'ทหารตัวการปฏิวัติ-ล้มราชบัลลังก์' วาทกรรมหลอกเด็ก ที่พวกมักใหญ่ใฝ่สูง อยากทำตัวเทียมเจ้าประดิษฐ์ขึ้นมา

ในห้วงเวลาแห่งการหาเสียงเลือกตั้ง ได้เกิดวาทกรรมเรียกแขกขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะบางพรรคที่มุ่งเน้นมาที่สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยกล่าวอ้างว่าต้องเกิดการปฏิรูป รวมไปถึงกองทัพก็ต้องปฏิรูปและย้ำว่าพวกตนเป็นแค่ปัญญาชน เป็นนักการเมืองตัวเล็กๆ ไม่ได้มีอาวุธไปบังคับหรือปฏิวัติใครได้ ไม่เหมือนกองทัพ ไม่เหมือนทหารที่มีอาวุธสามารถล้มล้างการปกครองได้

ฉะนั้นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และปฏิรูปกองทัพคือ สิ่งสำคัญเพื่อจะได้ให้สถาบันได้อยู่คู่คนไทย และกองทัพจะได้ไม่มีโอกาสยึดอำนาจ...ฟังแล้วโคตรทัชใจเลย...ก่อนที่ผมจะสำรอกออกมาว่า...มึงจะบ้าเหรอ !!! คนละเรื่องกัน แต่มึงดันทะลึ่งเอามารวมกันได้ เอาอย่างงี้ผมจะขอนำเอาเรื่องของการปฏิวัติยึดอำนาจราชบัลลังก์ของประเทศต่างๆ มาสำแดงว่า จริงๆ แล้วคนที่ยึดอำนาจจากกษัตริย์ไม่ใช่ทหาร แต่เป็น 'นักการเมือง' ให้ทราบโดยทั่วกัน

เริ่มที่ 'ฝรั่งเศส' ประเทศที่มีคนชอบยกตัวอย่างการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ค.ศ. 1792 เป็นโมเดลที่นักการเมืองปากกล้าหางจุกตูดบางจำพวกชอบนักชอบหนา แต่เอาเข้าจริงนี่คือโศกนาฏกรรมการล้มล้างกษัตริย์ที่เกิดขึ้นโดยนักการเมืองที่อยากเข้าไปปกครอง 

จริงอยู่ที่ 'พระเจ้าหลุยส์ที่ 16' ดำเนินนโยบายของประเทศผิดพลาดในหลายข้อ ทั้งด้านการทหารที่เอาตัวเข้ายุ่มย่ามวุ่นวายเรื่องอาณานิคมในประเทศที่ 3 จนนำไปสู่ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ แต่ก็ได้ผ่านการแก้ไขมาทั้งร่างนโยบายเพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ คือ พระ ขุนนาง และสามัญชน ต้องเสียภาษีตามฐานะของตนเอง โดยนาย 'ตูร์โกต์' ก่อนจะถูกปัดให้ตกไป มาถึง 'เนคเกร์' ซึ่งได้สร้างนโยบายใหม่ขึ้นมา นั่นคือ 'การไม่ขึ้นภาษี' แต่ใช้การกู้เงินโดยให้ดอกเบี้ยสูงแทนก็ก่อหนี้จนไม่มีปัญญาใช้คืน 

มาถึง 'กาลอน' ได้ทำแผนปฏิรูปการคลังถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งมีสาระสำคัญ 5 ประการ คือ 1. ตัดรายจ่ายรัฐบาล 2. ส่งเสริมมาตรการที่ก่อให้เกิดการค้าเสรี 3. จัดให้มีการขายที่ดินของวัดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 4. ยกเลิกระบบเกณฑ์แรงงาน และ 5. เก็บภาษีที่ดินจากผู้มีกรรมสิทธิ์ไม่มีการยกเว้นบุคคล แต่สภาสูงก็ผ่านร่างนี้ ย้ำว่า 'สภา' นะครับ ก่อนที่ นาย 'กาลอน'จะปลิวไป และมีท่านอื่นๆ มาปฏิรูปเรื่องนี้ แต่ปรากฏว่าไม่รอด 

