‘หมอเปรม’ เผย ชาวบ้านเมิน ‘แจกเงินดิจิทัล’ เหตุซับซ้อน-ยุ่งยาก ลั่น!! พร้อมเทใจให้ ‘บัตรลุงตู่’ เพราะใช้ง่าย จับต้องได้จริง

(27 เม.ย.66) ดร.นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ผู้สมัคร ส.ส ขอนแก่นเขต 11 หมายเลข1 พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้กล่าวถึงบรรยากาศในการลงพื้นที่หาเสียงของตนเอง ว่า ตอนนี้ชาวบ้านให้ความสนใจในนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ และมีการนำมาเปรียบเทียบกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คู่เปรียบเทียบที่ชาวบ้านสนใจมากที่สุดคือ นโยบายบัตรสวัสดิการพลัส ของพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ ‘บัตรลงตู่’ ที่จะเพิ่มเงินเป็น 1,000 บาททุกเดือน กับนโยบาย ‘แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ของพรรคเพื่อไทย

โดยยอมรับว่า ในช่วงแรกที่ พรรคเพื่อไทย มีการเปิดตัว นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้กับคนอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน สร้างความฮือฮาให้กับชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก ด้วยตัวเลขที่สูงถึง 10,000 บาท ทำให้นโยบายดังกล่าว ได้รับการกล่าวขานอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข่าวการท้วงติงจากฝ่ายต่าง ๆ ถึงความเป็นไปได้ และผลกระทบของโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากนักวิชาการ หรือสื่อมวลชน แม้แต่อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ในประเด็นเรื่องที่มาของเงินงบประมาณที่จะใช้สูงถึง 560,000 ล้านบาท ว่าจะเอามาจากไหน และที่สำคัญ คือเรื่องของรูปแบบของเงินที่จะจ่ายให้กับประชาชน และวิธีการใช้ ที่มีความซับซ้อนยุ่งเหยิง และการอธิบาย ของแกนนำเพื่อไทยแต่ละครั้งที่ออกมาพูด ก็แตกต่างกันไปจนชาวบ้านรู้สึกสับสน

รวมถึง กรณีล่าสุดที่รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล ออกมาบอกว่า ร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการ ถ้าหากขายของได้แล้วจะเอาเงินดิจิทัลไปขึ้นเงินหรือเปลี่ยนเป็นเงินสดนั้น จะต้องเข้าไปอยู่ในระบบภาษีด้วย ก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ด้านลบต่อโครงการนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ร้านค้ารายย่อยในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นร้านของชำ ร้านขายอาหารตามสั่งต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี เพราะเป็นเพียงร้านค้าที่มีทุนร้อนไม่มาก ค้าขายประทังชีวิตไปวัน ๆ นึง ซึ่งถ้าหากขายสินค้าให้กับผู้เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว และเอาไปขึ้นเป็นเงินสดไม่ได้ จากการสอบถามเจ้าของร้านค้าส่วนใหญ่ก็บอกว่า จะไม่เข้าร่วมโครงการนี้แน่นอน เพราะเพราะยุ่งยากเกินไป

และอีกอย่างหนึ่ง ก็ไม่ได้มีทุนมากมาย ที่จะใช้หมุนเวียน เมื่อขายของได้ก็อยากจะเอารายได้มาใช้จ่าย ซึ่งถ้าฟังตามเงื่อนไขของโครงการที่การนำพรรคเพื่อไทยมาบอกว่า ขายของแล้วจะขึ้นเงินได้ต้องเป็นร้านที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น แบบนี้มีปัญหาแน่นอน เพราะร้านค้าส่วนใหญ่ เป็นร้านของชาวบ้านธรรมดา ไม่ได้มีระบบบัญชีอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว ขายอยู่ขายกินไปวัน ๆ และถ้าเงื่อนไขยุ่งยากแบบนี้คงไม่เอาด้วยแน่ ๆ

และเมื่อร้านค้าย่อยในชุมชนไม่เข้าร่วมโครงการ ชาวบ้านจะไปใช้เงินดิจิทัล ที่ได้รับแจกมาไปซื้อของที่ไหน สุดท้ายก็ต้องไปซื้อที่ห้างขนาดใหญ่ หรือร้านสะดวกซื้อของนายทุนเท่านั้น 
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายบัตรสวัสดิการพลัส หรือ ‘บัตรลุงตู่’ ที่ให้เงินเดือนละ 1,000 บาททุกเดือน เงื่อนไขไม่ยุ่งยาก ไม่จำกัดระยะทาง ทั้งชาวบ้านและร้านค้าในชุมชนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นนโยบายที่ชัดเจน จับต้องได้มากกว่าเพราะเงินที่ได้รับเป็นเงินจริง ๆ ซื้อมาขายไป ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน จึงทำให้ตอนนี้กลายเป็นกระแสที่คนในพื้นที่พูดถึงเป็นแนวเดียวกัน

นพ.เปรมศักดิ์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การออกนโยบายอะไรออกมานั้นต้องคำนึงถึงความเป็นจริง และมีความรับผิดชอบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ ไม่ใช่แค่นโยบายฉาบฉวยหวือหวา หวังเพียงแค่จูงใจให้ชาวบ้านหลงเขื่อเพื่อหวังคะแนนเสียง ซึ่งสุดท้ายชาวบ้านจับได้ไล่ทัน  ก็กลายเป็นนโยบายขายฝัน ที่ชาวบ้านไม่ฝันตามไปด้วยนั่นเอง