25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเปิด สถานีรถไฟกรุงเทพ

วันนี้ เมื่อ 107 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด สถานีรถไฟกรุงเทพ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ‘สถานีรถไฟหัวลำโพง’

25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด สถานีรถไฟกรุงเทพ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า สถานีรถไฟหัวลำโพง ตามชื่อคลองและฝูงวัววิ่งกันอย่างคึกคะนองอยู่กลางทุ่งจึงเรียกว่า ‘ทุ่งวัวลำพอง’ และได้เพี้ยนเสียงมาเป็น ‘หัวลำโพง’ ในภายหลัง บ้างก็สันนิษฐานว่าเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งคือ ‘ต้นลำโพง’ ซึ่งเคยมีมากในบริเวณนี้ 

สถานีรถไฟหัวลำโพงเริ่มก่อสร้างในปี 2453 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 สถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะเรอเนซองซ์ มีความคล้ายคลึงกับสถานีรถไฟฟรังค์ฟูร์ท ที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อ มาริโอ ตามานโญ มีพื้นที่ประมาณ 120 ไร่ 

ด้านหน้ามี ‘อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร’  ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าสถานีหัวลำโพงมีสวนหย่อมและน้ำพุสำหรับประชาชน โดยข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์จัดสร้างอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯ อุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระพุทธเจ้าหลวง อนุสาวรีย์ที่ว่านี้เป็นรูปช้างสามเศียร มีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แกะสลักเป็นภาพนูนสูงประดิษฐานอยู่ด้านบน

ภายในประดับด้วยหินอ่อน เพดานมีการสลักลายนูนต่าง ๆ จุดเด่นอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังซึ่งประดับไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคาร โดยมีนาฬิกาขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เซนติเมตรซึ่งสั่งทำเป็นพิเศษ ติดตั้งอยู่อย่างกลมกลืน นับเป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุด เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย รองรับรถไฟประมาณ 200 ขบวนต่อวัน จากรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ ก่อนจะรถไฟทางไกล สายเหนือ อีสาน และใต้ จะเปลี่ยนไปให้บริการที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา