Sunday, 5 May 2024
แจกเงินดิจิทัล

'แก้วสรร' ถาม 'แจกเงินดิจิทัล สินบนเลือกตั้ง’ หรือเป็น ‘นโยบายงี่เง่า’ โดยสุจริตเท่านั้น

'แก้วสรร' ออกบทความด่วน แจกเงินดิจิทัล: สินบนเลือกตั้ง? ตั้งคำถาม กกต. น่าจะไต่สวนให้ละเอียดว่า โครงการเป็นสินบนเลือกตั้ง หรือนโยบายงี่เง่าโดยสุจริตเท่านั้น
.
(12 เม.ย.66) นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ ออกบทความเรื่อง ‘แจก ‘เงินดิจิทัล’ : สินบนเลือกตั้ง???’ ในรูปแบบถาม-ตอบ มีเนื้อหาว่า...

ถาม: ‘เงินดิจิทัล’ หนึ่งหมื่นบาท ที่เพื่อไทยประกาศจะแจกให้ทุกคนนั้น มัน เป็น ‘นโยบาย’ หรือ ‘สินบนเลือกตั้ง’?
ตอบ: ตามความเข้าใจของผมนั้น ‘เงินดิจิทัล’ ของเพื่อไทย ก็คล้ายกับคูปอง ที่เราต้องซื้อเวลาไปศูนย์อาหารตามห้างสรรพสินค้า ซื้อมาแล้วก็ใช้ได้ แต่ซื้ออาหารในศูนย์นั้นเท่านั้น...เงินดิจิทัลที่เพื่อไทยจะแจกก็เหมือนกัน คือ แจกให้ทุกคนที่อยู่ในเขตชุมชนรัศมี 4 กิโล ให้ได้คูปองไปซื้อหาสินค้าในวงสี่กิโลเมตรนี้ได้ โดยเขาอ้างว่า นี่คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนสี่กิโลเมตร ใครขายของได้เงินดิจิทัลหรือคูปองนี้มา ก็เอามาขึ้นเงินจากงบประมาณแผ่นดินได้ในที่สุด โดยทั้งหมดนี้ต้องยุติใน 6 เดือน

ถาม: โครงการทั้งแผ่นดิน ให้สิทธิผู้คนถึง 55 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านอย่างนี้ บริหารจัดการได้อย่างไร?
ตอบ: ก็ทำได้โดยอาศัยระบบออนไลน์ ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะนั่นแหละครับ

ถาม: มันต่างจากเงินที่ได้เปล่าอื่นๆ สมัย นายกฯ ตู่อย่างไร?
ตอบ: มันมุ่งจ่ายเมื่อมีธุรกรรมซื้อขายเกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ไม่ใช่จ่ายคนละครึ่ง เขาจ่ายให้หมดเลย แล้วของเพื่อไทยนั้นจ่ายโดยไม่มีเหตุเศรษฐกิจซบเซา ในช่วงโควิด หรือช่วยคนจนเลย อยู่ดีๆ ก็จ่ายให้ไปซื้อของ อ้างว่ามุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ผู้คนจะรวยหรือจนก็ได้เงินหมด ขอให้เอาไปจับจ่ายในรัศมีสี่กิโลเมตรก็พอแล้ว...ข้อที่มุ่งกระตุ้น ‘การจับจ่ายในพื้นที่’ นี่แหละครับ ที่ทำให้แจกดะทุกคน ทุกหนแห่งเลย

ถาม: ถ้าผมไปเป็นผู้สมัคร ส.ส. แล้วประกาศว่า ชนะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ห้างเดอะมอลล์จะแจกคูปองอาหารให้พี่น้อง 6 เดือนเลย อย่างนี้ผมผิดกฎหมายเลือกตั้งฐานสัญญาว่าจะให้ไหม?
ตอบ: ผิดครับ คุณจะให้เองหรือเดอะมอลล์ให้ ก็ผิดเหมือนกัน

ถาม: ถ้าผิด อย่างนั้นสัญญาว่าชนะเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัลให้ทุกคน อย่างนี้ก็ต้องผิดเหมือนกันใช่ไหม?
ตอบ: เขาต้องยกข้อต่อสู้ว่า นี่คือเงินรัฐที่จ่ายตามนโยบายสาธารณะ ไม่ใช่สินบนซื้อเสียง

'คริปโตมายด์' วิเคราะห์!! 'แอปฯ เป๋าตัง' ตัวเลือกน่าสนใจ หาก 'เพื่อไทย' จะปั้น Digital Wallet แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ บริษัทที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของไทย ภายใต้การกำกับดูแล ก.ล.ต. วิเคราะห์นโยบาย “พรรคเพื่อไทย” ความเป็นไปได้ของ Digital Wallet สำหรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

เมื่อวันที่ (12 เม.ย.66) หนึ่งในประเด็นใหญ่ในช่วงนี้ที่เป็นที่พูดถึงและถกเถียงในโลกโซเชียลกันอย่างแพร่หลาย ก็คือการประกาศนโยบายของพรรคเพื่อไทยว่าด้วยเรื่องการเติมเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาทให้กับประชาชนคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายใกล้บ้านในรัศมี 4 กิโลเมตร ผ่าน Digital Wallet โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน ในตลาดท้องถิ่น สร้างธุรกรรมระหว่างรายย่อย

หนึ่งในรายละเอียดของนโยบายที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องการนำ “เทคโนโลยีบล็อกเชน” มาสร้าง Digital Wallet เพื่อสร้างเงื่อนไขการใช้งานที่จะทำให้นโยบายเป็นไปได้อย่างตรงจุด ในประเด็นนี้นายอภินัทธ์ เดชดอนบม นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท คริปโตมายด์ แอดไวเซอรี่ จำกัด ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แสดงความคิดเห็นไว้ว่า การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาทำ Digital Wallet นั้นอาจไม่เหมาะสมด้วยเหตุผลเรื่องข้อจำกัดด้านการออกแบบบางอย่างซึ่งมีข้อสังเกตดังนี้

เทคโนโลยีบล็อกเชนมีข้อจำกัดในเรื่องของการออกแบบ เนื่องด้วยสิ่งที่เรียกว่า Blockchain Trilemma หรือหลักพื้นฐานบล็อกเชน 3 ประการ ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้พร้อมกัน อันประกอบด้วย ความปลอดภัย (Security), การขยายตัวเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต (Scalability) และการกระจายอำนาจ (Decentralization)

ซึ่งตัวเลือกแรกก็เป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก Security การที่จะทำระบบบล็อกเชนให้สามารถรองรับธุรกรรมมหาศาลจากประชากรหลายสิบล้านคน ก็จำเป็นต้องเลือก Scalability มาเป็นอันดับสอง นั่นหมายความว่าต้องยอมสูญเสีย Decentralization ไป
 
อีกทั้งการทำระบบการชำระเงินของรัฐบาลก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเป็นบล็อกเชนสาธารณะ (Public Blockchain) ที่เปิดรายละเอียดของโครงสร้างระบบให้คนทั่วไปเห็น ทำให้ตัวเลือกเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก Private Blockchain แต่การจะทำให้ประชาชนทุกคนใช้งานได้ โดยไม่ติดขัด Digital Wallet นี้ก็ต้องเป็นแบบ Custodial Wallet ที่ทำให้ Decentralization ลดลงไปอีก

ซึ่งทำให้ระบบโดยรวมนั้นอาจไม่ได้แตกต่างจากการใช้ระบบฐานข้อมูลแบบเดิมที่อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังไม่มี Case Study ของบล็อกเชนที่สามารถรองรับธุรกรรมได้มากระดับหลายสิบล้านธุรกรรมต่อวันได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้วยเหตุนี้ทางเราจึงมองว่าตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุดในการทำ Digital Wallet นี้ก็คือ แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่มีอยู่ก่อนแล้ว และคาดว่า “แอปพลิเคชันเป๋าตัง” ก็สามารถกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวได้ไม่ยาก มีประวัติการรองรับธุรกรรมจากการใช้งานจริงจากโครงการก่อนหน้านี้

ประชาชนมีความคุ้นเคยกับแอปพลิเคชันเป๋าตังอยู่แล้ว อีกทั้งการใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังที่มีอยู่เดิมก็จะสามารถประหยัดงบประมาณการพัฒนาระบบใหม่และดูแลรักษาได้อีกด้วย

อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นที่พูดถึงก็คือความเกี่ยวข้องของ Digital Wallet กับ Central Bank Digital Currency (CBDC) ซึ่งในเรื่องนี้ทางเรามองว่าไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากทางแบงก์ชาติมีแนวทางพัฒนาของตัวเอง โดยในตอนนี้ Retail CBDC ก็กำลังอยู่ในช่วง Pilot Test ระหว่างช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566 ร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด

โดยหาก Pilot Test แล้วมีปัญหาหรือมีจุดต้องแก้ไขก็ต้องนำกลับไปพัฒนาใหม่ และ Pilot Test อีกครั้งไปเรื่อย ๆ จนเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งอาจกินเวลาหลายเดือนหรือหลายปี เพราะ CBDC จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ไม่สามารถรีบเร่งได้ ทำให้ไทม์ไลน์อาจไม่ตรงกับการบังคับใช้ นโยบายดังกล่าวหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล

‘ศิลัมพา’ ซัด ‘พท.’ ชี้แจงนโยบายแจกเงินดิจิทัลไม่เคลียร์ ชี้!! ทำ ปชช.สับสน โว ‘คนละครึ่ง’ ของ ‘บิ๊กตู่’ ยังเข้าใจง่ายกว่า

(26 เม.ย. 66) น.ส.ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย หลังจากการลงพื้นที่จนถึงขณะนี้ว่า ชาวบ้านยังคงสับสนกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย ว่าตกลงแล้วจะแจกเป็นรูปแบบใดกันแน่ เพราะการอธิบายของแกนนำพรรคเพื่อไทยแต่ละคน ก็พูดไม่เหมือนกัน และชาวบ้านบอกว่าเข้าใจยาก

รวมถึงกรณีล่าสุด ที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาอธิบาย เกี่ยวกับ การนำเงินดิจิทัล ไปเปลี่ยนเป็นเงินสดของร้านค้าต่าง ๆ โดยอธิบายว่า พรรคเพื่อไทย ตั้งเงื่อนไขเอาไว้ว่า คนที่จะขึ้นเงินได้จะต้องเป็นร้านค้าในระบบภาษีเท่านั้น ถ้าเป็นร้านค้าที่ไม่อยู่ในระบบภาษีก็ขึ้นเงินไม่ได้ ซึ่งเมื่อข่าวออกไปร้านค้ารายย่อยในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายของชำ ร้านขายอาหารตามสั่ง ร้านข้าวแกงต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำไมเงื่อนไขยุ่งยาก และถ้าเป็นแบบนี้คงจะไม่เข้าร่วมโครงการแน่ ๆ และเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ยังเข้าใจง่ายกว่าและมีประโยชน์กว่าชัดเจน

ในขณะที่ชาวบ้านทั่วไป บอกว่า หากเปรียบเทียบการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย กับบัตรลุงตู่หรือบัตรสวัสดิการรัฐ ที่จะให้เงิน 1,000 บาทนั้น แม้ตัวเลขของพรรคเพื่อไทยจะดูเยอะกว่า แต่ก็ดูยุ่งยากซับซ้อนและไม่แน่ใจว่าจะทำได้จริงหรือไม่ ในขณะที่บัตรลุงตู่นั้น ชาวบ้านเห็นแล้วว่าใช้ได้ง่ายและได้จริง ยิ่งเพิ่มเงินเป็น 1,000 บาททุกเดือน ยิ่งดีกว่าเดิมและมั่นใจมากขึ้น

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ชาวบ้านวิจารณ์โครงการนี้ หลังจากที่ได้อ่านข่าวที่รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยออกมาอธิบายนั้น ชาวบ้านบอกว่า ถ้าร้านค้าย่อยที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีจะไม่สามารถขึ้นเงินได้ ก็เท่ากับว่าเงินทั้งหมดปลายทางจะไปอยู่ที่นายทุนใหญ่หรือเจ้าสัว อย่างที่พรรคเพื่อไทยชอบหยิบมาโจมตีโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์มาตลอดนั่นเอง

น.ส.ศิลัมพา ย้ำว่า นอกจากความสับสนที่ทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจ และร้านค้าทั่วไปที่เป็นร้านเล็ก ๆ ไม่ต้องการเข้าร่วมแล้ว ในส่วนของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้อีกกว่า 5.6 แสนล้านนั้น ทางแกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ยังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าจะหาเงินมาจากแหล่งใด เพียงแต่บอกลอย ๆ ว่า หาเงินได้แน่นอนเท่านั้น เช่นนี้แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่านโยบายที่พรรคเพื่อไทยนำมาหาเสียงนั้น จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มองว่า เป็นนโยบายขายฝันที่นำมาใช้เพื่อหวังคะแนนเสียงให้ชนะการเลือกตั้งเท่านั้น

‘หมอเปรม’ เผย ชาวบ้านเมิน ‘แจกเงินดิจิทัล’ เหตุซับซ้อน-ยุ่งยาก ลั่น!! พร้อมเทใจให้ ‘บัตรลุงตู่’ เพราะใช้ง่าย จับต้องได้จริง

(27 เม.ย.66) ดร.นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ผู้สมัคร ส.ส ขอนแก่นเขต 11 หมายเลข1 พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้กล่าวถึงบรรยากาศในการลงพื้นที่หาเสียงของตนเอง ว่า ตอนนี้ชาวบ้านให้ความสนใจในนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ และมีการนำมาเปรียบเทียบกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คู่เปรียบเทียบที่ชาวบ้านสนใจมากที่สุดคือ นโยบายบัตรสวัสดิการพลัส ของพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ ‘บัตรลงตู่’ ที่จะเพิ่มเงินเป็น 1,000 บาททุกเดือน กับนโยบาย ‘แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ของพรรคเพื่อไทย

โดยยอมรับว่า ในช่วงแรกที่ พรรคเพื่อไทย มีการเปิดตัว นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้กับคนอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน สร้างความฮือฮาให้กับชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก ด้วยตัวเลขที่สูงถึง 10,000 บาท ทำให้นโยบายดังกล่าว ได้รับการกล่าวขานอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข่าวการท้วงติงจากฝ่ายต่าง ๆ ถึงความเป็นไปได้ และผลกระทบของโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นจากนักวิชาการ หรือสื่อมวลชน แม้แต่อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ในประเด็นเรื่องที่มาของเงินงบประมาณที่จะใช้สูงถึง 560,000 ล้านบาท ว่าจะเอามาจากไหน และที่สำคัญ คือเรื่องของรูปแบบของเงินที่จะจ่ายให้กับประชาชน และวิธีการใช้ ที่มีความซับซ้อนยุ่งเหยิง และการอธิบาย ของแกนนำเพื่อไทยแต่ละครั้งที่ออกมาพูด ก็แตกต่างกันไปจนชาวบ้านรู้สึกสับสน

รวมถึง กรณีล่าสุดที่รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล ออกมาบอกว่า ร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการ ถ้าหากขายของได้แล้วจะเอาเงินดิจิทัลไปขึ้นเงินหรือเปลี่ยนเป็นเงินสดนั้น จะต้องเข้าไปอยู่ในระบบภาษีด้วย ก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ด้านลบต่อโครงการนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ร้านค้ารายย่อยในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นร้านของชำ ร้านขายอาหารตามสั่งต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี เพราะเป็นเพียงร้านค้าที่มีทุนร้อนไม่มาก ค้าขายประทังชีวิตไปวัน ๆ นึง ซึ่งถ้าหากขายสินค้าให้กับผู้เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว และเอาไปขึ้นเป็นเงินสดไม่ได้ จากการสอบถามเจ้าของร้านค้าส่วนใหญ่ก็บอกว่า จะไม่เข้าร่วมโครงการนี้แน่นอน เพราะเพราะยุ่งยากเกินไป

และอีกอย่างหนึ่ง ก็ไม่ได้มีทุนมากมาย ที่จะใช้หมุนเวียน เมื่อขายของได้ก็อยากจะเอารายได้มาใช้จ่าย ซึ่งถ้าฟังตามเงื่อนไขของโครงการที่การนำพรรคเพื่อไทยมาบอกว่า ขายของแล้วจะขึ้นเงินได้ต้องเป็นร้านที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น แบบนี้มีปัญหาแน่นอน เพราะร้านค้าส่วนใหญ่ เป็นร้านของชาวบ้านธรรมดา ไม่ได้มีระบบบัญชีอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราว ขายอยู่ขายกินไปวัน ๆ และถ้าเงื่อนไขยุ่งยากแบบนี้คงไม่เอาด้วยแน่ ๆ

‘กลุ่มรวมพลคนเอาเงินหมื่น’ บุกหนุน ‘เพื่อไทย’ แจกเงินดิจิทัล ฟาก ‘จุลพันธ์’ ยัน!! พร้อมผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นจริง

