‘หมอธีระ’ เผย แม้ WHO ประกาศยุติภาวะฉุกเฉิน แต่การระบาดยังมีอยู่ ย้ำ!! ‘คนไทย-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง’ อย่าประมาทโควิด-19

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 48,348 คน ตายเพิ่ม 295 คน รวมแล้วติดไป 687,652,147 คน เสียชีวิตรวม 6,870,442 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และเวียดนาม

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.38 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 97.28

อัพเดต XBB.1.16.x ข้อมูลจาก GISAID (Cr: Rajnarayanan R) พบว่าตอนนี้ Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16.x นั้นมีรายงานตรวจพบเพิ่มเป็น 48 ประเทศแล้ว สัดส่วนสายพันธุ์ในอเมริกา รายงานจาก US CDC ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน XBB.1.5 ยังครองการระบาดอยู่ราว 67% ในขณะที่ XBB.1.16 และ XBB.1.9.x นั้นมีสัดส่วนพอๆ กันราว 13%

ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) เป็นคนละเรื่องกับการระบาดทั่วโลก (Pandemic)

เมื่อคืนนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ก่อนมีการประชุมเมื่อวานนี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนลักษณะการรายงานของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงจำนวนเสียชีวิตโดยรวมที่ลดลง การได้รับวัคซีนที่มากขึ้น และแรงกดดันในด้านเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ

ชุดเครื่องมือทางนโยบายจากประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศนั้น ไม่ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ระบาดปัจจุบันที่มีการระบาดต่อเนื่องยาวนานเป็นระยะที่เรียกว่า subacute to chronic phases แบบในปัจจุบัน

ดังนั้น หลังยุติการประกาศ PHEIC ลงแล้ว จะเป็นช่วงเวลาที่จะพิสูจน์ว่าแต่ละประเทศจะรับมือ และจัดการสถานการณ์ระบาดที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด

ทั้งระบบเฝ้าระวัง การกระตุ้นเตือนและให้ความรู้ประชาชน การควบคุมป้องกันโรค การเข้าถึงบริการ ยา วัคซีน รวมถึงการจัดการคน เงิน และทรัพยากรอื่นที่จำเป็น ทางองค์การอนามัยโลกได้เตือนไว้อย่างชัดเจนว่า การระบาดทั่วโลกยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่กังวล และย้ำเตือนให้ระวังคือ

“The worst thing any country could do now is to use this news as a reason to let down its guard, to dismantle the systems it has built, or to send the message to its people that COVID19 is nothing to worry about”

แปลความว่า “จะเป็นเรื่องที่แย่ที่สุด หากประเทศใดนำการประกาศยุติภาวะฉุกเฉินนี้ไปลดการป้องกันตัวลง หรือไปยกเลิกระบบการรับมือกับโรคระบาด หรือส่งสารไปยังประชาชนให้เข้าใจผิดว่าไม่ต้องกังวลกับโรคโควิด-19 แล้ว”

สำหรับไทยเรา ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง และตระหนักถึงสถานการณ์ระบาดของเราว่ายังมีการติดเชื้อมาก

ไม่ควรหลงไปกับคำลวง ที่ทำให้ประมาท ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ ความใส่ใจสุขภาพของตัวเราจะเป็นตัวกำหนดความเสี่ยงทั้งของเรา ครอบครัว คนรอบข้าง และสังคม


ที่มา : https://www.naewna.com/local/729074