‘พงษ์ภาณุ’ ชี้ ไทยต้องมีมาตรการกระตุ้น ศก. หลังถดถอยหนักช่วงโควิด - เติบโตไม่ทันเพื่อนบ้าน

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 66 โดยระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วน โดยภาครัฐจะต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว เพราะอย่างที่ทราบการดีว่า การจะใช้เงินของภาครัฐนั้นมีขั้นมีตอนที่ต้องรอการอนุมัติ

ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเคยดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนภาครัฐประสบความสำเร็จมาแล้ว เมื่อราวปี 2551 ซึ่งขณะนั้น เศรษฐกิจของประเทศติดลบประมาณ 7% ดังนั้น ทางรัฐบาลจึงได้ดำเนินโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” โดยวางงบประมาณเอาไว้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปใช้ลงทุนก่อสร้างภาครัฐในระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ และทางรัฐบาล ได้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว และได้ใช้งบประมาณไปเพียง 4 แสนล้านเท่านั้น เศรษฐกิจก็กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

และอย่างที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว เพราะฉะนั้น หากต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศไทยกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง เหมือนก่อนการเกิดโรคโควิด – 19 ที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยถดถอยมาถึง 3 ปี ทางรัฐบาลต้องอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และที่สำคัญต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วด้วย เพราะโครงการรัฐขนาดใหญ่บางโครงการต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน

แต่อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใส่เม็ดเงินจำนวนเข้าไปในระบบนั้น จะต้องดูช่วงเวลา จะทำแบบพร่ำเพรื่อไม่ได้ เพราะเงินที่นำมาใช้เป็นเงินภาษีทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดโรคโควิดด้วยการช่วยเหลือประชาชนผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงกระตุ้นผ่าน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจของประเทศจะถดถอยมากกว่านี้

ทั้งนี้ หากมองถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน นายพงษ์ภาณุ มองว่า เศรษฐกิจของไทยที่เติบโตในระดับ 3% นับว่ายังเติบโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพของประเทศ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเติบโตได้สูงกว่า เพราะฉะนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องมีกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ เพราะเศรษฐกิจของไทยหดตัวอย่างมากตั้งแต่เกิดโควิด-19 เมื่อ 3 ปีก่อน 

แน่นอนว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพและได้ผลนั้นคงต้องอาศัยมาตรการด้านการคลัง อย่างที่หลาย ๆ ประเทศได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ เช่น สหรัฐ อเมริการ ที่ใช้เงินถึง 25% ของจีดีพี กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโควิดที่ผ่านมา ส่วนประเทศไทยหากจะกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ จะต้องอัดฉีดเม็ดเงินก้อนใหญ่แบบรวดเร็ว ไม่ใช่ทำแบบทีละนิด เพราะจะไม่เกิดประโยชน์ตามเป้าหมาย ที่สำคัญต้องสามารถนำเงินออกมาจากคลัง แล้วใส่ไปในกระเป๋าประชาชนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เพื่อให้เงินหมุนเวียนเข้าระบบเศรษฐกิจด้วยความรวดเร็วจะรอเป็นปีไม่ได้

นายพงษ์ภาณุ ย้ำว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะต้องมีเป้าที่ชัดเจน ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนใด เพราะคำว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่กว้างมาก ยกตัวอย่าง หากเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ก็ต้องใส่เม็ดเงินลงทุนไปในด้านการก่อสร้าง แม้จะไม่กระต้นได้โดยเร็ว แต่จะนำมาซึ่งการจ้างงาน สร้างรายได้ของประชาชน แต่หากต้องการกระตุ้นที่การบริโภค รัฐต้องอัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าประชาชน แล้วให้นำออกมาจับจ่ายใช้สอยเร็วที่สุด พร้อมกับกำหนดให้ชัดเจนว่าเงินที่ให้ไปนั้นใช้จ่ายอย่างไร ซื้ออะไรได้บ้าง โดยไม่ให้นำเงินไปเก็บไว้ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ

และหากจะมองลึกลงไปว่า ประเทศไทยควรจะกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนใดนั้น นายพงษ์ภาณุ มองว่า ในช่วงที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างมาก เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกที่ติดลบติดต่อกันหลายเดือน เพราะฉะนั้น หากเงินที่จะอัดฉีดให้ประชาชนนำไปสู่การใช้จ่ายซื้อสินค้าที่ลงไปสู่ภาคการผลิตโดยตรงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการโดยเร็ว ส่วนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนั้น มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน ย้ำว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ต้องเป็นมาตรการเฉพาะหน้าเท่านั้น ทำแล้วต้องจบเลย โดยไม่ผูกพันงบประมาณ ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางการคลังในระยะยาว เพราะโครงสร้างทางการคลังของไทยดีอยู่แล้ว ต้องทำระยะสั้น ๆ เท่านั้น

ส่วนในระยะกลาง เมื่อเศรษฐกิจไทยกลับมาเข้ารูปเติบโตตามศักยภาพได้แล้วนั้น อยากฝากให้ฝ่ายการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาล ปรับสมดุลของภาคการคลังใหม่ จากปัจจุบันที่ขาดดุลอยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี ให้กลับเข้าสู่ภาวะสมดุล ส่วนในระยะยาว ควรมองในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษีอากร เพื่อหารายได้เข้าประเทศในระยะยาว

สุดท้าย นายพงษ์ภาณุ ได้ฝากถึงนักการเมืองที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งอยู่ในขณะนี้ และใครก็ได้ที่ได้เป็นรัฐบาล ให้ตระหนักถึงเงินที่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เป็นเงินที่มาจากภาษีอากร ที่ผ่านมาบรรพบุรุษของไทยได้รักษาฐานะการคลังของประเทศ ได้สร้างวินัยด้านการเงินการคลังขึ้นมาตราบเท่าทุกวันนี้ เพราะฉะสั้น สิ่งเหล่านี้จะต้องรักษาไว้ เพราะเงินที่นำมาใช้ในวันนี้ จะเป็นภาระของลูกหลานไทยในอนาคตนั่นเอง