(17 ต.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) กลุ่มรวมพลคนเอาเงินหมื่น นำโดย นายยุทธศักดิ์ ชูประเสริฐ อดีตผู้สมัครสส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย ได้มอบเสื้อที่มีข้อความว่า “ประชาชน สนับสนุน 10,000 บาท ดิจิทัลวอลเล็ต” และสติกเกอร์ ให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง พร้อมร้องเพลง “คนจนมีสิทธิ์มั้ยคะ คนจนมีสิทธิ์มั้ยคะ เงินหมื่นจะได้สักที เพราะมีหนี้นะคะ” เพื่อสนับสนุนให้พรรคเพื่อไทยเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

โดยนายจุลพันธ์ กล่าวว่า จริง ๆ ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านเราก็พร้อมรับฟัง ส่วนตัวไม่แปลกใจที่มีเสียงคัดค้าน เพราะทุกนโยบายรัฐบาลที่ทำมาก็มีทั้งค้านและสนับสนุน ที่นายกฯ บอกให้ประชาชนสะท้อนเสียงมานั้น ไม่ได้ต้องการให้เกิดความแตกแยก แต่เพื่อต้องการรับฟังเสียงของประชาชนให้รอบด้าน เพราะเรามาจากประชาชนเห็นความลำบากของประชาชน เมื่อเราเข้ามาจึงต้องการประชาชนอยู่ดีกินดี และต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศไทยโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% เป็นอย่างน้อย ตนฟังเสียงทุกเสียง ทั้งความเป็นห่วงเม็ดเงินไปลงที่คนรวยแล้วจะใช้หรือไม่ วันนี้เราคิดว่าจะมาจะตัดในส่วนของคนรวยออกหรือไม่ เราคิดจริง ๆ ถ้าไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชนดีไม่ดีจะตัดไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อฟังเสียงวันนี้ชัดเจนทุกคนยังรออยู่ ฉะนั้นในฐานะที่เป็นรัฐบาลและได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการเรื่องนี้ ยืนยันว่าเราสู้และจะสนับสนุนนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้

'พปชร.' ส่งกำลังใจ โครงการดิจิทัล 1 หมื่นรัฐบาล เชื่อ!! ประชาชนได้ประโยชน์ ไม่ร่วมโหนวิจารณ์

(21 ต.ค.66) ที่รร.อินเตอร์คอนติเนนตัน จ.ภูเก็ต นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิจารณ์การแจกเงิน นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ของรัฐบาล วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท ว่า เรื่องระบบการเงิน การคลัง อยู่ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะระดมเงินอย่างไร เพื่อที่จะทำให้ได้ตามนโยบายของรัฐบาล

นายสันติ กล่าวต่อว่า โดยพรรคพลังประชารัฐ มีการคุยกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคแล้ว จึงขอส่งกำลังใจไปถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ขณะนี้หัวหน้ารัฐบาล กำลังเร่งรัดทำโครงการให้สำเร็จ และการที่ประชาชนจะได้เงินคนละ 1 หมื่นบาท ถือเป็นประโยชน์ ส่วนการวิจารณ์หรือพูดอะไรเห็นว่าไม่เหมาะสม

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากโครงการนี้มีการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ รัฐมนตรีในส่วนของพรรคพปชร. จะสนับสนุนหรือไม่ นายสันติ กล่าวว่า ตอนนี้โครงการยังไม่เข้าไป พูดล่วงหน้าอาจจะยังไม่เหมาะเท่าไหร่

เมื่อถามว่าระหว่างที่กำลังดำเนินโครงการ มีเรื่องใดที่น่ากังวล หรือจะมีประสิทธิภาพอย่างไร นายสันติ กล่าวว่า เรื่องแหล่งเงินหรือความเหมาะสม ประชาชนที่มีความรู้ ความสามารถ นักวิชาการ หรือผู้บริหารการเงิน ผู้เชี่ยวชาญ มีความคิดหลากหลาย ได้มีการวิจารณ์พูดคุย เพื่อให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด

เมื่อถามว่าความคิดเห็นที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย เกรงว่าจะมีความขัดแย้งในสังคมหรือไม่ นายสันติ กล่าวว่า โครงการนี้ถ้าแจกได้ 56 ล้านคน ประชาชนก็ได้ประโยชน์ ซึ่งก็ต้องดูพรรคแกนนำดำเนินการ เราก็เอาใจช่วยตลอด

'อนุทิน' ยัน 320 เสียงพรรคร่วมฯ หนุนดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 แต่หากในอนาคตมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากล ก็ต้องตรวจสอบ

(24 ต.ค.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกระแสพรรคร่วมรัฐบาลพยายามลอยแพพรรคเพื่อไทย หลังมีกระแสด้านลบเกี่ยวกับเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท ว่า ยืนยันว่าไม่มีการลอยแพ ตนเองก็ติดตามเรื่องนี้อยู่ และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาจะมีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่หากในอนาคตมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลก็ต้องตรวจสอบ เพราะไม่เช่นนั้นจะมาเป็นนโยบายรัฐบาลไม่ได้ และเมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคร่วมจะต้องช่วยกันสนับสนุน แต่ก่อนจะออกเป็นนโยบายจะต้องผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และการตราเป็นพระราชบัญญัติ อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาแล้วเราก็มีหน้าที่ในการทำให้นโยบายของรัฐบาลได้รับการผลักดัน พร้อมย้ำว่าไม่มีการลอยแพอยู่แล้ว แต่อยู่ในเรือนแพ

เมื่อถามว่า กรณีที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่าอยากให้เป็นการใช้เงินเฉพาะกลุ่ม จะมีผลกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่ารัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อนำมาพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสม ตามรัฐธรรมนูญและทำได้จริง ขออย่าไปมองว่า มีนโยบายอะไรที่เป็นพิเศษขึ้นมา เพราะนโยบายนี้ถือเป็นนโยบายหลักที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นต้องมั่นใจว่าการนำไปใช้ ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักกฎหมาย ส่วนที่ขณะนี้มีแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่ยังขาดเสียงสนับสนุนนั้น นายอนุทินกล่าวว่า ในส่วนของรัฐบาล 320 เสียง ต้องสนับสนุน 