เพราะหลักๆ มันคือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจผสมกับในช่วงปีนั้นเกิดการคลาดแคลนอาหาร ทำให้เกิดความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า พร้อมกันนั้นเองการประชุม 'สภาฐานันดร' ที่บรรดาฐานันดรพระและขุนนาง ไม่ยอมอะไรสักอย่างเพื่อบ้านเมือง แถมยังกล่าวโทษไปที่กษัตริย์ ซึ่งช่วงนี้ล่ะที่มีการปรับเปลี่ยนสภาพของสภาจากเดิมให้กลายเป็น 'สมัชชาแห่งชาติ' ที่มีจุดหมายมุ่งตรงไปสู่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ส่วนนอกสภาก็มีการปลุกปั่นโดยสิ่งพิมพ์ การกล่าวโจมตีสถาบันกษัตริย์อย่างบิดเบือน บ้าคลั่ง จนในที่สุด 'พระเจ้าหลุยส์ที่ 16' ก็ถูกจับประหารด้วยกิโยตินแม้ว่าพระองค์จะยินยอมรับการปฏิรูปและรัฐธรรมนูญ 

ถึงตรงนี้อาจจะเหมือนจุดสุดยอดในใจของใครบางคน แต่เอาจริงหลังจากที่ประหาร 'พระเจ้าหลุยส์ที่ 16' แล้ว ฝรั่งเศสก็เข้าสู่ยุคแห่งความโกลาหล การนองเลือด และสงครามที่มาจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ จนถูกขนานนามว่าเป็น 'ยุคแห่งความหวาดกลัว' โดยการกวาดล้าง 'ฌีรงแด็ง' ของกลุ่ม 'ลามงตาญ' ที่มีผู้นำอย่าง 'มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์' ซึ่งต่อมาขึ้นครองอำนาจเบ็ดเสร็จราวกับตนเองเป็นกษัตริย์ 

อย่างไรเสีย ภายหลังเขาก็ถูกขั้วการเมืองของเขาเล่นงานโดยจัดการด้วย 'กิโยติน' เช่นเดียวกัน สุดท้ายความวุ่นวายทางการเมืองทั้งหลายก็สิ้นสุดลงโดย 'นโปเลียน โบนาปาร์ต' ได้ก่อรัฐประหารและตั้งตนเองเป็นกงสุลเอกเมื่อพฤศจิกายน ค.ศ. 1799 ก่อนที่เขาอยากจะเป็นจักรพรรดิแล้วก็ถูกล้ม ตามมาด้วยการล้มจักรพรรดิอีกหลายรอบ 

จะว่าไปแล้ว ประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสที่ล้มแล้วก็ล้างกันไปหลายครั้งหลายครา ก็ล้วนมาจากการกระทำของ 'นักการเมือง' ผมย้ำตรงนี้นะครับว่า 'นักการเมือง' เป็นคนล้มกษัตริย์ใน 'ฝรั่งเศส' ส่วนทหารจะเข้าไปล้มความวุ่นวายของ 'นักการเมือง'

อีกกรณีอย่างประเทศอังกฤษ ประเทศที่มีระบอบกษัตริย์ที่ยาวนานมากๆ แต่คุณรู้ไหมว่าช่วง ค.ศ. 1642-1649 ได้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ นำโดย พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 กับฝ่ายรัฐสภา นำโดย 'โอลิเวอร์ ครอมเวลล์' ซึ่งฝ่ายรัฐสภาได้ยื่นข้อเสนอ 19 ข้อ ให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พระเจ้าชาร์ลส์เห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการลดทอนพระราชอำนาจอย่างชัดเจน และมุ่งไปสู่การล้มล้างการปกครองของอังกฤษ 

ชนวนเหตุนี้ ก่อให้เกิดสงครามระหว่างพระองค์และรัฐสภาที่กินเวลานารถึง 7 ปี ก่อนที่พระองค์จะพ่ายแพ้และถูกตัดสินประหารชีวิต จากนั้นอังกฤษก็เริ่มเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐ โดยมี โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ เป็นประมุขแห่งรัฐ 

