คิดก่อนจรดปากกา 14 พฤษภา เลือกตั้งประเทศไทย  ผลลัพธ์ครั้งนี้ อาจเปลี่ยนบทบาทไทยต่อเมียนมาไปอีกนาน

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นกับเมืองไทยในวันที่ 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ อาจจะไม่ได้แค่ชี้ชะตาอนาคตของประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่อาจชี้ชะตาต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วย โดยเฉพาะเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ซึ่งเอย่ากล้าพูดเลยว่าการเลือกตั้งหนนี้มีผลชี้ชะตาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอย่างแน่นอน

อย่างที่ใครๆ ก็เห็นว่าที่ผ่านมามีพรรคการเมืองบางพรรคพยายามเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านกองทัพเมียนมา ซึ่งแน่นอนหากพรรคการเมืองดังกล่าวได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มั่นใจได้ว่าฝ่ายต่อต้านกองทัพเมียนมาจะต้องพยายามดึงรัฐบาลไทยเข้ามาอยู่ในเกมเพื่อคว่ำบาตรรัฐบาลเมียนมาอย่างแน่นอน โดยเอย่าขอแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 2 ส่วนคือ 'ภายในประเทศ' และ 'ระหว่างประเทศ'

*** ภายในประเทศ : จะเห็นได้ว่าท่าทีของพรรคการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตยเหล่านั้น หากได้เป็นรัฐบาลคงเอื้อต่อกลุ่มนอกประเทศของตัวเอง โดยที่ผ่านมาฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ก็ใช้ไทยเป็นศูนย์บัญชาการนอกประเทศมาตลอด แต่ไม่เปิดเผย

ดังนั้น หากรัฐบาลใหม่ขึ้นมา เอย่าเชื่อว่ากลุ่มนี้คงไม่ต้องปิดบังตัวเองอีกต่อไป และคงตั้งฐานปฏิบัติการในไทยอย่างเป็นกิจลักษณะได้เต็มที่ เพราะไทยพร้อมสรรพด้วย NGO ที่พร้อมเป็นแหล่งฟอกเงิน แหล่งจัดหาทุนและอาวุธ รวมถึงหน่วยรักษาพยาบาลที่ใช้คำอ้างสวยหรูว่าเปิดมาเพื่อมนุษยธรรมแต่เบื้องหลังคือรักษาผู้บาดเจ็บจากการรบฝั่งเมียนมา

ต่อมาในประเด็นสังคมหากรัฐบาลไทยเปิดรับผู้ลี้ภัยเต็มที่ให้โอกาสเช่นเดียวกับที่เยอรมนีให้แก่ผู้อพยพชาวซีเรียก็คงไปดูว่า สถิติอาชญากรรมที่พุ่งพรวดขึ้นในเยอรมนีจนถึงขั้นที่คนเยอรมนีรับไม่ได้ แต่คนไทยอาจจะรับได้ก็เป็นได้ ตามคำที่ติดปากคนไทย ว่า “คนไทยลืมง่าย”

***ในด้านระหว่างประเทศ : เชื่อได้ว่าไทยและเมียนมาอาจจะลดความสัมพันธ์ลง และทำให้คนไทยเดินทางเข้าเมียนมายากขึ้นก็เป็นได้ เช่นเมียนมาอาจจะให้คนไทยต้องทำวีซ่าเหมือนเดิมเวลาเข้าเมียนมาก็เป็นได้

ในด้านเศรษฐกิจ หากไทยสนับสนุนการรบจนกะเหรี่ยงชนะและประกาศแยกการปกครองได้ ไทยเราหากจะส่งออกสินค้าไปขายเมียนมาหรือนำเข้าเมียนมาผ่านด่านแม่สอดต้องเสียภาษี 2 ต่อ คงต้องตั้งคำถามตัวโตๆว่า “ไทยได้อะไรจากสิ่งนี้”

สุดท้ายคือ ความปลอดภัยของคนไทยในเมียนมา ที่หลายๆ คนอาจจะมองข้าม แต่การที่รัฐไทยทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลกลาง สถานทูตไทยในย่างกุ้งอาจจะถูกลดสถานะ หรือธุรกิจของคนไทยในเมียนมาอาจจะถูกตรวจสอบจากภาครัฐเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ และนั่นก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อนักลงทุนไทยแน่นอน

การบ้านสำหรับรัฐบาลใหม่กับโจทย์อย่างเมียนมานั้นไม่ง่าย รัฐบาลที่ผ่านมามองเกมออกว่าสงครามในเมียนมาคือ สงครามตัวแทนของ 2 มหาอำนาจที่ไม่ต่างกับสงครามในยูเครนเลย จึงวางตัวเป็นกลางเพื่อรักษาสมดุลของการแผ่อำนาจทั้ง 2 ฝ่ายและพยายามที่จะอยู่ร่วมกับทุกฝ่ายและผลักดันให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้

แต่กลับกันพรรคการเมืองบางพรรคพยายามจะดิสเครดิตรัฐบาลที่ผ่านมารวมถึงกองทัพที่ทำงานอย่างหนักในการผลักดันให้ไทยสามารถยืนในเวทีโลกได้โดยไม่ได้เป็นหมากของฝ่ายใด

ดังนั้นหวังว่าบทวิเคราะห์นี้ คงทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักรู้เพราะคุณมีสิทธิ์จากวันนี้อีกไม่ถึงเดือนแล้ว จงใช้มันเลือกคนและพรรคที่เหมาะสมกับสังคมไทยและสังคมโลกที่เราต้องอยู่กับมันไปขั้นต่ำอีกเป็นปี


เรื่อง: AYA IRRAWADEE