เมื่อถามว่า ในฐานะคณะรัฐมนตรีหากในท้ายที่สุดนโยบายนี้มีปัญหาจะต้องรับผิดชอบร่วมกันหรือไม่ นายอนุทิน ย้ำว่า นโยบายนี้ไม่ใช่ว่าจะนำออกมาใช้ได้เลย ยังต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณา แต่ในขณะนี้ก็ยังสนับสนุนในฐานะเป็นรัฐบาล แต่หากดูแล้วมีอะไรที่เป็นปัญหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ระเบียบ ก็ต้องคุยกันเพื่อหาทางออกให้ได้

‘นักวิชาการ’ ชี้!! ลดแจกเงินดิจิทัล ศก.ปีหน้าหด แต่ ‘ยั่งยืน-คลังไม่เสี่ยง’ แนะ!! ปรับเกณฑ์คัดกรอง ใช้ ‘ทรัพย์สิน-ภาระหนี้’ พิจารณาร่วมด้วย

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 66 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับลดขนาดและวงเงินดิจิทัลวอลเล็ตลงมาช่วยลดความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตลงมาได้ แม้จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีหน้าลดลงบ้าง แต่จะให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากกว่าในระยะปานกลาง หากมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยประมาณ 15 ล้านคน จะใช้เงินงบประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และอาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินเลย และผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการแจกเงินแบบถ้วนหน้า 56 ล้านคน หรือตัดคนที่มีเงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้มีสิทธิประมาณ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.3 แสนล้านบาท หรือตัดผู้มีเงินเดือนเกินกว่า 50,000 บาท และ/หรือมีบัญชีเงินฝากกว่า 5 แสนบาท เหลือผู้มีสิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 4.9 แสนล้านบาท

การแจกเฉพาะกลุ่มเน้นไปที่คนยากจนหรือชนชั้นกลางรายได้ต่ำมีแนวโน้มใช้จ่ายมากและเร็ว มักซื้อสินค้าจำเป็นภายในประเทศ มีความจำเป็นและมีปัญหาสภาพคล่อง จะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการแจกเงินเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้ต้นทุนงบประมาณโครงการแจกเงินลดลง นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตต้องดูทั้งมิติทางด้านมหภาคและจุลภาค ต้องมีมาตรการอื่น ๆ ด้านจุลภาคเสริมให้เงินแจกที่ประชาชนได้รับกลายเป็นการลงทุนขนาดเล็กในระดับชุมชนมากกว่าแปลงเป็นการบริโภคเพียงอย่างเดียว

หากไม่แจกเงินถ้วนหน้า รัฐบาลควรปรับเกณฑ์คัดกรองคนมีรายได้สูงนอกเหนือจากเกณฑ์เงินฝากและเงินเดือน รัฐบาลควรนำสินทรัพย์อื่น ๆ และภาระหนี้สินมาร่วมพิจารณา เช่น การถือครองที่ดิน การถือครองอสังหาริมทรัพย์ เงินลงทุนในตลาดการเงิน การถือครองพันธบัตรและหุ้น ภาระหนี้สิน เป็นต้น มาเป็นเกณฑ์ในการคัดกรอง การตัดคนที่เงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาทออกแต่ยังใช้งบประมาณมากกว่า 4.3 แสนล้านบาท เนื่องจากคนจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ประมาณ 4 ล้านกว่าคนจากกำลังแรงงานทั้งหมดเกือบ 40 ล้านคนนั้น การที่คนเสียภาษี 4 ล้านคนนี้แบกรับภาระมาตรการแจกเงิน เกิดประเด็นทางนโยบายสาธารณะว่า เราควรพัฒนาระบบภาษีให้เป็นธรรม และขยายฐานภาษีให้กว้างขวางขึ้นและ เร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยด่วน

ปัญหาของการไม่แจกถ้วนหน้า คือ ต้นทุนการบริหารการแจกเงินสูงขึ้นและอาจยุ่งยากในการคัดกรองหากข้อมูลไม่ครบถ้วน ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลการเสียภาษีเงินได้จำนวนหนึ่งอาจมีเงินเดือนมากกว่า 25,000 บาทก็ได้ แต่อาจไม่ได้ถูกคัดออก หรือบางคนอาจมีเงินเดือนสูงกว่า 25,000 บาทแต่มีภาระหนี้สินมาก อาจถูกคัดออกทั้งที่ควรได้รับเงินแจก หรือบางคนมีเงินเดือนต่ำกว่า 25,000 บาท เงินฝากต่ำกว่า 1 แสนบาท แต่มีทรัพย์สินอย่างอื่นจำนวนมาก อาจไม่มีความจำเป็นต้องได้รับเงินแจก ฐานคนเสียภาษีต่ำทำให้การใช้เงินงบประมาณยังสูงอยู่มาก คัดคนมีรายได้สูงออกมากเท่าไหร่ ตัวทวีคูณทางการคลังเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เพราะผู้มีรายได้น้อยมากเท่าไหร่ จะมีความโน้มเอียงในการบริโภคสูงขึ้นเท่านั้น หรือ MPC (Marginal Propensity to Consume) สูง การแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงกว่า ใช้งบประมาณน้อยลง ก่อหนี้ก่อภาระผูกพันในอนาคตน้อยลง ความเสี่ยงฐานะการคลังลดลงมาก

