Big Three ของ Credit Rating Agencies โดยอ้างเหตุผลว่าเกิดความสึกกร่อนใน Governance ของรัฐบาลสหรัฐฯ ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักต่อระบบการเงินระหว่างประเทศที่อิงค่าเงิน USD เป็นเสาหลัก และย่อมส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ และตลาดการเงินทั่วโลก และอาจเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นและการปรับเปลี่ยนระบบการเงินระหว่างประเทศ

พูดถึงเรื่อง Governance ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ Rating Downgrade นั้น ก็อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ หากยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้หรือจัดตั้งได้แต่ไม่มีความมั่นคง 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง ก็อาจเป็นเหตุของการถูก Rating Downgrade ด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ ในทางกลับกันหากเราได้รัฐบาลใหม่ที่มีความมั่นคง ประเทศไทยก็อาจใช้เป็นโอกาสในการเชิญ Credit Rating Agencies เข้ามาประเมินเครดิตของประเทศใหม่ เพราะอยู่ในวิสัยที่ไทยจะได้รับการพิจารณา Upgrade ได้ด้วยเช่นกัน เมื่อคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังเข้มแข็งอยู่