‘จีน’ สั่งชาวแบงค์ งดใช้แบรนด์เนม-อวดไลฟ์สไตล์หรูหรา หวังลดความเหลื่อมล้ำ หลังประเทศเผชิญปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง

ถึงคิว ‘ชาวแบงค์’ และสถาบันการเงินต่างๆ แล้ว ที่จะต้องโดนใบเหลืองจากรัฐบาลจีน ในการสอดส่อง ไลฟ์สไตล์หรูหรา ใช้ของแบรนด์เนม ราคาแพง ว่าจะเป็นการสร้างค่านิยมที่ไม่ดีต่อสังคมจีน ที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง และการว่างงานของเด็กจบใหม่ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาคธุรกิจการเงินของจีน นับเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีมูลค่าสูงกว่า 57 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเส้นเลือดสำคัญของเศรษฐกิจจีน จึงไม่แปลกใจว่า กลุ่มคนทำงาน หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาธุรกิจการเงิน จะเป็นกลุ่มที่ได้ค่าจ้างตอบแทนสูงมากในจีน

และด้วยรายได้ที่ดีกว่าอาชีพอื่นๆ และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูมั่งคั่ง และมั่นคง จึงนำไปสู่ไลฟ์สไตล์ที่ดูหรูหรา การเลือกใช้ของราคาแพง เพื่อให้ดูดีมีระดับ สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจของชาวจีนส่วนใหญ่ที่ยังต้องทำงานหนัก รายได้เดือนชนเดือน หรือยังหางานไม่ได้ ทำให้กลุ่มคนทำงานในแวดวงการเงิน ถูกมองเป็นชนชั้นสูงอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมจีน

ด้วยเหตุนี้ องค์กรเฝ้าระวังการฉ้อโกงของรัฐบาลจีน ได้ออกมาประกาศว่าจะขจัดแนวคิดของ ‘ชนชั้นสูงทางการเงิน’ ตามค่านิยมตามแบบตะวันตก ที่มุ่งแสวงหา ‘รสนิยมระดับไฮเอนด์’ มากเกินไป

จึงมีคำสั่งภายในองค์กรการเงิน และธนาคารตั้งแต่ขนาดใหญ่ จนถึงขนาดกลาง ไม่ให้บุคคลากรในทุกระดับ อวดโชว์ไลฟ์สไตล์โก้หรูจนเกินงาม ด้วยการโพสต์ภาพมื้ออาหารหรูๆ กระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องประดับราคาแพงของตนลงในโซเชียล เพื่อหลีกเลี่ยงกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม
.
พนักงานธนาคารขนาดกลางแห่งหนึ่งของจีนเล่าว่า มีคำสั่งจากหน่วยงานให้เจ้าหน้าที่ทุกคนงดใช้กระเป๋า หรือสิ่งของแบรนด์เนมในที่ทำงาน รวมถึงการเข้าพักในโรงแรม 5 ดาว เมื่อต้องเดินทางไปทำงานต่างเมือง

นอกจากข้อห้ามการใช้ข้าวของหรูหราแล้ว เบี้ยเลี้ยงที่ไม่จำเป็น และโบนัสอาจต้องถูกตัดด้วย

แหล่งข่าวภายในเปิดเผยว่า ธนาคารขนาดใหญ่อย่าง Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) และ China Construction Bank Corp (CCB) มีแผนที่จะลดเบี้ยเลี้ยงพิเศษสำหรับพนักงานภายในปีนี้ หลายสถาบันการเงินอาจต้องปรับลดโบนัสลงตั้งแต่ 30% - 50%

การปรับลดเบี้ยเลี้ยง โบนัส หรือการออกข้อบังคับให้คนทำงานในองค์กรการเงินใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะ เป็นผลพวงจากนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน ของรัฐบาลจีนที่เล็งเป้ามาที่ภาคธุรกิจการเงิน และมีการแต่งตั้งองค์กรเฝ้าระวังการฉ้อฉลในภาคการเงินโดยเฉพาะในยุคของ ‘สี จิ้นผิง’ เทอม 3 เพื่อตอกย้ำถึงบทบาทสำคัญของรัฐบาลจีนทั้งแนวคิด และทางการเมือง

แต่อีกนัยยะหนึ่ง ที่สถาบันการเงินต่างๆ จำเป็นต้องตักเตือนพนักงานของตนเรื่องการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย หรือการใช้สื่อโซเชียลโพสต์รูปอวดการใช้ชีวิตที่ทำให้หลายคนอิจฉา อาจทำเพื่อป้องกันไม่ให้สะดุดตาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาลจีน ที่กำลังตรวจสอบหนักอยู่ในขณะนี้

ดังเช่นกรณีการหายตัวไปของนายเป่า ฟาน นักลงทุน และผู้ก่อตั้งบริษัท China Renaissance เมื่อไม่นานมานี้ ที่ต่อมาทราบแต่เพียงว่า กำลังเก็บตัวเพื่อให้ความร่วมมือกับทีมสอบสวนคดีทุจริตของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ ยังมีมหาเศรษฐีในธุรกิจการเงินจีนอีกจำนวนมากที่จำเป็นต้องหายหน้าไปจากสื่อ เมื่อต้องพัวพันกับคดีทุจริต หรือการตรวจสอบจากรัฐบาลจีน อาทิ กั่ว กวงฉาง ผู้ก่อตั้งบริษัท Fosun International ‘เสี่ยว เจี้ยนหัว’ นักลงทุนสัญชาติจีน - แคนาดา เจ้าของบริษัท Tomorrow Holding และเป็นที่รู้จักกว้างขวางของคนวงในรัฐบาลจีน แต่สุดท้ายถูกตัดสินจำคุก 13 ปี ด้วยข้อหาฉ้อโกง และ คอร์รัปชัน รวมถึง แจ็ก หม่า เจ้าของธุรกิจ Alibaba ที่ต้องหายหน้าจากสื่อจีนนานเกือบ 2 ปี ในช่วงที่จีนเริ่มตรวจสอบธุรกิจ Fin Tech

ดังนั้น นโยบายการลดค่านิยมหรูหรา ฟุ่มเฟือยในกลุ่มคนทำงานในองค์กรธนาคาร และ สถาบันการเงิน อาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องการลดช่องวางทางสังคมหรือปัญหาการว่างงานในจีนแต่อย่างใด แต่ช่วยในด้านการลดกระแสสังคมที่มองว่าเป็นกลุ่มทุนชั้นสูง ที่มักถูกครหาว่าสร้างแนวคิดในการใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ หรือไม่ก็เป็นการป้องกันตัวไม่ให้สะดุดตาจากองค์กรตรวจสอบทุจริตของภาครัฐ ที่มักจบลงด้วยคดีความที่ยุงยากตามมานั่นเอง

เรื่อง : ยีนส์​ อรุณรัตน์

อ้างอิง : Channel News Asia / BBC