ขณะที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลบวกจากการขยายตัวอย่างมากของการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตร ภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวของไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง การขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในเดือนกันยายน มูลค่าการส่งออกแตะเกือบ 9 แสนล้านบาท มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.1% บวกต่อเนื่องสองเดือนติดต่อกัน เฉพาะสินค้าเกษตรขยายตัวเพิ่ม 12% เป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่ม 5.4% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้งเพิ่ม 166.2% ข้าวเพิ่ม 51.4% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่ม 3.7% น้ำตาลทรายเพิ่ม 16.3% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์เพิ่ม 12.8% สิ่งปรุงรสอาหารเพิ่ม 27.1% ผักกระป๋องและผักแปรรูปเพิ่ม 17.3% นมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่ม 3.1% ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้งเพิ่ม 7.9% ไข่ไก่สดเพิ่ม 52.7% ทำให้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่องแม้อาจชะลอตัวลงบ้างจากผลกระทบสงครามในตะวันออกกลาง

ผลกระทบต่อการแตกตัวของโลกาภิวัตน์ การแยกขั้วของภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจของโลก (Geo-Economic Fragmentation: GEF) ต่อเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนของไทยจะเพิ่มขึ้นหากสงครามในฉนวนกาซาลุกลามสู่สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางและมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อกัน รัฐบาลควรรักษาพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เอาไว้ หากเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะได้มีงบประมาณเพียงพอแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอนาคตหากมีความจำเป็น ถ้าแจกเงินอย่างถ้วนหน้าจะส่งผลให้พื้นที่ทางการคลังจะลดลง ช่วงต้นปี GEF เพิ่มอย่างแน่นอนหากสงครามอิสราเอลขยายวงสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การเตรียมพื้นที่ทางการคลังไว้กระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังและช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อน

ช่วงที่เหลือของปีนี้ ตลาดการเงินโลกจะมีความผันผวนมาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาอาจปรับขึ้นได้อีก แม้ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.นี้จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้นเดือนพฤศจิกายน ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธันวาคมน่าจะมีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ คาดผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสหรัฐยังอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป โดยมองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีอาจแตะระดับ 6% ได้ ปัจจัยดังกล่าวทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดพันธบัตร และเทขายการลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรงต่อเนื่อง นอกจากนี้ผลกระทบสงครามขยายวง ทำให้ราคาทองและน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไป

หน้าที่ของอัตราดอกเบี้ยในระบบเศรษฐกิจ คือ การทำให้ปริมาณเงินและอุปสงค์ของเงินมีความสมดุล เป็นหลักประกันว่า เงินออมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะถูกเคลื่อนย้ายไปสู่การลงทุนหรือการบริโภคเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือหนึ่งของนโยบายการเงินของทางการ รวมทั้งเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรและสินเชื่อไปยังโครงการลงทุนที่คาดว่าจะให้อัตราผลตอบแทนสูงสุด เส้น Yield Curve สามารถเป็นตัวสะท้อนข้อมูลตลาดและภาวะเศรษฐกิจ บอกถึงกิจกรรมเศรษฐกิจในอนาคตและการคาดการณ์หรือคาดคะเนของตลาด (Market Expectation) ถ้าเส้น Yield Curve ทอดขึ้น ผู้คนในตลาดและระบบเศรษฐกิจจะคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นในอนาคต อัตราดอกเบี้ยจะผันแปรไปตามวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) หรือภาวะเศรษฐกิจ ทุกคนจะคาดการณ์ว่า ระบบเศรษฐกิจกำลังจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ Yield Curve ที่ทอดลงจะสะท้อนจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ลักษณะและความชันของ Yield Curve มีความสำคัญและมีผลต่อสถาบันการเงินและตัวกลางทางการเงิน เช่น ธนาคาร และ บริษัทเงินทุน กู้เงินจากตลาดการเงินระยะสั้นแล้วปล่อยกู้ ในโครงการระยะยาว ยิ่ง Yield Curve ทอดขึ้นและมีความชันมากเท่าไหร่ สถาบันการเงินย่อมได้รับผลตอบแทนมากเท่านั้น

เนื่องจากส่วนต่าง (Spread) ระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาวจะมีมากขึ้น กำไรของสถาบันการเงินและตัวกลางทางการเงินย่อมเพิ่มขึ้น ขณะนี้เส้นผลตอบแทนจะมีลักษณะทอดขึ้นจากซ้ายไปขวาอาจจะเรียกว่า เป็น Ascending Yield Curve ก็ได้ ในกรณีนี้จะมีการคาดคะเนว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคตจะสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนระยะยาว คือ ค่าเฉลี่ยของอัตราปัจจุบันกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้นอยู่เหนืออัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน แสดงว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น กองทุนขนาดใหญ่และเฮดจ์ฟันด์ยังคงเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดหุ้นมายังตลาดพันธบัตรต่อไป จนกว่าราคาหุ้นจะปรับฐานลงมาสู่ระดับที่ทำให้การลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมีความน่าสนใจหรือบริษัทต่างๆสามารถจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นได้ หรือ มี Market P/E Ratio ลดลงมากพอ อัตราผลตอบแทนเมื่อปรับความเสี่ยงแล้วของตลาดหุ้นสามารถแข่งขันกับอัตราผลตอบแทนของตลาดพันธบัตรที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอยู่

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เงินก็เหมือนกับสินค้าทั่วไปที่ระดับราคาของมัน หรืออัตราดอกเบี้ยถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน หน่วยการผลิตจะผลิตเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบระหว่างอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้รับเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหน่วย (Marginal Efficiency of Investment-MEI) กับ อัตราดอกเบี้ยในตลาด เมื่อ MEI ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด หน่วยการผลิตจะยังขยายการลงทุนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง MEI เท่ากับ อัตราดอกเบี้ย ในภาวะที่ระบบเศรษฐกิจไทยมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ อัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ รัฐบาลก่อหนี้เพิ่ม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงมาก ทางการไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกแม้นในหนึ่งหรือสองไตรมาสข้างหน้า อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานปรับสูงขึ้น ในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม อัตราดอกเบี้ยจึงทำหน้าที่เป็นกลไกจัดสรรทรัพยากรของสังคมและระบบเศรษฐกิจตามการขึ้นลงของราคาของเงิน หรืออัตราดอกเบี้ย ที่ระดับอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับใดระดับหนึ่งในระบบการเงิน