แต่สุดท้ายภายใต้ระบอบใหม่อังกฤษ ก็เข้าสูยุคแห่งความยุ่งเหยิง เพราะ ครอมเวลล์ ทำตนไม่ต่างจากกษัตริย์ แถมเพิ่มเติมด้วยความเป็นเผด็จการแบบสุดลิ่มทิ่มประตู ทำให้เขามีความขัดแย้งกับรัฐสภาแห่งอังกฤษเป็นประจำ ก่อนที่เขาจะนำเอาตัวเองสร้างความเบ็ดเสร็จด้วยการเป็นเผด็จการด้านการทหารซ้ำเข้าไปอีก ทำให้ชาวอังกฤษเริ่มเสื่อมศรัทธาลงทีละน้อย กลุ่มสภา กลุ่มทหารเริ่มเอาใจออกห่างเขาเรื่อยๆ จนกระทั่งเขาตายลงในปี ค.ศ.1658 

จากนั้น 'ริชาร์ด ครอมเวล' ลูกชายของเขาก็ขึ้นครองตำแหน่งแทน ซึ่งนี่แทบไม่ต่างจากระบบกษัตริย์เลยแม้แต่น้อย แต่ด้วยความที่เจ้าตัวขาดบารมี จึงเกิดพันธมิตรระหว่างขั้วอำนาจหลายกลุ่มในรัฐสภา ทั้งฝ่ายที่เคยเป็นปฏิปักษ์ ฝ่ายสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ ฝ่ายแกนนำทางการเมือง และกองทัพ ได้จับมือกันเพื่อสถาปนาสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษให้กลับคืนมา ซึ่งช่วงเวลานี้เรียกว่า English Restoration 

จากนั้นกองทัพภายใต้การนำของ 'จอร์จ มองค์' (George Monck) ได้ขับ 'ริชาร์ด ครอมเวล' ให้พ้นจากตำแหน่ง และกราบบังคมทูลเชิญพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 พระโอรสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ที่เสด็จไปลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศส ให้กลับมาเป็นพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1660 โดยขอให้พระองค์ทรงยอมรับเงื่อนไขที่จะให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ทุกคนที่กระทำผิดในช่วงสงครามกลางเมือง โดยไม่ครอบคลุมการกระทำผิดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสงคราม หรือก็คือไม่ได้นิรโทษกรรมแบบสุดซอย

สรุปในกรณีนี้ คือ คนโค่นล้มกษัตริย์ในอังกฤษก็คือ 'นักการเมือง' และคนที่ก่อความวุ่นวายโดยไม่มีเหตุอันควรก็คือ 'นักการเมือง'

ข้ามมาทึ่สยามประเทศ การคิดจะล้มล้างการปกครองในระบบกษัตริย์นั้นเกิดขึ้นเพียงในช่วงยุคสมัยของ 'คณะราษฎร' เพราะไม่ว่าจะเป็น 'กบฏ รศ.130' ก็ยังคงดำรงไว้ซึ่งระบอบพระมหากษัตริย์ เพียงแต่จะขอล้มล้างเพื่อเปลี่ยนองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งก็ก่อการไม่สำเร็จ แล้วก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษในเวลาต่อมา

ถัดมาถึงช่วงของ 'คณะราษฎร' 2475 ก็ประกอบไปด้วยหนุ่มนักเรียนนอก โดยเฉพาะจากฝรั่งเศสและกลุ่มทหารหัวสมัยใหม่อยากจะล้มล้างการปกครอง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะเรียกว่ากลุ่มทหารก็อาจจะไม่ถูกนัก แต่จะเรียกว่ากลุ่มพลเรือนก็อาจจะไม่ใช่เหมือนกัน เพราะได้รับการอวยยศทหารไปหลายท่าน แต่รวมๆ ก็กลายมาเป็นนักการเมืองที่ถือกระบอกปืนกับนักการเมืองที่สร้างวุ่นวายเพราะอยากแต่จะมีอำนาจ มีทรัพย์สินที่ไม่สมควรมีของตนมาตั้งแต่แรกจนกลายเป็นมรดกความวุ่นวายจนถึงปัจจุบัน 

เขียนมาถึงตรงนี้ผมแน่ใจได้เรื่องหนึ่งคือ ไอ้ที่เขาด่าทหารกันปาวๆ ว่าทหารนั่นแหละที่จะล้มล้างการปกครอง ทหารนั่นแหละจะล้มเจ้า ไม่ใช่นักการเมือง มันก็แค่ 'วาทกรรมหลอกเด็ก' ที่พวกมักใหญ่ใฝ่สูง อยากทำตัวเทียมเจ้าชอบประดิษฐ์มันขึ้นมา 


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager