‘พงษ์ภานุ’ วอน ภาครัฐฯ-สมาคม เร่งแก้ไขวงการกีฬาไทย แนะ เพิ่มงบหนุนเพื่อต่อยอดอุตฯ กีฬา สร้างรายได้ให้ประเทศ

(4 มิ.ย. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้พูดคุยในประเด็น ‘โอกาสและแนวทางในการพัฒนากีฬาไทย’ ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 โดยได้ให้มุมมองถึงเหตุผลที่วงการกีฬาไทยยังไปไม่ถึงดวงดาว รวมถึง ‘มวยไทย’ มรดกทางกีฬาและศิลปะวัฒนธรรมของชาติไทย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกมุมโลก แต่เหตุใดยังเทียบชั้นเทควันโดของเกาหลี หรือยูโดของญี่ปุ่นได้ในระดับสากลไม่ได้? และเพราะเหตุใด? มวยไทยถึงยังไม่ได้รับบรรจุเข้าเป็นชนิดกีฬาในโอลิมปิก

เมื่อพูดถึงการพัฒนาทางด้านกีฬาของประเทศไทยนั้น มีเป้าหมายหลักๆ อยู่ 3-4 ประการด้วยกัน คือ พื้นฐาน มวลชน เหรียญทองเป็นเลิศ อาชีพ และอุตสาหกรรม ได้แก่

เป้าหมายที่ 1 คือ อยากให้เด็กไทย ได้รับการศึกษาทางด้านพละศึกษาที่ถูกต้อง ออกกำลังกายอย่างถูกต้อง รู้จักชนิดของกีฬา และเล่นกีฬาเป็น

เป้าหมายที่ 2 คือ อยากให้คนไทยหันมาใส่ใจการออกกำลังกายให้มากขึ้น

เป้าหมายที่ 3 คือ อยากให้นักกีฬาไทย ได้เหรียญทองเยอะๆ จากมหกรรมการแข่งขันกีฬาต่างๆ ระหว่างประเทศ สร้างทีมชาติ สร้างนักกีฬาให้มีความสามารถ

เป้าหมายที่ 4 คือ อาชีพ และอุตสาหกรรม อยากให้นักกีฬาไทยที่เป็นมืออาชีพ ได้รางวัลเยอะๆ ได้งบสนับสนุนเยอะๆ สามารถที่จะอยู่กับอาชีพนักกีฬา เป็นฐานการใช้ชีวิต

เป้าหมายที่ 5 คือ การพัฒนาศักยภาพวงการกีฬา จนสามารถต่อยอดไปถึงอุตสาหกรรมการกีฬาได้ในอนาคต

นายพงษ์ภาณุ ยังกล่าวต่อว่า วงการกีฬาไทยนับได้ว่าพัฒนาขึ้นระดับหนึ่ง หลังจากมีการปรับบทบาทและเพิ่มวงเงินกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติเมื่อปี 2558 โดยมีแหล่งรายได้จากภาษีบาปปีละกว่า 4,000 ล้านบาท ฟุตบอลไทยลีกกลายเป็นลีกฟุตบอลชั้นนำของเอเชีย นักกอล์ฟหญิงไทยขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก ธุรกิจการกีฬามีรายได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่พัฒนาอย่างไรก็ไปไม่ถึงดวงดาวเสียที คนไทยมีสัดส่วนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตำ่มากเมื่อเทียบกับมาตรฐานโลก ทีมนักกีฬาไทยมีผลงานได้เหรียญแค่ที่สองในซีเกมส์ที่พนมเปญ ถูกเวียดนามทิ้งห่างทั้งๆที่เวียดนามใช้เงินรัฐฯ อุดหนุนไม่ถึงครึ่ง

ประเด็นต่อมาคือ ‘มวยไทย’ ซึ่งถือเป็นมรดกชาติและศิลปะวัฒนธรรมไทย และเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกมุมโลก แต่ในระดับสากลยังเทียบชั้นไม่ได้กับเทควันโดของเกาหลี หรือยูโดของญี่ปุ่น วันนี้มวยไทยยังไม่ได้รับบรรจุเข้าเป็นชนิดกีฬาในโอลิมปิก ด้วยเหตุที่วงการมวยไทยขาดเอกภาพและไม่มีมาตรฐานกลาง ที่เป็นที่ยอมรับสภาพวงการกีฬาไทย วันนี้สะท้อนการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับรัฐบาลและสมาคมกีฬา เงินพัฒนากีฬาซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากและมาจากภาษีอากรของประชาชน มีการบริหารจัดการที่ด้อยธรรมาิบาล สมาคมกีฬาขาดความโปร่งใสและการตรวจสอบบัญชีที่เป็นที่ยอมรับ การใช้เงินจึงขาดประสิทธผลและผลงานนักกีฬาไทยไม่เป็นตามคาดหวังทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค

“คงต้องฝากรัฐบาลใหม่แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่กีฬาไทยจะตกต่ำและเงินภาษีจะสูญเสียไปกว่านี้ รัฐฯ ต้องเสริมสร้างการกำกับดูแลสมาคมกีฬาให้มี Corporate Governance ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนี้ การพัฒนากีฬาในเชิงพาณิชย์ตามแนวทางของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนากีฬาอย่างเต็มที่ โดยให้สิ่งจูงใจที่เหมาะสมและจัดโครงสร้างการร่วมลงทุนแบบ PPP ที่มีการกระจายความเสี่ยงและภาระค่าใช้จ่ายที่สมดุล” นายพงษ์ภาณุ กล่าวทิ้งท้าย