หน่วยเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพในการลงทุนจะสามารถประมูลเงินทุนไปดำเนินในกระบวนการผลิต (คือสามารถรับภาระของดอกเบี้ย) ส่วนหน่วยเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพต่ำย่อมไม่สามารถได้เงินทุนไปขยายการผลิต หน่วยธุรกิจที่สามารถมีกำไรได้และมีประสิทธิภาพสูง ไม่ได้หมายความว่า การผลิตจะมีคุณค่าต่อสังคมเสมอไป เช่น โรงงานผลิตสุรา โรงงานผลิตยาสูบ สถานอาบอบนวด เป็นต้น กำไรมากแต่มีผลกระทบทางสังคม หรือการผลิตบางอย่าง กำไรต่ำหรือบางครั้งก็มีประสิทธิภาพต่ำแต่เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจ เช่น สถานเลี้ยงดูเด็กกำพร้า บ้านพักคนชรา หรือ การทำนาหรือเกษตรกรรม เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่สามารถอาศัยกลไกอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวในการจัดสรรทรัพยากรของสังคม จำเป็นต้องมีกลไกหรือเครื่องมืออื่นๆรวมทั้งการแทรกแซงโดยรัฐด้วย โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเหล่านี้มักอาศัยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในการเข้ามาดูแลในการจัดสรรทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจรวมทั้งการช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมและธุรกิจขนาดเล็กด้วย

หากรัฐบาลตัดสินใจแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตอย่างถ้วนหน้า รัฐบาลต้องกู้เงินจำนวนมากจากตลาดการเงินภายใน อาจจะเกิด Crowding out Effect ดันอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้สูงขึ้นและไปเบียดบังการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนโดยรวมอาจไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย ผลสุทธิของการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายแจกเงินจะเบาบางลงจากการลดลงจากต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น การลงทุนลดลงของภาคเอกชน ส่งผลต่อการสะสมทุนลดลง (Less Capital Accumulation) นำมาสู่การเติบโตที่ลดลงในระยะยาว แม้ในระยะสั้น มาตรการแจกเงินจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคก็ตาม

'ภูมิธรรม' ปูด 'ศิริกัญญา' สมัยช่วงจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ขอ 'เพื่อไทย' ให้ทำ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' พร้อมปรับลดเพดานเงินลง

(12 พ.ย.66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายค้านถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า การวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ หากเป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน รัฐบาลยินดีรับฟังอยู่แล้ว เราไม่ได้ดื้อดึงอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน ซึ่งโครงการนี้มีการปรับเปลี่ยนก็เพราะหลายส่วนวิพากษ์วิจารณ์เข้ามา แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลรับฟังทุกฝ่าย หากฝ่ายค้านจะเสนอแนะวิธีการในโครงการนี้ก็สามารถทำได้ แต่หากจะวิจารณ์แค่ว่าเราผิดหรือแค่หาทางลงนั้น ตนไม่อยากให้คิดแค่เพียงนำความได้เปรียบทางการเมืองมาดิสเครดิตรัฐบาล

ทั้งนี้ รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย (พท.) ตั้งใจทำตามสัญญา ซึ่งหัวใจของโครงการนี้ไม่ใช่เพื่อการแจกเงิน แต่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีปัญหามาอย่างยาวนาน โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ด้วย

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า เราพยายามเดินหน้าโครงการด้วยความรอบคอบ เราได้มอบหมายคณะกรรมการกฤษฎีกาประสานงานกับแบงก์ชาติ ว่าจะใช้วิธีการใด จะต้องกู้หรือไม่ ทุกอย่างจะดำเนินการให้ถูกกฎหมายและทุกฝ่ายเห็นชอบ ส่วนที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระบุว่ารัฐบาลกำลังกลืนน้ำลายเพราะจะกู้เงินมาทำโครงการ แล้วจะกลายเป็นจุดล้มละลายทางความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเองนั้น เรายืนยันว่าเป้าหมายของโครงการนี้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประชาชนเป็นกำลังซื้อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ หากรัฐบาลทำถูกต้อง ท่านก็ไม่ควรต้องติดใจ

“ส่วนที่คุณศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) วิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลกำลังหาทางลงให้กับโครงการนี้ สมัยตอนที่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล คุณศิริกัญญาเองก็ขอให้เราทำโครงการนี้ เพียงแต่ขอให้ปรับลดเพดานเงินลง แสดงให้เห็นว่าคุณศิริกัญญา ก็เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว ผมจึงไม่อยากให้นำความได้เปรียบทางการเมืองมาดิสเครดิตกัน ซึ่งมันไม่มีประโยชน์อะไร ประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์ ผมถามว่าพวกคุณเห็น ด้วยหรือไม่ว่าประเทศไทยขณะนี้ต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจ“ นายภูมิธรรม กล่าว

‘นายกฯ’ มั่นใจ!! ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ได้ใช้แน่ ส่วนโครงการดีเลย์เพราะต้องรับฟังทุกเสียง

(13 พ.ย.66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงิน 10,000 บาท ที่สังคมมีทั้งคนเห็นด้วย เห็นต่างและสนับสนุน ว่า ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน และไม่อยากให้สังคมไทย ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายตรงข้าม หรือพวกเดียวกัน ไม่อยากให้มีธง อยากให้รับฟังความคิดเห็นว่าข้อดีข้อเสียคืออะไร แล้วหยิบยกมาพูดคุยกัน 

ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุโครงการดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้นจริง และอาจไม่ผ่านสภา ประชาชนจะไม่มีโอกาสได้รับเงินจริง นายเศรษฐา กล่าวว่า “ผมมั่นใจว่าเสียงของผม อย่างพรรคร่วมรัฐบาลมี 320 เสียง ผมว่าเสียงของผมมั่นคง และเราทำงานเป็นทีม เชื่อว่าผ่าน” 

