‘ป่าภูเขียว-อช.น้ำหนาว-ภูกระดึง’ ได้ขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน ภาครัฐฯ พร้อมเดินหน้าคุ้มครอง-รักษาสภาพธรรมชาติอย่างยั่งยืน

(5 ก.ค. 66) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 34 (34th Meeting of the ASEAN Senior Officials on the Environment : 34th ASOEN) วันที่ 1 สิงหาคม 2566 ได้พิจารณารับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน (ASEAN Heritage Park : AHP) ของประเทศไทย จำนวน 2 แห่ง ได้แก่

- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 56 
- อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 57

ได้พิจารณารับรองให้โรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านหัวหิน เข้ารับรางวัลโรงเรียนที่มีกระบวนการจัดการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมดีเด่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ กลุ่ม ASEAN ‘ASEAN Eco-Schools’ ระดับมัธยมศึกษาและระดับประถมศึกษา รวมทั้งรับรองให้นายมนตรี เจือไธสง เข้ารับรางวัลนักวิจัย / ครูผู้สอนสิ่งแวดล้อมศึกษาดีเด่น ระดับชาติและระดับนานาชาติ กลุ่ม ASEAN ‘ASEAN Youth Eco-Champions Award’

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกอาเซียน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลันและอ่าวพังงา กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และอุทยานแห่งชาติเขาสก

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการนำเสนอ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 หลายภาคส่วนได้ร่วมกันเตรียมเอกสารนำเสนอข้อมูลพื้นที่ ตลอดจนเร่งระดมสรรพกำลังเพื่อให้สามารถผ่านเกณฑ์การประเมินได้ ซึ่งไทยมีความโดดเด่นหลายประการ อาทิ การอนุรักษ์ธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ มีพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น

“โลกมีการตื่นตัวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาแนวความคิดของคนไทยอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ การสนับสนุนให้พื้นที่ในประเทศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นพื้นที่คุ้มครอง รักษาสภาพธรรมชาติ ร่วมกับให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งอุทยานแห่งชาติจะช่วยรักษาสภาวะสมดุลธรรมชาติ พร้อมกันนี้ รัฐบาลสนับสนุนให้ระบบการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างการตระหนักรู้ตั้งแต่เยาวชน ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะส่งผลต่อการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต” นางสาวรัชดาฯ กล่าว