‘ไบเดน’ ยกเลิกทริปเอเชีย บินด่วนกลับสภา เหตุต้องแก้ปัญหาเพดานหนี้ก่อนไม่เหลือเงินจ่ายหนี้

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ จำเป็นต้องยกเลิกกำหนดการณ์เยือนประเทศในย่านเอเชียอย่างกะทันหัน เพราะต้องกลับไปแก้ปัญหาเพดานหนี้ที่กำลังวิกฤติในสหรัฐฯ

โดย โจ ไบเดน จะยังคงเข้าร่วมงานประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นตามกำหนดเดิมก่อน 3 วัน แล้วจะบินกลับสหรัฐฯ เลย ซึ่งจะต้องยกเลิกแผนการเยือนกลุ่มประเทศพันธมิตรในย่านเอเชียทั้งหมด รวมถึงงานประชุมกลุ่มประเทศสมาชิก QUAD ที่ออสเตรเลียด้วย 

นับเป็นภารกิจภายในประเทศที่สำคัญเร่งด่วนมาก เพราะหากแก้ไขวิกฤติเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ทัน จะมีผลร้ายแรงต่อเครดิต ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ เสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ และ ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำโลกในระยะยาว

แพทริค ครอนิน นักวิเคราะห์จากสถาบัน Hudson Institute Asia-Pacific มองว่า การที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องยกเลิกแผนการเยือนต่างประเทศกลางอากาศ ไม่ใช่เรื่องผิดวิสัย เพราะผู้นำสหรัฐฯ ต้องให้ความสำคัญกับการหาทางรอดในวิกฤติการเงินของประเทศก่อนเป็นอันดับแรก หากใครที่ติดตามการเมืองสหรัฐฯ มานานก็จะเข้าใจ แต่ต้องยอมรับว่าบทบาทของสหรัฐฯ ในเวทีต่างประเทศก็จะดูด้อยลงไป เมื่อต้องทิ้งนัดหมายสำคัญเพื่อไปจัดการเรื่องการเมืองในบ้านที่ไม่เรียบร้อย 

ผลจากการยกเลิกแผนเดินทางในเอเชีย ทำให้โจ ไบเดน พลาดโอกาสในการเยือนประเทศปาปัว นิวกินี ที่จะเป็นการเยือนครั้งแรกของผู้นำสหรัฐฯ ในตำแหน่ง ซึ่งไบเดนมีนัดหมายต้องไปเจรจาเพื่อเซ็นข้อตกลงด้านความมั่นคงร่วมกันถึง 2 ฉบับ และยังทำให้การประชุมประเทศพันธมิตร QUAD (สหรัฐ-ออสเตรเลีย-ญี่ปุ่น-อินเดีย) ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดด้วย  

แต่ในเมื่อวาระของชาติสำคัญเร่งด่วนกว่า โจ ไบเดน จำเป็นต้องกลับไปจัดช่วยทีมรัฐบาลผลักดันแผนการเพิ่มเพดานหนี้ให้เป็นผลสำเร็จให้ได้ ก่อนหายนะทางการเงินในรัฐบาลสหรัฐฯ จะเกิดขึ้น 

ข้อกำหนดเพดานหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีไว้เพื่อจำกัดวงเงินกู้ของรัฐบาลไม่ให้สูงกว่าค่าใช้จ่ายของภาครัฐอย่างเกินความจำเป็น แต่ทว่า รัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายที่มากกว่ารายได้จากภาษีมาโดยตลอด ที่ทำให้รัฐบาลกลางจำเป็นต้องเพิ่มข้อจำกัดเพดานหนี้เพื่อกู้เงินเสริมสภาพคล่องอยู่หลายครั้ง 

มีข้อมูลชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีการปรับขยายเพดานหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 90 ครั้ง และไม่เคยปรับลดลงเลย และทุกครั้งที่มีการหารือเกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้ มักนำมาสู่เกมการเมืองที่ไม่สามารถหาข้อตกลงได้ง่ายนัก เมื่อฝ่ายที่คัดค้านมองว่าการเพิ่มเพดานหนี้ เป็นการเพิ่มภาระหนี้สาธารณะให้กับประชาชนผู้เสียภาษี ซึ่งรัฐบาลน่าจะหาวิธีที่ดีกว่าด้วยการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลกลางลงเพื่อให้สมดุลย์กับรายได้จากภาษี 

แต่ฝ่ายที่สนับสนุนการเพิ่มเพดานหนี้ แย้งว่า การลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ หมายถึงการลดสวัสดิการสังคมของประชาชน และยังไม่ช่วยแก้ปัญหาการเงินได้อย่างทันท่วงที ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ

อย่างเช่นวิกฤติการเงินที่เคยเกิดขึ้นในปี 2011 สมัยของบารัค โอบามา บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลง จาก AAA เป็น AA+ เนื่องจากความมั่นใจในศักยภาพการชำระหนี้ของรัฐบาลกลางลดลง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สภาคองเกรซได้มีการพิจารณาเพิ่มเพดานหนี้แล้ว แต่ออกมาอย่างล่าช้า จึงเป็นเหตุให้สำนักจัดอันดับต่าง ๆ มองว่าเป็นความเสี่ยงในนโยบายทางการเงินของรัฐบาลกลาง 

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ พยายามกดดันสภาคองเกรซให้เร่งพิจารณาการขยายเพดานหนี้ โดยได้อ้างอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2011 การปรับลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดการเงินโลก ทำให้สถานะการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ สั่นคลอนได้ 

อีกทั้งวิกฤติเงินคงคลังในรัฐบาลกลาง เริ่มอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง และดูจะร้ายแรงกว่าที่คิด จนทำให้โจ ไบเดน ต้องทิ้งนัดหมายสำคัญกับพันธมิตรในย่านเอเชียเอาไว้ก่อน เพราะทางรอดของประเทศสำคัญกว่า


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง: The Straits Times / Wion News / Wikipedia