‘เกาเข่า’ การสอบวัดผลที่ชี้ชะตานักเรียน ม.ปลายจีนทั้งประเทศ เด็กนักเรียนเกือบ 13 ล้านคน พากันตบเท้าเข้าสนามสอบวันนี้

(7 มิ.ย. 66) เริ่มฤดูการสอบ ‘เกาเข่า’ (高考) หรือ การสอบวัดผลเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของจีนแล้วในวันนี้ ซึ่งเป็นการสอบใหญ่ระดับประเทศ เพื่อชี้ชะตาของเด็กมัธยมปลายของจีนที่จะต้องแข่งขัน เพื่อเข้าเรียนต่อในสถาบันการศึกษาชั้นนำในฝันได้หรือไม่

โดยในปีนี้ การสอบจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 มิถุนายน 2566 หรืออาจมีบางพื้นที่ห่างไกลที่ต้องใช้เวลานานกว่านั้นบ้าง ด้านกระทรวงศึกษาธิการจีนรายงานตัวเลขจำนวนนักเรียนที่เข้าสอบเกาเข่าในปีนี้สูงถึง 12.9 ล้านคน ซึ่งมากกว่าตัวเลขของปีที่แล้ว (2022) ถึง 9.8 แสนคน

บรรยากาศในวันสอบเป็นไปด้วยความคึกคักแต่เช้ามืด มีทั้งนักเรียน และผู้ปกครอง เดินทางมายังสนามสอบกันอย่างคับคั่ง แม้บุตรหลานของตนจะเดินเข้าห้องสอบไปแล้ว ก็ยังยืนรอส่งกำลังใจให้อยู่ด้านนอกอาคาร เพื่อส่งกำลังใจให้ ด้วยความหวังว่าการเตรียมตัวอย่างหนักมาตลอดทั้งปี จะสัมฤทธิ์ผลในการสอบที่ใช้เวลาไม่กี่วัน

โดยทั่วไปแล้ว การสอบเกาเข่า จะคล้ายกับการสอบ Entrance บ้านเราในสมัยก่อน ที่ตัดสินกันในสนามเดียวในการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย โดยการสอบเกาเข่า จะประกอบด้วยวิชาบังคับ ได้แก่ ภาษาจีน คณิตศาสตร์ และ ภาษาต่างประเทศ (มักเป็นภาษาอังกฤษ) กับ วิชาเฉพาะทาง สำหรับนักเรียนสายวิทย์ ที่จะมีสอบวิชากลุ่มวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ส่วนนักเรียนสายศิลป์ จะแยกสอบวิชาประวัติศาสตร์ สังคมการเมือง ภูมิศาสตร์ และอื่นๆ

แต่ละสาย จะมีคะแนนรวมทั้งหมด 750 คะแนน ซึ่งหากนักเรียนที่คาดหวังที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของจีน หรือระดับสถาบันกลุ่ม C9 League ควรทำคะแนนให้ได้อย่างน้อย 600 คะแนนขึ้นไป ซึ่งถึงว่ายากมาก

จากข้อมูลจากการสอบในมณฑลกวางต่งปี 2022 ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้เข้าสอบเพียง 3% เท่านั้นที่สามารถทำคะแนนได้เกิน 600 ในขณะที่กลุ่มสถาบันระดับท็อปของจีน เปิดรับนักเรียนใหม่ได้เพียงแค่ 50,000 ที่นั่งต่อปีเท่านั้น คิดเป็นเพียง 0.4% ของจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด

และด้วยผลพวงของการล็อคดาวน์หลายเมืองในช่วงการระบาด Covid-19 ทำให้ตัวเลขผู้เข้าสอบเกาเข่าในปีนี้ เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่จีนประกาศยกเลิกมาตรการล็อคดาวน์ และ เปิดประเทศ อันเนื่องจากข้อจำกัดในการเรียนออนไลน์ จึงมีนักเรียนจำนวนมากเรียนไม่ทัน ต้องรอข้ามปีเพื่อมาลงสนามสอบในปีนี้

ถึงแม้ว่าจะดูโหดร้ายสำหรับนักเรียนจีน ที่ต้องถูกกดดันอย่างหนักในการเรียนหนังสือ และกวดวิชา จนหลายคนยอมสละช่วงชีวิตวัยรุ่นในการคร่ำเคร่งเรียนหนังสือ โดยมีเป้าหมายเพื่อประสบความสำเร็จในการสอบเกาเข่า ที่อาจเป็นรากเหง้าประเพณีของระบบการศึกษาจีนที่มีมานานกว่า 2000 ปี แต่จีนก็เปิดกว้างสำหรับผู้ที่ต้องการสอบเกาเข่า สามารถเข้าสอบกี่ครั้งก็ได้ไม่จำกัดอายุ ตราบใดที่ยังมีไฟในการเรียนในมหาวิทยาลัย

อาทิ นาย เหลียง ฉี หนุ่มใหญ่วัย 55 ปีชาวเฉิงตู ที่มุ่งมั่นสอบเกาเข่า ติดต่อกันมาแล้วถึง 26 ครั้งเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเสฉวน หนึ่งในสถาบันชื่อดังของจีน ที่ต้องมีคะแนนรวมเกาเข่าสูงถึง 605 คะแนนในปีที่ผ่านมา โดยเขาตั้งเป้าว่าจะสอบให้ผ่านเพื่อให้ได้ตอบรับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเสฉวนสักครั้งในชีวิต แม้ว่าวันนี้ตัวเขาจะเป็นเจ้าของกิจการขายวัสดุก่อสร้างไปแล้วก็ตาม จนชาวเน็ตจีนตั้งฉายาให้เขาเป็น ‘ราชาแห่งเกาเข่า’ ที่ไม่เคยยอมแพ้แม้จะล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน

จะเห็นได้ว่า ชาวจีนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลานเสมอ และอยากให้มีโอกาสได้เรียนต่อในสถาบันที่ดีที่สุด และระดับสูงที่สุดเท่าที่ความสามารถจะไปถึง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง และรัฐบาลจีนควรต้องเร่งแก้ปัญหาคือ อัตราการว่างงานในจีนกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาจบใหม่

จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า อัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ในวัย 16 - 24 ปี ในเขตชานเมืองเพิ่มขึ้นถึง 20.4% จากจำนวนนักศึกษาจีนจบใหม่ต่อปี ราวๆ 11 ล้านคนต่อปี ทำให้นักศึกษาเป็นจำนวนมากต้องลงมาหางานทำในตำแหน่งที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาของตน ที่นำไปสู่ปัญหาวุฒิการศึกษาเฟ้อ หรืออาการหมดไฟในชีวิตของหนุ่มสาววัยทำงานของจีนในอนาคต

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
 


อ้างอิง : The Straits Times/ Glogal Times/ CNN