เมื่อถามย้ำว่า คนไทยจะมีโอกาสได้ใช้เงิน 10,000 บาท หรือไม่ นายกฯ กล่าวย้ำว่า มั่นใจ เป็นหน้าที่ผู้นำรัฐบาลต้องรับฟังเสียงประชาชน โครงการดีเลย์จากที่ประกาศไว้เพราะทีมงานของเราต้องรับฟังความเห็นทั้งหมด ทั้งเรื่องการออก พ.ร.บ. กำหนดเกณฑ์คนรวย การจำกัดรายได้ที่พูดคุยและถกเถียงกัน

เมื่อถามว่าโครงการนี้จะมีอุบัติเหตุที่จะทำให้สะดุดหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า มั่นใจว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดี เหมาะสม และไม่เกี่ยวกับเรื่องเทคนิคหรือกฎหมาย รัฐบาลยืนยันว่าทำถูกต้องทั้งหมด และทางคณะกรรมการกฤษฎีกาคงจะให้ข้อคิดเห็นในเชิงที่เป็นบวกและเราสามารถทำโครงการนี้ได้ แต่มีจุดเดียวคือ มีคำถามว่าตอนนี้เราอยู่ในวิกฤต หรือไม่ได้อยู่ในวิกฤต มีวิกฤตและความจำเป็นที่ต้องทำหรือไม่ ถ้าบอกว่ามีวิกฤตและความจำเป็นคือเรามีจีดีพีติดลบ แบบนั้นคงไม่ต้องทำ เพราะจีดีพียังไม่ติดลบ แต่ 9-10 ปี ที่ผ่านมา จีดีพีแค่ 1.9% ต่อปี เราไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประเทศอื่นโตกว่าเรา 2 เท่า คู่แข่งของไทยทั้งประเทศเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีการเติบโต สมัยก่อนอาจจะอยู่ในโลกของเราคนเดียวได้แต่ปัจจุบันอยู่ในโลกการแข่งขัน ถ้าไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ วันหนึ่งอาจไม่มีใครอยากมาลงทุนที่ไทย รัฐบาลเชื่อว่าเราอยู่ในวิกฤตที่ต้องการการกระตุ้น แม้คนอื่นจะบอกว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องใช้เงินขนาดนี้ กระตุ้นแค่คนจนที่มีรายต่ำจริงๆก็พอ หากเถียงกันไปอย่างนี้ก็ไม่จบ

ผู้สื่อข่าวถามว่าโหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยบางส่วน รู้สึกผิดหวัง ที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับเงิน เนื่องจากมีเงินเก็บเกิน 5 แสนบาท ทั้งที่เกิดจากวินัยการออม และมีรายรับไม่เกิน 7 หมื่นบาท นายเศรษฐา กล่าวว่า เข้าใจและเห็นใจแต่ต้องรับฟังทุกภาคส่วน ทั้งสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทย มีความชัดเจนไม่ให้แจกคนรวย และมีการสอบถามถึงกำหนดเกณฑ์คนรวย โดยจะต้องกำหนดตัวเลขให้ชัดเมื่อถึงจุดหนึ่ง โดยคนที่มีรายได้เกิน 7 หมื่นบาท และเงินเก็บเกิน 5 แสนบาท รัฐบาลได้ออกโครงการอีรีฟัน หากมีการใช้จ่ายจะได้เงินคืนประมาณ 1 หมื่นบาท เทียบเท่ากับเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ทีมงานคิดมาแล้ว รวมถึงโครงการระยะยาวในกองทุนส่งเสริมการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมใหม่ เป้าหมาย เช่น รถอีวี ไมโครชิพ จำนวน 1 แสนล้านบาท ที่จะเริ่มใช้ในเดือนมิ.ย. 2567 ที่ต้องทำเร่งด่วน

เมื่อถามว่ากรณีที่ประชาชนมีข้อสงสัยว่าเงินฝาก 5 แสนบาท รวมไปถึงสลากออมสิน หุ้นกู้ กองทุนรวม และเงินเกษียณ ด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า นับเฉพาะเงินฝากอย่างเดียว ไม่นับกองทุนรวมเพราะตรวจสอบไม่ได้ ส่วนเงินเกษียณ ถ้าไปในบัญชีก็นับรวมด้วย ส่วนเงินสดที่เก็บอยู่ที่บ้านไม่นับ โดยจะเริ่มตรวจสอบว่ามีเงินในบัญชีตั้งแต่เดือน ก.ย.66 ทั้งนี้ เมื่อครั้งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เติมเงินในแอปพลิเคชันเป๋าตังค์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พบว่า 15 % ไม่มีการใช้จ่ายเพราะคนไม่ได้ใช้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่าประชาชนไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีเงินพอที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประชาชนเชื่อว่าพรรคเพื่อไทย หาเงินได้ ใช้เงินเป็น นายกฯ กล่าวว่า “ผมเป็นนายกฯ ที่มาจากพรรคอะไร พรรคเพื่อไทย สื่อก็บอกว่าหาเงินได้ใช้เงินเป็น ผมก็มั่นใจว่าผมหาเงินได้ใช้เงินเป็น ส่วนเรื่องที่มาของการออกจะเป็น พ.ร.บ. เงินกู้ ทางผู้ว่าธปท.ได้บอกเองว่านายกฯ กู้ดีกว่า ตอนนี้จาก 61% เป็น 64% เพราะเพดานเงินกู้อยู่ที่ 70% ให้กู้เลย ถ้านำมาใส่โครงการฯบวกกับโครงการอื่น และหากยกระดับจีดีพีขึ้นไป สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดตามไป แม้หนี้จะเพิ่มแต่ถ้าจีดีพีมากกว่าหนี้จะลดลง”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top